ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ. แจงปัญหากำลังคนสุขภาพ ชี้ต้องการบรรจุ-อนุมัติรับเพิ่ม แต่อำนาจอยู่ที่ ก.พ.-รัฐบาล


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ตอนหนึ่งว่า นโยบายการรับแพทย์นั้น แน่นอนว่ามีความต้องการรับเพิ่มเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ที่จะอนุมัติให้รับเพิ่มได้หรือไม่นั้น คือสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และรัฐบาล

นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าความต้องการรับบริการของประชาชนมีสูง โดยเฉพาะช่วงหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่พยายามจะยกระดับทำงาน แต่มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร ซึ่งต้องขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อนุมัติบุคลากรการหลังโควิด 45,000 อัตรา ทำให้ความกดดันเรื่องของบุคลากรลดลง

อย่างไรก็ดี ความกังวลนั้นยังไม่หมด เนื่องจากความต้องการรับบริการของประชาชนมีมาก รวมถึงปัญหาเรื่องงบประมาณที่ได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในลักษณะเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งเราหวังว่าจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นให้เท่ากับที่ต้องบริการประชาชน

“หากสังเกตทุกอย่างอยู่นอกการควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ต้องขอบคุณแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทุกคน ที่เสียสละ ทุ่มเท ทำงานให้ประเทศ และกระทรวง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างดีที่สุด เราจะดูแลจัดการเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพ ได้กำชับเรื่องสวัสดิการและภาระงานไม่ให้เกินไป ที่ดูจากตัวเลขภาระงานค่อยๆ ลดลง และดีขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าหมดไป ส่วนที่มีบางจุดที่เป็นปัญหา ก็ค่อยๆ แก้เป็นจุดๆ ไป

ในสังคมปัจจุบัน ประชาชนที่อยู่ในชนบทตอนนี้มาอยู่ในเมืองเยอะกว่า ทำให้ภาระงานในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป มีมากกว่าโรงพยาบาลอำเภอ โดนกระทรวงพยายามปรับเปลี่ยนตรงนี้เพื่อให้เกิดความสมดุล โดยยึดถือนโยบายว่าจังหวัดหนึ่งให้เป็นโรงพยาบาลเดียวกันก็จะอยู่โรงพยาบาลไหนสามารถเคลื่อนย้ายบุคลากรกันได้ให้เกิดภาระงานของที่ใดหนักเกินไป" นพ.โอภาส กล่าว

สำหรับปัญหาบุคลากรสมองไหลออกจากระบบราชการ นพ.โอภาส กล่าวว่าต้องใช้มาตรการหลายส่วน การที่บุคลากรจะอยู่ได้หนึ่งคือเรื่องค่าตอบแทนที่ต้องเปรียบเทียบกับภาคเอกชนที่เป็นการดึงดูดใจ และเรื่องสวัสดิการที่ สธ. เพิ่มค่าตอบแทนและโอทีเพิ่มเข้าไป 

นอกจากนี้ ได้กำชับให้สร้างบ้านพักสำหรับหมอพยาบาลให้เพียงพอ และความก้าวหน้าในวิชาชีพ ซึ่งตอนนี้หมอได้ซี 9 ทุกคน ส่วนพยาบาลราชการและได้รับราชการส่วนพยาบาลพยายามที่จะให้ซี 8 ซี 9 ทุกคน ถ้าทำได้โดยต้องดูระเบียบของ ก.พ.เรื่องของภาระงานยอมรับว่าเป็นเรื่องที่แก้ยาก เนื่องจากความต้องการของประชาชนมีเยอะแต่ถ้ามีบุคลากรและงบประมาณเพิ่มขึ้นก็จะจัดการได้ดีขึ้น

“ภาพรวมของบุคลากรที่รับเหมาต่อปีประมาณ 2,000 คน ที่ลาจะออกส่วนหนึ่งคือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ เมื่อจบแล้วบางคนอยากไปเรียนต่อสามารถเกิดได้เป็นปกติ ปีละประมาณ 10% และที่กลับเข้ามาใหม่ในระบบตัวเลขถือว่าเป็นบวก ดังนั้นจำนวนบุคลากรที่ขาดแคลนยังมีอยู่ แต่ไม่ถึงกับกดดันมากนัก และอาจมีบางจุดที่เป็นปัญหาเหมือนโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปกำลังจะมีการปรับเปลี่ยนระบบไม่ให้ภาระงานเยอะจนเกินไป

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุที่บุคลากรออกจากระบบเพราะไม่ได้รับการบรรจุหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เราบรรจุเกือบทุกคนที่อยากอยู่กับเรา แต่บางครั้งแพทย์ที่ไม่ได้ใช้ทุน อยู่ในมหาลัยเอกชน หรือแพทย์ที่จบจากต่างประเทศ ที่ไม่มีสัญญาใช้ทุน แต่ถ้าต้องการอยู่กับเรา ก็จะหาตำแหน่งทางราชการให้