ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไม่กี่วันที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่สั่นสะเทือนวงการสาธารณสุขโลก เนื่องมาจากการประท้วงนัดหยุดงานของพยาบาลวิชาชีพในสหราชอาณาจักร ร่วม 1 แสนคน จากการประกาศของราชวิทยาลัยการพยาบาล หรือสหภาพพยาบาล (The Royal College of Nursing : RNC) สหราชอาณาจักร

นี่นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์รอบ 106 ปี ซึ่งการนัดหยุดงานประท้วงในครั้งนี้ก็เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อ หลังจากที่รัฐบาลปฏิเสธข้อเรียกร้องการปรับเงินเดือนให้สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อ 5%

“การออกมาประท้วงในครั้งนี้ก็เพื่ออนาคตของวิชาชีพพยาบาลของฉัน” รวมไปถึง “ถ้าพยาบาลได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม พวกเขาก็จะทำงานกันได้อย่างเต็มที่ และพยาบาลเองก็เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของระบบบริการสุขภาพ ถ้าพวกเขาไม่แข็งแรง ระบบก็อาจจะพังได้” และ “การจ่ายเงินที่เพิ่มขึ้นหมายถึงการทำงานที่ดีขึ้น ซึ่งคนไข้ก็จะได้รับการดูแลแบบที่เขาควรจะได้”

เหล่านี้คือเสียงจากส่วนหนึ่งของผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา และอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา

“The Coverage” จึงชวน สุวิมล นัมคณิสรณ์ ตัวแทนจากกลุ่ม Nurses Connect สะท้อนภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงปัญหาของ “พยาบาลไทย” ที่แทบไม่ได้ต่างกันกับสหราชอาณาจักร

พยาบาลในสหราชอาณาจักรเรียกร้องครั้งแรกในรอบ 106 ปี

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่า การเรียกร้องของสหภาพพยาบาล หรือ RNC นับเป็นการเรียกร้องครั้งแรกในรอบ 106 ปี ซึ่ง สุวิมล มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก เพราะแม้ที่ผ่านมาจะมีสหภาพพยาบาลอยู่แล้วแต่ไม่เคยมีการเรียกร้องเลย ฉะนั้นการออกมาในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการเรียกร้องครั้งแรกในรอบ 106 ปี ตั้งแต่มีการก่อตั้งมา เพราะแม้ว่าในประเทศที่เจริญมากๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษหรือในสหราชอาณาจักรมีปัญหา “ไม่ได้แตกต่างจากไทย” ในเรื่องของค่าตอบแทน รวมไปถึงการใช้อำนาจของสหภาพต่อรองกับรัฐบาล

“เป็นสิ่งที่เราสนใจมากๆ เพราะเป็นโมเดลที่เราอยากจะให้เกิดขึ้นกับประเทศเรา”

ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่ได้ปรับตามเงินเฟ้อของประเทศมาราวๆ 10 ปี ซึ่งรัฐบาลระบุว่าจะปรับเงินเดือนให้บุคลากร น่าจะเพิ่มให้ประมาณ 1,400 ปอนด์ แต่ข้อเรียกร้องของเจ้าหน้าที่ระบบบริการสุขภาพ (NHS) เสนอไปที่ 5% จากของเดิม ในขณะที่ RNC เสนอไปที่ 4% เพิ่มจากอัตราเงินเฟ้อ (10%) เท่ากับมีการเสนอให้เพิ่ม 14% ซึ่งตรงนี้จะต้องใช้งบประมาณราว 9 หมื่นล้านบาท แต่ปัญหาคือไม่ได้มีการต่อรองระหว่างสหภาพพยาบาลและกระทรวงสาธารณสุข

“จริงๆ ถ้าเกิดการพูดคุยอย่างจริงจังเราก็คิดว่าเงินจำนวน 14% สามารถต่อรองได้ แต่คือยังไงก็ต้องเพิ่มแน่ๆ”

อังกฤษพยาบาลหลุดออกจากระบบไปราว 20

สุวิมล เล่าว่า สำหรับประเทศอังกฤษในช่วงที่ผ่านมามีพยาบาลลากออกไปค่อนข้างมาก โดยมีอัตราการสูญเสียพยาบาลไปประมาณ 20% ทำให้พยาบาลที่ยังอยู่ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อรับส่วนของพยาบาลที่ลาออกไป ซึ่งพยาบาลที่ออกมาเรียกร้องก็มีความกังวลในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย และออกมานัดหยุดงานประท้วง ในขณะที่ก็ต้องการให้มีการปรับเพิ่มเงินเดือนเพื่อที่อย่างน้อยก็ดึงดูดคนให้กลับเข้าไปในระบบได้

ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีแค่พยาบาลที่ออกมาหยุดงานประท้วงในครั้งนี้ ยังมีทั้งคนงานของฝั่งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นคนงานเดินรถ คนส่งของ ฯลฯ ซึ่งก็มีการนัดหยุดงานกันมาโดยตลอด รวมไปถึงบุคลากรด้านสาธารณสุข เช่น แพทย์ พนักงานขับรถฉุกเฉิน ฯลฯ ด้วย

จากการเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีคำถามในมุมกลับว่า … นี่เป็นการจับผู้ป่วยเป็นตัวประกันหรือไม่ ?

สุวิมล ตอบว่า ส่วนนี้ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยในส่วนที่เป็นผู้ป่วยนอก (OPD) หรือผู้ป่วยที่ไม่ได้เร่งด่วน ทำให้อาจจะได้รับบริการที่ล่าช้า หรือการผ่าตัดที่นัดไว้ ไม่ได้ฉุกเฉินถูกยกเลิก หรือเลื่อนออกไป

“จริงๆ เราว่าไม่ผิดที่คนไข้จะมองแบบนั้น แต่ถ้ามองคนทำงานในฐานะความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ก็มองว่าเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจของทั้ง 2 ฝ่าย”

พิจารณาขึ้นค่า ‘OT-ค่าเวร’ เป็นทิศทางที่ดี แต่ไม่รู้ว่าได้เมื่อไหร่

สำหรับประเทศไทยเองก็เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ 7-8% เช่นกัน กลับกันตรงที่ไม่ได้มีการเพิ่มเงินเดือนสำหรับพยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ แต่เป็นการพิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนสำหรับการทำงานนอกเวลาราชการ (OT) เป็น 8% และเพิ่มค่าเวรผลัดบ่าย-ดึก 50%

“ซึ่งถ้าพิจารณาดูแล้วของเราน้อยกว่ากี่เท่าที่พยาบาลในสหราชอาณาจักรเรียกร้อง”

อย่างไรก็ดี สุวิมล มองว่าเป็นทิศทางที่ดีที่อย่างน้อยก็มีการแก้ปัญหา เพราะทางองค์กรวิชาชีพไม่ว่าจะเป็นกองการพยาบาล หรือสภาการพยาบาลก็ช่วยกัน รวมไปถึงทางกลุ่มเองในฐานะองค์กรนอกก็พยายามที่จะผลักดันให้มีการขึ้นค่าตอบแทนอยู่แล้ว อย่างน้อยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ยอมรับปัญหา และยอมที่จะรับไว้เป็นวาระในการพูดคุย

“คงจะต้องรอดูต่อว่าจะมีการผลักดันให้เพิ่มเงินตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าให้พูดตรงๆ จาก 240 บาท มาเป็น 350 บาท อันนี้ก็ยังไม่ได้เยอะมาก หรือว่าค่า OT จาก 600 บาท มาเป็น 650 บาท ซึ่งบางที่เขาได้เกิน 650 ไปนานแล้ว แต่บางที่ยังได้ 600 อยู่ก็เกิดความไม่เท่าเทียมกัน”

สุวิมล อธิบายว่า ยังไม่ได้มีประกาศออกมาเป็นเกณฑ์การจ่ายเงินใหม่ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่รอกันมาเป็น 10 ปีในเรื่องของการปรับเงินเดือน บางคนเลิกรอและลาออกไปแทน แต่ส่วนมากก็ยังคาดหวังกับการปรับเงินค่าตอบแทนในครั้งนี้

“เราไม่รู้ว่าตัวเลขที่เขาบอกเราว่า 8% 50% มาจากการคำนวณด้วยวิธีใด หรือมาจากไหน เราก็เลยยังไม่รู้ว่าเขาใช้อะไรเป็นเกณฑ์ และก็ไม่รู้ว่าจะเพียงพอหรือเปล่า จาก 240 มาเป็น 350 ในยุคทุนนิยมที่ภาวะเงินเฟ้อ 8% เราก็คงตอบไม่ได้ว่ามันจะเพียงพอหรือเปล่า”

ปัญหาของเขาไม่ได้ต่างจากของเรา แต่สหภาพของไทยยังเข้มแข็งไม่พอ

สุวิมล อธิบายว่า หากนับแค่ประเทศอังกฤษอย่างเดียว จะเหมือนประเทศไทยมากด้วยจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกัน แต่ความแตกต่างก็คือที่ประเทศอังกฤษบอกว่าพยาบาลไม่เพียงพอแต่ที่มีอยู่คือประมาณกว่า 3 แสนคน ขาดอีก 4.8 หมื่นคนถึงจะเพียงพอกับจำนวนประชากร ในขณะที่ประเทศไทยมีพยาบาลอยู่ประมาณ 1.8 แสนคน และยังขาดอีก 6.8 หมื่นคน

มากไปกว่านั้นก็ยังมีปัญหาเรื่องค่าตอบแทนเหมือนกัน ซึ่งจำนวนเงินที่ระบุว่าไม่ได้มีการปรับเพิ่มมา 10 กว่าของฝั่งอังกฤษตีเป็นเงินไทยอยู่ที่ 1.3-1.4 ล้านบาทต่อปี แต่ก็ด้วยค่าครองชีพที่สูง ส่วนของไทยนั้นรวมกันอยู่ที่ประมาณ 3-4 แสนบาทต่อปี แม้จะมีการพิจารณาปรับค่าตอบแทน แต่ก็ไม่ได้มีการปรับเงินเดือน

สุวิมล มองความเข้มแข็งของสหภาพพยาบาลในสหราชอาณาจักรว่า มีความเข้มแข็งมากกว่าไทย แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศมหาอำนาจก็มีสหภาพพยาบาลที่สามารถต่อรองกับรัฐได้ เห็นได้จากช่วงโควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมา ขณะนั้นสถานการณ์ค่อนข้างแย่ มีพยาบาลที่ลาออกประมาณ 48% ของระบบสุขภาพ จึงเกิดการเรียกร้อง รวมตัว ประท้วง รวมไปถึงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และจุดเทียนไว้อาลัยให้แก่พยาบาลที่เสียชีวิตจากโควิดประมาณ 480 คน พร้อมยื่นข้อเสนอกับรัฐบาลว่า “คุณต้องมีมาตรการในการดูแลพยาบาลที่ดีกว่านี้”

นั่นหมายถึงการลดอัตราส่วนระหว่างพยาบาลและผู้ป่วย เพื่อผลประโยชน์ต่อผู้ป่วยเอง ลดความเสี่ยงของพยาบาล หรือต้องให้พยาบาลที่ติดเชื้อมีเวลารักษาตัวนานพอเพื่อจะได้กลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่พอเริ่มดีขึ้นก็ให้กลับมาทำงานเลย

ขณะเดียวกันที่ประเทศไทยก็เคยมีการรวมตัวต่อสู้เรียกร้องให้มีการบรรจุตำแหน่งพยาบาล หากจำไม่ผิดเมื่อประมาณปี 2560 ซึ่งในตอนนั้นก็ได้ตำแหน่งบรรจุไป แต่หลังจากนั้นอำนาจต่อรองก็หมดไป ไม่ได้มีการรวมตัวกันเป็นสหภาพ

สุวิมล ขยายความว่าเท่าที่ได้ทราบข้อมูล ขณะนั้นมีพยาบาลจากทั่วประเทศผลัดกันมาเรียกร้อง ใครที่สะดวกเข้ามาก็จะมีคนอื่นดูแลงานต่อซึ่งเป็นสิ่งที่มีแรงสั่นสะเทือนมาก จึงอยากเห็นแบบนั้นที่มีความยั่งยืน เพื่อใช้การต่อรอง หรือพูดคุยกับรัฐบาล

“ทุกการเปลี่ยนแปลงจะมาพร้อมกับการต่อสู้ของใครคนใดคนหนึ่งเสมอ ซึ่งไม่ใช่แค่ว่าที่อยู่ในระบบคนที่ทำงานอยู่แล้ว ให้สภาการพยาบาล หรือกองการพยาบาลทำอย่างเดียว แม้ว่าจะเป็นหน้าที่ แต่ความกดดันที่จะมีต่อสังคมไม่เท่ากับการที่จะมีคนเยอะๆ รวมกัน ก็เลยอยากเห็นสหภาพที่ฟังก์ชันในไทยที่ทำได้เหมือนครั้งการเรียกร้องการบรรจุ หรือว่าทำได้อย่างที่ในสหราชอาณาจักรทำได้”

มากไปกว่านั้น แม้ว่าคนอาจจะเริ่มสนใจปัญหา ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงไม่ขึ้น ฯลฯ แต่ก็อาจจะต้องคิดหรือทำต่อไปว่าถ้าส่วนนั้นไม่เกิดขึ้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง อย่างน้อยที่สุดคือจะต้องรวมตัวกันให้ได้ ซึ่งก็อยากให้เข้ามารวมตัวกันเพื่อส่งเสียงหรือสร้างอำนาจไปด้วยกัน เพราะตรงนี้ไม่ได้มีแค่พยาบาล ยังมีแพทย์ มีเพื่อนร่วมวิชาชีพอื่นๆ ด้วย

“เราไม่ได้อยากให้แค่พยาบาลต่อสู้เพื่อพยาบาล เราอยากให้ทุกคนในสาธารณสุขลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตนเองแล้วให้ไปพร้อมๆ กัน ยังอยากให้ทุกคนมารวมกันอยู่ คุณรวมตัวในจังหวัดของคุณก็ได้ แล้วเราทำอะไรที่เป็นการส่งเสียงของเรามาพร้อมกัน เท่านี้มันก็อิมแพคแล้ว ส่งเสียงไปถึงแล้วยังไงเขาก็ต้องฟังเรา”

พร้อมขับเคลื่อนต่อเรื่องชั่วโมงการทำงาน-กำหนดภาระงานพยาบาล

แม้ว่าจะมีสัญญาณที่ดีเรื่องการปรับค่าตอบแทน แต่ สุวิมล บอกว่ายังมีปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาที่สัมพันธ์กับเงินเดือน เพราะทุกวันนี้ที่คนทำงานเยอะเพราะเงินเดือนน้อย หากขึ้นเงินเดือนเพิ่มให้คนก็จะทำงานน้อยลง ฉะนั้นจากข้อเรียกร้องเรื่องการกำหนดชั่วโมงการทำงาน เรื่องค่าตอบแทนก็ต้องเพิ่มตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี สุวิมลมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่คนจะยอมลดชั่วโมงการทำงานถ้าค่าตอบแทนไม่เพิ่ม เพราะทุกคนเองก็มีภาระ แต่ถ้าค่าตอบแทนที่ได้เพิ่มขึ้นผลที่ตามมาคือคนจะทำงานลดลง งานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณภาพของงานดีขึ้น ส่งผลกับผู้ป่วยที่จะได้รับบริการดีขึ้นตามลำดับ

“เรามีข้อเสนอว่าพยาบาลควรจะทำงานไม่เกิน 40-48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อันนี้เป็นมาตรฐาน แต่ว่าในกรณีที่มีคนสมัครใจจะทำโอทีต้องสูงสุดไม่เกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย”

สุวิมล ระบุว่าเรื่องการกำหนดภาระงานของพยาบาลก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่พยายามจะผลักดัน เพราะทุกวันนี้พยาบาลยังต้องทำงานหลายอย่างที่ไม่ใช่บทบาทของพยาบาล เช่น หากอยู่วอร์ดอายุรกรรมและมีผู้ป่วยเข้ามาแอดมิท แม้ว่าในมือจะมีผู้ป่วยที่ต้องดูแล 8 คนแล้วก็ต้องรับเพิ่ม ทำให้คุณภาพการบริการแย่ลงไปด้วย

สิ่งที่ต้องการคือให้พยาบาลในวอร์ดผู้ป่วยสามัญ 1 คนดูแลผู้ป่วยไม่เกิน 6 คน พยาบาลที่ดูแลกึ่งวิกฤตไม่ควรดูแลผู้ป่วยเกิน 4 คน และพยาบาลที่ดูผู้ป่วยวิกฤตไม่ควรดูแลผู้ป่วยเกิน 2 คน ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่พยายามอะลุ่มอล่วยสำหรับจำนวนพยาบาลที่ไม่พอแล้ว เพราะส่วนมากผู้ป่วยวิกฤตควรเป็นสัดส่วน 1:1 ด้วยซ้ำ

“คนที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการที่พยาบาลได้รับเงินเดือนมากขึ้น มีชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมก็คือคนไข้เอง เรามีคนไข้เป็นศูนย์กลางและเราก็อยากให้เขาได้รับการดูแลการรักษาการพยาบาลที่มีคุณภาพ เหมาะสมจริงๆ”

มากไปกว่านั้น ทางกองการพยาบาลเองก็ได้มีการสำรวจ และรับรู้ปัญหามากขึ้น มีการดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร สำรวจการทำงานของพยาบาลในแต่ละโรงพยาบาลว่าทำงานกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมไปถึงสภาการพยาบาลเองก็เห็นด้วยในการกำหนดชั่วโมงการทำงาน

“ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีการรับทราบ จากการที่เข้าประชุมกรรมาธิการแรงงาน ปลัดกระทรวงฯ ก็รับเรื่องไว้และแจ้งว่าจะไปดำเนินการต่อ ซึ่งก็จะมีการติดตามกันต่อ จริงๆ แล้วก็อยากให้พรรคการเมืองรับเรื่องปัญหาตรงนี้ไปพิจารณาเหมือนกัน เพราะคุณภาพของผู้รับบริการ ส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนให้บริการเหมือนกัน เรามองว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าพรรคการเมืองรับเรื่องเหล่านี้ไปพิจารณาดูด้วย ก็อาจจะเป็นทิศทางที่ดีขึ้นเหมือนกัน”