ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต ชี้ ไม่สามารถอ้างความเป็นผู้ป่วยจิตเวชเพื่อละเว้นจากการรับผิดเมื่อก่อคดี แม้มีใบรับรองว่าป่วย-กำลังรักษา ต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าความเจ็บส่งผลต่อความสามารถในการรู้ผิดชอบ-ควบคุมตนเองมากน้อยเพียงใด ระบุ ขอประชาชนเชื่อมั่นการตรวจประเมินทางนิติจิตเวช


พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่อยู่ในระดับทั่วไป ไม่รุนแรง แต่ยังมีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองสูงกว่าคนปกติ ส่วนความเสี่ยงในการทำร้ายผู้อื่นนั้น ไม่ต่างไปจากสถิติของประชากรโดยรวมทั่วไป ฉะนั้นการด่วนสรุปว่าคดีสะเทือนขวัญต่างๆ เกิดจากปัญหาสุขภาพจิตทั่วๆ ไปเพียงอย่างเดียว อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ความตื่นตระหนก และอาจสร้างตราบาปต่อผู้ที่กำลังบำบัดรักษาด้านสุขภาพจิตอยู่ในสังคม 

อย่างไรก็ดี เพราะในทางปฏิบัติความเจ็บป่วยทางจิตที่จะมีผลต่อการรับโทษ เขียนไว้ชัดเจนในประมวลกฎหมายอาญา ม.65 ซึ่งผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น เพียงแต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น 

นอกจากนี้ ต่อให้มีใบรับรองว่าป่วยทางจิต หรืออยู่ในกระบวนการรักษาก็ต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าความเจ็บป่วยนั้นส่งผลต่อความสามารถในการรู้ผิดชอบ หรือการควบคุมตนเองมากน้อยเพียงใด เช่น ผู้ป่วยโรคจิตเภทที่รักษาจนบรรเทาแล้วไปก่อคดีฆาตกรรมก็ไม่สามารถนำมาใช้เป็นเหตุยกเว้นการรับโทษหรือรับโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งการตรวจประเมินทางนิติจิตเวชทางการแพทย์เป็นกระบวนการหนึ่ง ศาลจะนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณา

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ได้มีการกำหนดกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไป ทั้งนี้หากประชาชนท่านใดพบผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ป่วยจิตเวชหรือมีความผิดปกติทางจิต มีภาวะอันตรายหรือจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา สามารถดำเนินการตาม ม.26 ที่ได้กำหนดไว้ว่าในกรณีฉุกเฉินหากได้รับแจ้งว่ามีบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต หรือพบบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตซึ่งมีภาวะอันตรายและเป็นอันตรายใกล้จะถึงให้นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการ  

สำหรับบุคคลที่สามารถนำตัวผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลได้ ได้แก่ 1. พนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสาธารณสุข 2. พนักงานฝ่ายปกครอง เช่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ปลัดอำเภอ 3. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกรณีที่พบบุคคลที่มีอาการทางจิต แต่ยังไม่ได้กระทำความผิด เช่น เดินพูดคนเดียว บุคคลทั่วไปสามารถแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้นำตัวส่งสถานพยาบาลตามม.24 อีกด้วย

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตขอสังคมให้ความสนใจต่อเรื่องปัญหาด้านสุขภาพจิตอย่างตระหนัก แต่ไม่ตระหนกหรือวิตกกังวลมากจนเกินไป เนื่องจากเหตุโศกนาฏกรรมที่เชื่อมโยงกับผู้ป่วยจิตเวชเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ขอให้เชื่อมั่นในการตรวจประเมินทางนิติจิตเวชที่จะสร้างความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายในสังคม ซึ่งหากประชาชนพบบุคคลใกล้ชิด หรือบุคคลทั่วไปที่แสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการกำเริบให้รีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่หรือโทรขอคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หากมีแนวโน้มความรุนแรงมากและเป็นอันตราย สามารถโทรแจ้งเหตุสายด่วนตำรวจ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง