ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เสียงเรียกร้องจากบุคลากรด้านสาธารณสุขในนาม สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) ที่ต้องการยุติ-จบ ปัญหาการเป็น “แรงงานทาส” ในระบบสุขภาพ เนื่องจากถูกบังคับให้ทำงานไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ดังขึ้นเรื่อยๆ

ข้อเรียกร้องของ สพง. คือการผลักดันให้เกิด “กฎหมายควบคุมชั่วโมงการทำงานแพทย์” ที่มีสภาพบังคับใช้ได้จริงมากกว่า “แนวทางกำหนดกรอบชั่วโมงการทำงานของแพทย์” ที่ออกมาโดยแพทยสภา ซึ่งทุกวันนี้ถูกปรามาสว่าเป็นเพียงเสือกระดาษ

ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการพูดถึงปัญหาการทำงานหนักของบุคลากรสาธารณสุขมาโดยตลอด หากแต่ก็มีการส่งต่อความผิดปกติจากรุ่นสู่รุ่นมาโดยตลอดเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “กลุ่มพยาบาล” ซึ่งนอกจากจะต้องเป็นด่านหน้า-จุดปะทะ คอยแบกรับอารมณ์ผู้ป่วย ญาติ เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ ไม่ต่างไปจากกระโถนของโรงพยาบาลแล้ว

ยังต้องทำงานกันเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 80-86 ชั่วโมง !!! ทั้งที่สภาการพยาบาลได้มีประกาศ เรื่องนโยบายชั่วโมงการทำงานของพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยระบุไว้ตอนหนึ่งว่าการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง เป็นเกณฑ์สากล การทำงานล่วงเวลา หรือมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ “เป็นสิทธิส่วนบุคคล และควรเป็นไปตามความสมัครใจ”

“The Coverage” พูดคุยกับ สุวิมล นัมคณิสรณ์ ตัวแทนจากกลุ่ม Nurses Connect พยาบาลวิชาชีพที่เป็น “ปากเสียงให้พยาบาล” บนความคาดหวังที่อยากให้เพื่อนร่วมวิชาชีพและบุคลากรสาธารณสุขมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พยาบาลยัง (จำยอม) ทำงานหนัก

เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560 สภาการพยาบาลได้ออกประกาศสภาพยาบาล เรื่องนโยบายชั่วโมงการทำงานของพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งประกาศฉบับนี้ก็ได้ระบุแนวทางว่าด้วย การทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง เป็นเกณฑ์สากล การทำงานล่วงเวลา หรือมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ “เป็นสิทธิส่วนบุคคล และควรเป็นไปตามความสมัครใจ”

รวมไปถึงชั่วโมงรวมของการทำงานของพยาบาลก็ไม่ควรเกิน “12 ชั่วโมงต่อวัน” และหากจำเป็นต้องมีการทำงานเกินกว่าชั่วโมงที่กำหนด จะต้องมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้พยาบาล “มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ”

ทว่าความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น สุวิมล บอกว่า จากการสำรวจชั่วโมงการทำงานของพยาบาลส่วนมากอยู่ที่ประมาณ 80-86 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีบางคนที่ต้องทำงาน 100-110 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินไปสำหรับอาชีพที่ต้องดูแลชีวิตผู้อื่น ขณะเดียวกันการทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวันนั้น ในความเป็นจริงหากเป็น 8 ชั่วโมง 2 กะ ก็จะกลายเป็น 16 ชั่วโมง ไม่ใช่ 12 ชั่วโมง นั่นเลยทำให้ข้อกำหนด หรือข้อแนะนำจากสภาการพยาบาลทำไม่ได้จริงในโรงพยาบาลรัฐ

แม้ว่ากำหนดข้อแนะนำของสภาการพยาบาลจะระบุว่าถ้าต้องทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะตามความสมัครใจ แต่ในความเป็นจริงด้วยภาระงานต่อให้ไม่อยากทำ แต่เมื่อไม่มีคนที่จะมาทำงานและไม่มีคนที่จะมาดูแลผู้ป่วยเลยกลายเป็นว่าต้องยอมทำงานตรงนั้นแทน

หากรวมพยาบาลทั้งในและนอกระบบนั้นจะมีจำนวนอยู่ที่ราวๆ กว่า 2 แสนคน แต่สำหรับพยาบาลที่อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐไม่ได้มีจำนวนมากเท่านั้น ขณะเดียวกันในแต่ละโรงพยาบาลก็มีภาระงานที่ไม่เท่ากัน ทำให้พยาบาลบางคนไม่สามารถปฏิเสธการทำงานล่วงเวลาหรือการทำโอทีได้ เพราะ “คนไม่พอ”

1

ขณะเดียวกันในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พยาบาลติดเชื้อ นั่นทำให้ต้องมีการเสริมเวรขึ้นไปเพื่อทำงานชดเชยแทนผู้ติดเชื้อ

คือจำนวนคนทำงานไม่พอกับผู้มารับบริการอยู่แล้ว และงานก็หนักมันเลยยิ่งทำให้หลายๆ คนรู้สึกเหนื่อย หมดไฟ และไม่อยากอยู่ตรงนี้

ขณะเดียวกันก็มีคนที่ยังรอบรรจุค่อนข้างมาก สุวิมลบอกว่า เคยรู้จักรุ่นพี่ที่ต้องรอนานถึง 4 ปี กว่าจะได้บรรจุ และต้องเรียงตามลำดับอาวุโส คือผู้ที่อายุมากกว่าจะได้บรรจุก่อนผู้ที่มีอายุน้อย เพราะอายุงานมากกว่า แต่เมื่อช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็ได้มีการอนุมัติบรรจุไปราวๆ 4 หมื่นตำแหน่ง

สุวิมล เล่าให้ฟังต่อไปว่า สิ่งที่น่าตลกคือหากจะสมัครบรรจุต้องมีการเสียเงินให้กับโรงพยาบาลเพื่อเป็นค่าสมัคร และสิ่งนั้นก็ไม่ได้การันตีว่าเมื่อจ่ายไปจะได้รับคัดเลือก หรือได้รับการบรรจุ หากไปสมัครงานยังสามารถเลือกเงินเดือนขั้นต่ำที่ต้องการได้ แต่เมื่อเป็นข้าราชการเงินก็ถูกกำหนด และยังต้องเสียเงินเข้าสมัคร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลก

ถ้าเป็นเมื่อก่อนการบรรจุคือจะต้องรอให้มีคนเกษียณ แล้วก็รอดูว่าเขาจะจัดสรรคนมาให้เท่าไหร่ตามแผนกรอบอัตรากำลังที่เขาเขียน ก็แล้วแต่ดวงว่าปีนี้โรงพยาบาลนี้จะได้บรรจุเท่าไหร่ จังหวัดนี้จะได้บรรจุกี่คน มันก็เหมือนเป็นการเสี่ยงโชค แล้วแต่ดวงว่าคุณจะได้หรือเปล่า คุณสมบัติคุณจะเป็นอย่างไรคุณจะตอบคำถามอะไรพวกนี้ได้ดีแค่ไหน และที่สำคัญคืออายุคุณอายุมันกลายเป็นข้อได้เปรียบ

พยาบาลยังต้องทำงานที่ไม่ใช่ “หน้าที่”

สุวิมล เล่าให้ฟังว่า ประเทศไทยถูกตีกรอบคู่กันมาว่า “งานทางการแพทย์ต้องควบคู่กับเอกสาร” ทั้งที่จริงๆ แล้วหน้าที่ของพยาบาลคือการให้การพยาบาล ทำงานร่วมกับแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด หรือสหวิชาชีพอื่นๆ แต่กลับกลายเป็นว่าพยาบาลต้องมาทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของพยาบาล

ในเรื่องของการเขียนบันทึก เราสามารถมีวิธีการจัดการที่มันเร็วกว่าการที่คนมานั่งเขียนหรือไม่ หรือเรื่องของวัสดุต่างๆ ทำไมกลายเป็นว่าพยาบาลของในหนึ่งแผนกจะต้องจัดคนไว้สำหรับคอยบริหารงานพัสดุ ดูแลอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ คือมันไม่ใช่หน้าที่ของเรา

แน่นอนว่ายังรวมไปถึงผู้ช่วยพยาบาล ที่มีหน้าที่ส่งเสริมพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย การที่ต้องไปเช็กเครื่องมอนิเตอร์ ฯลฯ จึงไม่ใช่หน้าที่ และควรจะมีเจ้าหน้าที่สำหรับทำหน้าที่ดังกล่าวแทน เพื่อที่จะได้นำเวลาเหล่านั้นไปใช้กับผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่

จริงๆ แล้วทุกคนในทีมสำคัญหมดทั้งคุณแม่บ้าน ทุกคนสำคัญหมดแต่เราคิดว่าถ้าเรามีการกำหนดหน้าที่ กำหนด Job Description แต่ละคนให้ชัดเจน น่าจะช่วยลดปัญหางานจิปาถะที่ไม่เกี่ยวกับงานพยาบาลไปได้เยอะมาก

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น สุวิมลมองว่าเป็น “ความเคยชิน” เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้รู้สึกว่าไม่ลำบาก ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงไม่ใช่สิ่งที่พยาบาลต้องทำ ซึ่งหากมองในมุมของอนุรักษ์นิยมก็อาจจะมองได้ว่าใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แต่ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่า 1 นาทีสำหรับผู้ป่วยมีค่ามากกว่าที่เอาไปเสียกับส่วนนั้น

ทำงาน 8 ชั่วโมงได้เงินเฉลี่ยชั่วโมงละ 30 บาท

ค่าจ้างของพยาบาลวิชาชีพกำหนดเป็นเงินคงที่ หรือ “Fixed Rate” ซึ่งเป็นราคา 8 ชั่วโมง 240 บาท มาตั้งแต่ปี 2548 และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ต้องทำงาน หากเป็นเอกชนเมื่อทำงานเกิน 1 ชั่วโมงจะถูกตีเป็นเงินโอที 1.5 หรืออาจจะ 3 เท่า แต่เมื่อเป็นพยาบาลรัฐไม่มีทางเลือก และไม่สามารถที่จะไม่ทำได้เนื่องจากมีกำหนดไว้ว่าภายใน 1 เดือนจะต้องมีเวรเช้า บ่าย และดึก รวมกันอย่างน้อย 20 เวร ถึงจะได้เงินเดือนตั้งต้นและเงินส่วนนี้ถึงจะเข้าไปเป็นเงินสมทบ

สุวิมล บอกว่า เฉลี่ยตกชั่วโมงแล้วเหลือ 30 บาท จาก 240 บาทต่อ 8 ชั่วโมง รู้สึกว่าหดหู่มาก และเป็นชั่วโมงการทำงานที่ผิดปกติ และแน่นอนว่าการกำหนดเงินไว้ในราคานี้ไม่ได้สอดคล้องกับค่าครองชีพ หรืออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน เมื่อเป็นเงินโอทีก็จะถูกกำหนดเป็น Fixed Rate เช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนมากจะอยู่ที่ประมาณ 600-700 บาทต่อ 8 ชั่วโมง ซึ่งจะแตกต่างกันตามสภาพการเงินของแต่ละโรงพยาบาล เนื่องจากถูกกำหนดมาว่าเงินที่จะได้ขึ้นอยู่กับสภาพการเงินของโรงพยาบาลนั้นๆ

นั่นจึงทำให้เกิดความรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม บางที่ได้ 600 บาท บางที่ได้ 740 บาท หรือบางที่ 800 บาท ทั้งๆ ที่ภาระงานไม่ได้ต่างกัน เพียงเพราะสภาพการเงินของบางโรงพยาบาลไม่ดี

ในสภาวะที่โรงพยาบาลนั้นติดลบหนักๆ หรือสถานะทางการเงินของเขาย่ำแย่มาก บางทีโอทีพยาบาลเขาก็ไม่มีเงินจ่าย เพราะว่ามาจากเงินบำรุงซึ่งเงินบำรุงส่วนนี้ก็มาจากหลายส่วน

แน่นอนว่าเงินค่าเสี่ยงภัยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็เช่นกันที่ยังตกเบิกและค้างจ่ายจากส่วนกลางที่งบจะต้องถูกจัดสรรให้ในแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งบางคนก็ค้างอยู่ 6 เดือน แต่ช่วงนี้ก็มีกำลังทยอยจ่ายในส่วนที่ค้าง แต่สุดท้ายก็เงินที่ควรจะได้ในส่วนอื่นๆ ก็ตกเบิกอีก

ปกติคนทำงานที่เสี่ยงภัย อย่างไปทำงานกลางทะเล หรือไปทำงานที่เสี่ยงคุณจะได้เงินเพิ่ม แต่คือตรงนี้เงินเดือนเท่าเดิมไม่ว่าบางทีก็เงินยังไม่ออก หรือว่าเงินที่ควรจะเพิ่มเติมให้เรา เช่น ค่าเสี่ยงภัยก็ยังออกช้า ไม่มีอะไรที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้คนอยู่ในระบบให้ทำงาน

สุวิมล ระบุว่า ที่ผ่านมามีพยาบาลที่ต้องออกนอกระบบเป็นจำนวนมาก เหมือนหน่วยงานรัฐบาล ทั้งมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยที่มีสัญญาผูกพันกับโรงพยาบาลรัฐ ผลิตพยาบาล “เพื่อที่จะส่งต่อไปให้เอกชนใช้งาน” เพราะรัฐไม่รู้จักวิธีที่จะรักษาให้พยาบาลเหล่านี้ที่ถูกผลิตมาให้อยู่ในระบบ

เขาควรจะได้ทำงานในหน่วยงานของรัฐในที่ที่เราลงทุน ลงเงินไปผลิตเขา แต่กลายเป็นว่าหลายๆ คนเขายอมที่จะเสียเงินและออกไปจากงานราชการเพียงเพราะว่าระบบมันห่วย งานหนัก และเขาก็ไม่รู้จักการรักษาคน การพูดการเจรจาต่อรองระหว่างคนที่เป็นผู้บังคับบัญชากับคนที่เป็นคนทำงานมันแย่ มันห่วย บางทีเขาไม่ได้นึกถึง ไม่ได้มี Empathy ก็เลยทำให้คนไม่อยากอยู่ในระบบมากขึ้น

เดินหน้าต่อแม้จะรู้สึกเหมือน ‘ถูกปิดปาก’

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีพยาบาลหลายโรงพยาบาลออกมาเรียกร้องทั้งในเรื่องของค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัย หรือแม้แต่เรื่องการบรรจุ ซึ่งก็มีทั้งที่ชนะและไม่ชนะบ้าง ขณะที่กลุ่ม Nurses Connect เคยรวบรวมปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจนได้รายชื่อพยาบาลทั้งหมด 5,000 คนทั่วประเทศ ยื่นหนังสือต่อผู้มีอำนาจ-ผู้หลักผู้ใหญ่ในวิชาชีพ

2

ทว่าสิ่งที่สุวิมลได้กลับมาคือความรู้สึกเหมือนถูกปิดปาก เนื่องจากวันนั้นการพูดคุยกลายเป็นเรื่องส่วนตัว ทั้งๆ ที่ในวันนั้นเป็นการนำปัญหาเรื่องวิชาชีพจากคนที่เห็นด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ยิ่งทำให้คนไม่กล้าที่จะพูดอะไรออกมา

สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนโดนปิดปากเพราะว่าเราให้ contact สำหรับการติดต่อพวกเราในการที่จะเข้าไปพูดคุยหรือแก้ปัญหาร่วมกันไปอยู่แล้ว วิธีการที่เขาเลือกใช้ เขาใช้วิธีการที่เรียกเราผ่านผู้ที่มีอำนาจเหนือเรา กำลังเรียนต่ออยู่เขาเลือกที่จะใช้อำนาจผ่านทางสถาบันการศึกษาของเรากับเพื่อนอีกคนนึงที่ทำงานอยู่เขาก็เลือกที่จะใช้อำนาจของเขาผ่านผู้บังคับบัญชาทั้งที่ความเป็นจริงเราให้ช่องทางการติดต่อสำหรับการที่จะเรียกเราเข้าไปคุยแล้ว เราก็เลยมองว่าเรื่องนี้มันคือการใช้อำนาจในทางที่ผิดของพวกอำนาจนิยม

สุวิมล ยืนยันว่า ยังคงสู้ต่อไปแม้ว่าพยาบาลหลายคนอาจจะไม่พร้อม หรือไม่กล้าที่จะเปิดหน้าสู้ ทางกลุ่ม Nurses Connect จะเป็นคนรับหน้าตรงนี้แทน สามารถส่งเรื่องเข้ามาได้เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งทางกลุ่มฯ ก็ได้มีการทำงานร่วมกับ สพง. ที่จะผลักดันเรื่องชั่วโมงการทำงานไปพร้อมๆ กัน ซึ่งส่วนนี้กระทบกับบุคลากรทั้งหมดในสายงานสาธารณสุข หากเป็นไปได้ก็อยากได้อีกหลายหน่วยงาน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละหน้างานนั้นไม่เหมือนกัน

แพทย์เขาพูดในเรื่องชั่วโมงการทำงานซึ่งมันเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดผลเสียทังตัวเขาและคนไข้ พยาบาลก็ออกมาพูดเรื่องชั่วโมงการทำงานไปพร้อมๆ กับเรื่องค่าตอบแทนเพราะมันไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งมันเป็นปัญหาใหญ่ของเรา

นอกเหนือจากการผลักดันที่ร่วมกับ สพง. นั้น สิ่งที่ทำได้ก็น่าจะเป็นการหาทางพูดคุยกับองค์กรวิชาชีพพยาบาล ทั้งในส่วนของสภาการพยาบาล สมาคมพยาบาล หรือกองการพยาบาลของ สธ. เพื่อหาทางออกร่วมกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่สุวิมลดีใจคือ การเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาสถานการณ์ด้านแรงงาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ ภายใต้คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.แรงงาน) เมื่อวันที่ 21 .. ที่ผ่านมามีสภาการพยาบาลเข้าร่วมประชุมและมีท่าทีในการสนับสนุนข้อเรียกร้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

เราก็รู้สึกอาจจะมีหวังว่าอย่างน้อยเรายังมีองค์กรวิชาชีพของเราในการที่จะสนับสนุน คือเหมือนยุคมืดมันจบลงแล้ว แต่ว่าเราก็คงต้องดูกันต่อไปว่ามันจะออกมาเป็นยังไง ซึ่งทางเราก็จะทำงานร่วมกับทาง สพง. ต่อไปจนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น หรือว่าจนกว่าเราจะได้ข้อสรุปอะไรจากตรงนี้

ทั้งนี้ ปัญหาที่พบเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเป็นปัญหาในระดับโครงสร้าง ซึ่งจะต้องปรับใหม่ทั้งหมดตั้งแต่การวางระบบสุขภาพให้คนในประเทศอย่างยั่งยืน และสุวิมลมองว่าสิ่งที่น่าจะแก้ปัญหาได้เลยคือการจ้างบุคลากรเพิ่มเพื่อเฉลี่ยภาระงานพยาบาลที่มีอยู่มากมายในขณะนี้ และก็คาดหวังว่าถึงค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับชั่วโมงการทำงานที่ลดลง

การเพิ่มบุคลากรคุณสามารถจ้างงานที่เป็นพยาบาลนอกระบบเข้ามาช่วยทำงานในระบบได้ไปพร้อมๆ กับการที่คุณสามารถขึ้นค่าตอบแทนได้ หรือว่างบประมาณส่วนกลางตรงไหนที่ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น ซึ่งมันก็เป็นระดับประเทศไปอีกเรื่องงบประมาณ งบประมาณที่ไม่ได้จำเป็นเราสามารถที่จะตัดทอนมันมาเพื่อเพิ่มให้กับกระทรวงสาธารณสุขได้หรือเปล่าสุวิมล กล่าว