ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ในทางการแพทย์ เราต้องอิงตามหลักมนุษยธรรม การแพทย์เราไม่มีพรมแดนตามที่มนุษย์สมมติขึ้นมา หากมีวิกฤตสุขภาพก็จะยิ่งไปซ้ำเติมเขาอีก เพราะแค่สงคราม (ระหว่างกองทัพเมียนมา) เขาก็หนีกันแย่อยู่แล้ว”

ประโยคข้างต้นคือคำพูดจาก นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลแนวชายแดนที่อยู่ห่างจากพื้นที่สถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมา กว่า 160 กิโลเมตร แต่ก็อาจจะยังเผชิญสถานการณ์ไม่เท่ากับ ‘โรงพยาบาลแม่สอด’ ที่อยู่ใกล้กับจุดปะทะมากกว่า จนทำให้ต้องประกาศแผนภายในฉุกเฉินเพื่อรองรับผู้ป่วยจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า รพ.อุ้มผาง จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในวันนี้ แต่ทางโรงพยาบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะในด้านหนึ่ง ‘การสู้รบ’ ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

ตลอดระยะเวลาที่ นพ.วรวิทย์ เข้ามาทำงานในโรงพยาบาลแห่งนี้กว่า 30 ปี จึงทำให้มีการเตรียมการที่ค่อนข้างพร้อม ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ กำลังคน หรือทรัพยากรใดๆ ที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บได้ 

ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง ก็ยังมี ‘ศูนย์อพยพ’ ของประชาชนฝั่งเมียนมา บริเวณตรงข้ามอำเภออุ้มผางที่เพิ่งตั้งใหม่ได้ไม่ครบปี และมีประชากรอยู่กว่า 350 หลังคาเรือน หรือประมาณกว่า 4,000 ชีวิตอาศัยอยู่ ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญและเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในแง่ของการ ‘ควบคุมและป้องกันโรค’ 

‘สุขอนามัย’ หัวใจสำคัญป้องกันโรคระบาด 

ย้อนกลับไปในปี 2539 เมื่อเกิดการอพยพของประชาชนชาวกะเหรี่ยงเข้ามายังศูนย์อพยพภายในประเทศไทย จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์แม่หละ ศูนย์อุ้มเปี้ยม และศูนย์นุโพ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีความพร้อม ทั้งแง่ของน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค ตลอดจนส้วมที่ถูกสุขอนามัย และด้วยปัจจัยของความไม่พร้อมเหล่านี้ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ของ ‘อหิวาตกโรค’ จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 77 ราย และติดเชื้ออีกประมาณกว่า 500 ราย

ทั้งนี้ การระบาดของอหิวาตกโรคไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในปี 2539 แต่ยังเกิดขึ้นในปี 2543 และ 2551 ที่บ้านก้อเชอ และในปี 2558 ที่ศูนย์อพยพตรงข้ามบ้านเปิงเคลิ่ง อีกด้วย

ด้วยประสบการณ์ที่เคยผ่านมา ทำให้ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้เรียนรู้ว่าเรื่องของ ‘สุขาภิบาลขั้นพื้นฐาน’ เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิมกับที่เคยผ่านมา ดังนั้นเรื่องของน้ำสะอาด และส้วมถูกสุขลักษณะ จึงเป็นสิ่งที่ต้องรีบจัดการดูแล

“อหิวาต์ เป็นเชื้อที่มาทางน้ำ ติดต่อกันผ่านทางอาหาร ฉะนั้นในการเข้าไปดูแลศูนย์อพยพใหม่ที่มีคนอยู่กว่า 4,000 คน จึงต้องมีการดูเรื่องการใส่คลอรีน (เมื่อจำเป็น) ที่มีฤทธิฆ่าเชื่ออหิวาต์ในช่วงต้นน้ำ เพื่อให้น้ำไหลผ่านหมดทั่วศูนย์ฯ เมื่อทำแบบนี้ได้ชาวบ้านก็จะไม่เป็นโรค และอยู่ได้จนกว่าเหตุการณ์ความไม่สงบจะสิ้นสุด” นพ.วรวิทย์ อธิบายแนวทาง

ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เพียงแค่โรคอหิวาต์เท่านั้นที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ยังมีโรคไข้มาลาเรีย โรคไข้รากสาดใหญ่ โรคกาฬหลังแอ่น โรคที่ป้องกันได้จากวัคซีน เช่น ไอกรน คอตีบ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ต้องมีการนำวัคซีนเข้าไปฉีดให้กับกลุ่มเด็ก

นพ.วรวิทย์ ระบุว่า ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ต่างยึดมั่นในเรื่องของมนุษยธรรมเป็นอย่างดี ฉะนั้นแล้วจึงจำเป็นจะต้องมีวัคซีนฉีดให้กับเด็กในศูนย์อพยพ เหมือนกับเด็กในประเทศไทย เพราะไม่เช่นนั้นโรคก็จะระบาดไปทั่ว

ลุยทำงาน ‘เชิงรุก’ ป้องกันภัยทางสุขภาพ 

ด้วยความที่การแพทย์และสาธารณสุข อิงอยู่บนหลักของธรรมชาติและมนุษยธรรม นั่นจึงย้อนกลับมาที่หน้างานของการป้องกันและรักษาโรค ซึ่ง นพ.วรวิทย์ ระบุว่า หากไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้องก็ย่อม ‘ไม่จบ’ เหมือนกับการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรีย เพราะถ้าไม่รักษาคนในพื้นที่ให้หมด โรคก็ยังแพร่กระจายต่อไปได้ นั่นจึงตอบคำถามว่าเหตุใดทีมเจ้าหน้าที่จึงต้องทำงานเชิงรุก

สำหรับทีมบุคลากรที่เข้าไปดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคในเชิงรุก ทาง รพ.อุ้มผาง ได้จัดทีมเอาไว้อยู่ราว 7 คน ไม่นับรวมบุคลากรจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อื่นๆ ซึ่งหากรวมแล้วก็อาจจะมีจำนวนถึง 20 คน

ขณะเดียวกันเมื่อทีมเฝ้าระวังเข้าถึงเคสได้แล้ว ก็จะต้องส่งทีมเข้าไปช่วยเหลือให้ไวที่สุด เช่น เมื่อไรที่มีผู้ป่วยมาด้วยโรคท้องร่วงเพียง 1 คน ทีมก็จะต้องส่งคนเข้าไปดูแล

“ในปี 2551 ที่อหิวาต์ระบาดที่บ้านก้อเชอ ชาวบ้านก็เข้ามารักษากันที่โรงพยาบาลเพราะอยู่ใกล้ 27 กิโลเมตร ตอนนั้นเลยบอกชาวบ้านว่าไม่ต้องมาแล้ว เดี๋ยวจะข้ามไปเอง หมอจะไปดูในหมู่บ้านให้เลย” นพ.วรวิทย์ บอกเล่า

ในครั้งนั้นเมื่อได้มีการลงพื้นที่ ผลปรากฏว่าพบชาวบ้านประมาณ 1,100 คน และมองว่าจะใช้ศาลาวัดในการรักษา ควบคุมโรค หรือกล่าวคือใช้เป็น ‘โรงพยาบาลสนาม’ นั่นเอง โดยเมื่อต้องเดินทางเข้าพื้นที่ก็ได้มีการประสานกับทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เพราะอยู่ในช่วงการสู้รบ

“บอกให้เขาประสานกับทหารฝั่งนู้น ทั้งทหารพม่า ทหารกะเหรี่ยงพุทธ กะเหรี่ยงคริสต์ให้หยุดยิง เพราะอหิวาห์ระบาด และหมอจำเป็นต้องรักษา” นพ.วรวิทย์ เล่า

นพ.วรวิทย์ เล่าต่อไปว่า ทหารได้ทำการหยุดยิง แล้วถือปืนเดินตาม แต่ก็ไม่ได้รู้สึกกลัว เพราะพวกเขารู้ว่าเราไม่ได้เข้าข้างฝ่ายไหน หากใครเหยียบกับระเบิดเราก็รักษา ใครถูกยิงเราก็ช่วยผ่า เราไม่ได้ยุ่งกับความขัดแย้ง ซึ่งเขาเองก็กลัวโรคระบาดเหมือนกัน

ทั้งนี้ ในช่วงที่เกิดความไม่สงบ หากมีการปะทะ ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและ รพ.สต. จะเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ที่เขตชายแดน เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรด้วย คือ ‘ช่วยตามที่เอื้อมถึง’ เพราะเราไม่ใช่ทั้งแพทย์สนามที่จะต้องหมอบกลางสนามรบ และไม่ใช่หน่วยสู้รบ แต่เราไปเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค

“ช่วงไหนที่รบกัน เราก็จะไปอยู่ติดชายแดน ดูแลหญิงตั้งครรภ์ ฝากท้อง ฉีดวัคซีน อัลตร้าซาวด์ หรือเด็กต้องฉีดวัคซีนก็จะมีการข้ามมาฉีดที่แนวชายแดนแทน เช่น ใต้ต้นไม้ ฐานทหาร แต่ถ้าสถานการณ์สงบๆ เจ้าหน้าที่ก็จะข้ามไปทำกันที่ฝั่งนู้น” ผอ.รพ.อุ้มผาง ระบุ

วางระบบดูแล หยุดยั้ง ‘วิกฤตทางการแพทย์’ 

โดยปกติแล้วศูนย์อพยพจะมีชุดปฐมพยาบาลพื้นฐาน เพื่อดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น แต่ก็จะมีระบบส่งต่อเผื่อในกรณีที่ต้องส่งตัวรักษาด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วจะประสานงานกับผู้นำหมู่บ้านในศูนย์อพยพนั้นๆ แล้วนำตัวผู้ป่วยมาที่ห้องปฐมพยาบาลเบื้องต้น จากนั้นจึงประสานส่งต่อมายัง รพ.สต. ที่อยู่ใกล้เคียง ก่อนส่งต่อมายังโรงพยาบาลตามระบบปกติ

ขณะเดียวกันนอกเหนือจากการวางระบบส่งต่อแล้ว ยังมีการวางระบบปรึกษาทางไกล เพื่อการส่งตัวผู้ป่วยที่ปลอดภัย โดยในแง่ของอุปกรณ์ก็มีความพร้อมด้วยเช่นกัน

“ในพื้นที่ชายแดนจริงๆ เขาไม่มีใครมาดูแล เขาไม่มีที่พึ่งอยู่แล้ว เขาถึงยินดีที่เราเข้าไปช่วย ฝั่งเมียนมาเองเขาก็มาคลอดลูกที่ฝั่งเราเยอะ เราก็ยินดีเพราะปลอดภัยกว่า ถ้าเรารู้แล้วเราจะปล่อยให้เขาตาย ก็ไม่ไหว เราก็ต้องช่วย” นพ.วรวิทย์ ระบุ พร้อมย้ำว่า “เราต้องทำ เพื่อไม่ให้มีวิกฤตทางการแพทย์เข้ามา”

“ไม่เช่นนั้นจะเกิดเป็นสถานการณ์วิกฤตซ้อนวิกฤต อย่างแรกคือการสู้รบทางการทหาร แต่ถ้ามีโรคระบาดก็จะกลายเป็นวิกฤตทางการแพทย์เข้าไปซ้ำเติม มันยิ่งแย่ ชาวบ้านจะล้มตายกันเยอะ อาจจะลูกเล็กเด็กแดง หรือคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มันอเนจอนาถเกินไป ผมว่า” เขาอธิบายเสริม

เพราะการแพทย์-สาธารณสุข ไม่มี ‘เส้นแบ่ง’ 

‘การแพทย์และสาธารณสุข’ ของโรงพยาบาลชายแดนไทยอย่าง รพ.อุ้มผาง กลายเป็นอีกหนึ่งที่พึ่งหลัก สำหรับคนในศูนย์อพยพ ที่ไม่มีแม้แต่โรงพยาบาลหรือสิ่งใดที่ทันสมัยเลย ฉะนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ชาวบ้านจะต้องเดินทางข้ามฝั่งกันมาเมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย

อย่างไรก็ตามนับเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่ รพ.อุ้มผาง และ รพ.สต. ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดูแลประชาชน ผู้อพยพของชายแดนทั้ง 2 ฝั่ง

“แม้ว่าชาวบ้านจะอยู่นอกประเทศไทยก็ตาม การแพทย์และการสาธารณสุขเป็นเรื่องมนุษยธรรม ไม่ใช่เรื่องที่จะเอาสิ่งที่มนุษย์สมมติมาเป็นตัวแทนได้ ทั่วโลกก็ต้องยอมรับว่าการศึกษา การแพทย์ การสาธารณสุข ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นมาอย่างการแบ่งดินแดน” นพ.วรวิทย์ ให้แนวคิด

ดังนั้นแล้ว นพ.วรวิทย์ มองว่าระบบการแพทย์และสาธารณสุขจึงตั้งบนความจริงของธรรมชาติ ที่โรคระบาดไม่ได้เลือกเฉพาะพรมแดน และพาหะนำโรค เช่น ยุงก้นปล่อง ก็ไม่จำเป็นต้องขอวีซ่าหรือพาสปอร์ตเพื่อที่จะสามารถบินไปได้ทั่ว 

ในเมื่อการรักษาไม่อาจะเลือกพรมแดน เมื่อช่วงปี 2549 จึงได้มีการตั้ง ‘สุขศาลาข้ามแดน’ ที่รับผู้ป่วยเมียนมาเข้ามารักษา ซึ่งยังไม่รวมกับการจัดตั้งคลินิกข้ามแดนที่ร่วมมือกับฝั่งเมียนมา อีกจำนวน 4 แห่ง ของไทยจำนวน 1 แห่ง และสุขศาลาข้ามแดนจำนวน 3 แห่ง โดย นพ.วรวิทย์ บอกว่าในความเป็นจริงมีอีก 1 แห่งที่กำลังจะสร้าง แต่บริเวณนั้นยังติดการสู้รบทำให้ยังไม่สามารถสร้างได้

ทำให้ในขณะนี้ รพ.อุ้มผาง กำลังดูแลศูนย์อพยพรวม 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์นิโพ ศูนย์อุ้มเปี้ยม และศูนย์ตั้งใหม่ฝั่งเมียนมา รวมประชากรทั้งหมดประมาณไม่เกิน 3 หมื่นคน ซึ่งแม้จะมีความพร้อมในการตั้งรับกับสถานการณ์ หากแต่ก็ยังต้องการแรงสนับสนุน เช่น ยาเหลือใช้ที่บ้าน ของที่ไม่ได้ใช้งานแล้วแต่ยังใช้ได้อยู่ เสื้อผ้า หรืออาจจะเป็นการบริจาคเงินผ่านโรงพยาบาล ซึ่งมีทั้งกองทุนยา กองทุนซื้ออาหารผู้ป่วย ฯลฯ

สำหรับกองทุนยา ในส่วนของยาฉีด เช่น ยาฉีดฆ่าเชื้อ น้ำเกลือที่ให้ทางเส้นเลือด โรงพยาบาลจำเป็นต้องซื้อตรงกับบริษัท เนื่องจากยาฉีดส่วนมากจะใช้ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยไม่ได้รับกลับบ้าน ส่วนในเรื่องเครื่องมือแพทย์ รถพยาบาลขับเคลื่อน 4 ล้อ พอมีใช้งานแล้ว

“เราเป็นโรงพยาบาลรัฐก็ไม่ได้กำไร เราก็ไม่ได้คิดแบบนั้น เราเอาแค่ให้โรงพยาบาลดำเนินการได้ ให้เป็นที่พึ่งชาวบ้านได้ก็โอเคแล้ว” ผอ.รพ.อุ้มผาง ทิ้งท้าย