ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กมธ.การแรงงาน พร้อมตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์ เข้าหารือรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถกแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานแพทย์เกินพอดี ด้าน รองปลัด สธ. เปิดโรดแมป “สั้น-กลาง-ยาว” มอบผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพเฉลี่ยภาระงาน-เก็บข้อมูลที่ชัดเจน ขณะที่ ประธาน กมธ.แรงงาน จะทวงถามความคืบหน้าใน 3 เดือน


นายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.แรงงาน) และ ส.ส.พรรคก้าวไกล เปิดเผยภายหลังเข้าหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.แรงงาน) และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อแก้ไขปัญหาชั่วโมงการทำงานแพทย์ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 ตอนหนึ่งว่า จากการพูดคุยกับ สธ. พบว่าทาง สธ. เอง ก็ยอมรับว่าขณะนี้มีปัญหาเรื่องของชั่วโมงการทำงานอยู่จริง ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีบุคลากรทางการแพทย์อีก 50% ที่ทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตรงนี้ก็จะเป็นหนึ่งส่วนที่จะเป็นมาตรฐานที่จะผลักดันและแก้ไขต่อไป โดยโรดแมปที่ สธ. ให้ในวันนี้ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดย กมธ.แรงงาน จะมีการติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในอีก 3 เดือน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ. กล่าวหลังการประชุมเดียวกันนี้ว่า ปัญหาเรื่องจำนวน และปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิด ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สธ ก็ได้มีการเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ชุดใหญ่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่เมื่อมองย่อยลงไปในกลุ่มแพทย์และพยาบาลจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่มาก ซึ่งขณะนี้มีแพทย์ที่อยู่ใน สธ. ประมาณ 3.8 หมื่นคน แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีประชากรเท่ากันจะพบว่ามีแพทย์อยู่เป็นแสน

“ตรงนี้ก็จะเป็นขั้นต่อไปของการทำงานที่ต้องทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ดูเรื่องกำลังคนภาครัฐ สำนักงบประมาณ แพทยสภาที่เป็นกำลังในการผลิตแพทย์ เพราะทุกคนล้วนต้องใช้กำลังคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันซึ่งมีอยู่น้อย ก็ต้องยอมรับว่าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้ผลิตง่ายๆ ซึ่งปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่สะสม ซึ่ง สธ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกข้อมูลที่ทางทีมงานของประธานกรรมาธิการการแรงงานได้นำมาเสนอในที่ประชุมเป็นชุดข้อมูลที่เราได้ศึกษา และเทียบคู่กันไปด้วย ซึ่งก็ทำให้เห็นความหลากหลายของข้อมูล วางไว้ว่าในทิศทางที่จะต้องกำหนดทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ในระยะสั้น แพทย์ที่มีปัญหาประมาณ 50% ของแพทย์ทั้งหมด โดยจะเพ่งไปที่แพทย์เพิ่มพูนทักษะที่จบปี 1 ซึ่งจากข้อมูลผลการศึกษาปี 2565 พบว่า ประมาณ 50% ของโรงพยาบาล 117 แห่ง หรือประมาณ 65 แห่ง ที่ยอมรับว่าทำงานนอกเวลาเกินกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งจะให้ทางเขตสุขภาพโดยผู้ตรวจราชการ ได้เข้าไปดูว่าเป็นการกระจุกหรือกระจายตัวใดๆ ที่เราจะเกลี่ยเฉลี่ยหนักเขาของงานนี้ ตรงนี้เป็นแผนระยะสั้นที่เราจะรีบทำโดยเร็ว

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากที่ประชุมพบว่า ปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์บางที่เป็นปัญหาและบางที่ไม่เป็นปัญหา ฉะนั้นหากจะออกกฎระเบียบไม่แพทย์ทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็อาจจะกระทบกับแพทย์ หรือพยาบาลที่มีความสมัครใจจะทำงานเกินเพื่อรับค่าตอบแทนมาจุนเจือครอบครัว ซึ่งก็ได้ข้อคิดจากคณะ กมธ.แรงงาน ว่าให้เจาะประเด็นไปในกลุ่มที่มีปัญหา และนำมาสู่แผนแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะกลาง และระยะยาว

ขณะเดียวกันแผนระยะกลางและระยะยาว การเชื่อมไปยังชุดข้อมูลที่จะต้องไปสู่การนำเสนอตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นั้นจะมีการเก็บข้อมูลโดยละเอียดในการกำลังคน หรือภาษาการแพทย์จะเรียกว่าค่า FTE เพื่อเป็นข้อมูลที่ชัดเจนและนำไปสู่การวิเคราะห์ และนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้มีฐานข้อมูลเพียงพอที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การเพิ่มอัตรากำลังก็เป็นข้อเรียกร้องจากวิชาชีพทุกวิชาชีพ โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาลที่ทำงานหนักมาก รวมไปถึงควบคู่ไปกับบุคลากรด้านสาธารณสุขอื่นๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีการออกไปให้การส่งเสริมฟื้นฟู และป้องกันซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และก็มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากสายงานวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับแพทย์และพยาบาลด้วย ตรงนี้ก็จะมีการนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงต่อไปเรื่องอัตรากำลังที่จะต้องขอเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ในที่ประชุมตัวแทนของคณะ กมธ.แรงงานฯ และพยาบาลก็ได้ระบุถึงค่าตอบแทนพยาบาล จำนวน 240 บาทตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่คิดตรงกัน และสธ.ก็ต้องผลักดัน และก็ช่วยเหลือเพราะหากไม่สามารถเพิ่มกำลังคนได้อย่างน้อยขวัญกำลังใจที่เกิดขึ้นจากเงินค่าตอบแทนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยหลังจากนี้ สพง. จะติดตามความคืบหน้าจาก สธ. และจัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้และสภาพปัญหาในกลุ่มบุคลากร ตลอดจนการดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ไขปัญหา เพราะหากแพทย์หรือผู้ให้บริการทำงานมากเกินความพอดี ผลเสียก็จะตกมาอยู่ที่ผู้ป่วย และสังคม

“การแก้ไขปัญหานี้จะต้องมาทั้งจากทางแพทย์และประชาชน วันนี้เราเห็นแล้วว่ามีความเข้าใจผิดกันระหว่างหมอกับคนไข้อยู่ ซึ่งไม่ใช่ที่ใครอยากเห็น ภาพที่อยากเห็นคือคนไข้และแพทย์และพยาบาลและบุคลากรร่วมมือกันเพื่อสร้างสังคมที่สุขภาพดี” นพ.ณัฐ ระบุ