ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อคณะ กมธ.แรงงาน ให้มีกฎหมายกำหนดชั่วโมงการทำงานแพทย์ หลังแพทย์บางส่วนต้องทำงานมากกว่า 100 ชม.ต่อสัปดาห์ 


น.ส.ชุตินาถ ชินอุดมพร ตัวแทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการทำงานของบุคลากรทางแพทย์ที่ทำงานกับรัฐบาล มีจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่สูงมาก ทั้งในเวลาและเวรนอกเวลาราชการ ซึ่งจากการสำรวจในปี 2562 เรื่อง “ภาระงานและภาวะหมดไฟในการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขและผลกระทบต่อผู้ป่วย” โดย รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ที่มีแพทย์ร่วมตอบแบบสอบถามมากถึง 1,105 คน พบว่าแพทย์กว่า 60% ทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีแพทย์มากกว่า 30% ที่ทำงานมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

นอกจากนี้ แพทย์หลายคนต้องทำงานดูแลผู้ป่วยติดต่อกันมากกว่า 40 ชั่วโมงโดยไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยวิกฤต รวมถึงส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของแพทย์โดยตรง หลายคนลาออกเนื่องจากไม่สามารถฝืนทำงานภายใต้แรงกดดันด้วยสภาพร่างกายที่อ่อนแรงได้ถึงแม้จะมีค่าตอบแทนเป็นค่าเวร แต่แพทย์ส่วนมากไม่สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่เวรหรือไม่ เนื่องจากหลายโรงพยาบาลมีตำแหน่งแพทย์ไม่เพียงพอ จึงต้องอยู่เวรอย่างไม่มีทางเลือก

น.ส.ชุตินาถ ระบุว่า ในอดีตแม้จะเคยมีการทำข้อเสนอเพื่อควบคุมเวลาการทำงานของแพทย์และมีการหารือหลายครั้งเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่เคยมีข้อตกลงอย่างเป็นทางการหรือได้รับการกำหนดเป็นกฎหมายควบคุมการทำงาน 

ทั้งนี้ ตัวแทนจาก สพง. และแพทย์ที่ทำงานกับรัฐบาล หรือ Thai Frontline Physician Confederation (TFPC) จึงตัดสินใจดำเนินการยื่นจดหมายถึงคณะกรรมาธิการแรงงาน ณ รัฐสภา ในวันที่ 30 มิ.ย. 2565  เวลา 10.00 น. เพื่อขอความเป็นธรรมเรื่องชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และร้องเรียนให้มีกฎหมายกำหนดชั่วโมงการทำงานเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ เช่น นักบิน ฯลฯ

“พวกเราเห็นว่า การทำงานโดยไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ ย่อมจะเป็นผลเสียร้ายแรงต่อผู้ป่วย อาจเป็นเหตุให้เกิดการรักษาผิดพลาดต่างๆ จนถึงชีวิตได้ จึงเป็นที่มาของการยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการแรงงานในครั้งนี้” น.ส.ชุตินาถ ระบุ