ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. รับ ‘ปัญหาขาดแคลนแพทย์’ ชี้ สาเหตุหลักคือ ‘ผลิตได้น้อย’ ทำแพทย์รับภาระหนัก เผย 4 แนวทางแก้ไข ‘เพิ่มค่าตอบแทน-สวัสดิการ-ขยายอัตรากำลัง-ส่งเสริมความก้าวหน้า’ 


วันที่ 6 มิ.ย. 2566 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ให้มาชี้แจงในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องการบริหารกำลังคน โดยปัญหาการขาดแคลนนั้นไม่ใช่เฉพาะแพทย์วิชาชีพเดียว แต่รวมถึงพยาบาล ทันตแพทย์ รังสีการแพทย์ ฯลฯ ด้วย 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีแพทย์ทั้งหมดประมาณ 5-6 หมื่นคน แบ่งเป็นอยู่ใน สธ. ราว 26,400 คน หรือ 48% แต่ในจำนวนนี้ต้องรับภาระงานในการดูแลประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กว่า 45 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 75% ของทั้งประเทศ เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ทำให้มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรเท่ากับ 1:2,000 คน ขณะที่มาตรฐานของโลกอยู่ที่ 3:1,000 คน

นอกจากนี้ ในการกระจายของแพทย์ตามเขตสุขภาพ 13 เขต ยังพบว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีสัดส่วนแพทย์ต่อเขตสูงที่สุด แต่ในเขตสุขภาพทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเขต 7, 8, 9, และ 10 จะได้รับน้อยกว่า แม้ภาคเอกชนจะสามารถช่วยลดภาระงานจากโรงพยาบาลรัฐได้ก็ตาม

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนการผลิตแพทย์โดยอิงจากข้อมูลภาพรวมที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอแผนต่อรัฐบาลว่าจะมีการผลิตเพิ่ม 3.3 หมื่นคน ในระยะเวลาตั้งแต่ปี 2561-2570 ซึ่งเฉลี่ยต้องผลิตแพทย์ให้ได้ 3,000 คนต่อปี ทว่าในจำนวนนี้ทางมหาวิทยาลัยอาจจะผลิตได้ไม่ทัน ทาง สธ. จึงได้รับหน้าที่ในการช่วยเหลือในส่วนนี้ด้วย คือ 1 ใน 3 ของเป้าหมาย หรือ 1 หมื่นคน

รองปลัด สธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดสรรแพทย์ไปตามโรงพยาบาลต่างๆ จะเป็นการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน ทั้งจาก สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม ผ่านคณะกรรมการจัดสรรแพทย์ โดยใช้สูตรการคำนวณที่ใช้มาตลอด 10 ปี ที่มีการปรับแก้มาอย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น ในปี 2565 มีโควตาเฉลี่ย 2,759 คน ในจำนวนนี้จะแบ่งออกเป็นอาจารย์แพทย์ส่วนหนึ่ง ทำให้เหลือ 2,001 คน สำหรับแบ่งกันระหว่าง สธ. กับกระทรวงกลาโหมอีกส่วนหนึ่ง โดยในปี 65 สธ. ขอรับการจัดสรรไป 2,061 คน แต่ได้มาเพียง 1,960 คน

อย่างไรก็ดี ทาง สธ. เคยมีการทำวิจัย และพบว่ากระทรวงต้องการแพทย์อยู่ที่ 2,055 คน กระนั้นเมื่อดูย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ โดยมีตัวเลขดังนี้ ปี 2561 ได้มา 2,016 คน ปี 2562 ได้มา 2,044 คน ปี 2563 ได้มา 2,039 คน ปี 2564 ได้มา 2,021 คน และปี 2565 ได้มาทั้งหมด 1,850 คน เหล่านี้ทำให้เห็นว่าคนน้อยภาระงานไม่ได้น้อยตาม กลับกันคือเพิ่มขึ้น แถมเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ด้วย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า กรณีแพทย์ชดใช้ทุน (Intern) ที่ทางแพทยสภาได้กำหนดแนวทางให้มีการเพิ่มพูนทักษะจำนวน 1 ปี ในการปฏิบัติงานในสังกัด สธ. ซึ่งมีโรงพยาบาลรองรับการจัดสรรตรงนี้ทั้งหมด 117 แห่ง แต่เมื่อแพทย์ที่ได้มาไม่ถึงเกณฑ์ทำให้การจัดสรรลงไปได้น้อย ทุกพื้นที่จึงขาดแคลนแพทย์หมด แม้จะมีการรับแพทย์ที่จบจากโรงพยาบาลเอกชน หรือที่ไปเรียนต่อต่างประเทศแล้วกลับมา ฯลฯ ก็ตาม ก็ยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้เมื่อลงไปปฏิบัติงานต้องพบกับภาระที่ค่อนข้างหนัก 

มากไปกว่านั้น เมื่อ 15-30 พ.ย. 2565 สธ. ได้มีการสำรวจชั่วโมงการทำงานแพทย์ของโรงพยาบาลในสังกัด พบว่า 

มีโรงพยาบาล 9 แห่ง ที่แพทย์ต้องทำงานนอกเวลาเกิน 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (หมายเหตุ The Coverage : ปกติทำงานในเวลาราชการ 40 ชั่วโมง เมื่อต้องทำนอกเวลาเพิ่มอีก 64 ชั่วโมง รวมเป็น 104 ชั่วโมง/สัปดาห์) 

มีโรงพยาบาล 4 แห่ง ที่แพทย์ทำงานนอกเวลา 59-63 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

มีโรงพยาบาล 11 แห่ง ที่แพทย์ต้องทำงานนอกเวลา 53-58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

มีโรงพยาบาล 18 แห่ง แพทย์ทำงานนอกเวลา 46-52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

มีโรงพยาบาล 23 แห่ง ที่แพทย์ทำงานนอกเวลา 40-46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

ขณะที่มาตรฐานโลกต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่ง สธ. ก็พยายามจะไปให้มาตรฐานนี้ ผ่านการมุ่งผลิตแพทย์เพิ่มให้มากกว่านี้ และที่ผ่านมาก็พยายามแก้ไขเรื่องชั่วโมงการทำงานแพทย์อยู่ โดยมีแผนดำเนินการทุก 3 เดือน แต่ก็ยังช่วยได้ไม่มาก

นอกจากนี้ พอแพทย์ Intern เพิ่มพูนทักษะครบ 1 ปี ทางแพทยสภาก็ได้ให้โอกาสในการลาไปศึกษาต่อได้ ซึ่งทำให้มีแพทย์ออกจากระบบการบริการประชาชนของ สธ. เพราะเหตุผลดังกล่าวปีละกว่า 4,000 คน เท่ากับเหลือแพทย์ในระบบประมาณ 2 หมื่นคน 

ทว่า ถ้ามาดูสถิติการลาออกในช่วง 10 ปี จะพบว่า มีแพทย์บรรจุรวม ตั้งแต่ปี 2556-2565 มีทั้งหมด 19,355 โดยแพทย์ที่ใช้ทุนปีแรกมีลาออก 266 คน หรือเฉลี่ยปีละ 23 คน ปีที่ 2 มี 1,875 คน เฉลี่ยปีละ 188 คน ปีที่ 3 มีจำนวน 858 คน หรือ เฉลี่ยปีละ 86 คน แพทย์ลาออกหลังพ้นภาระชดใช้ทุน 1,578 คน หรือเฉลี่ย 158 คนต่อปี ดังนั้นในภาพรวมเฉลี่ยลาออกปีละ 455 คน เกษียณปีละ 150-200 คน รวมทั้งสิ้นประมาณปีละ 655 คน

“ตัวเลขที่ออกมาทางสื่อมวลชนที่บอกว่า 2,700 ลบด้วย 1,800 แล้วก็ลาออกกันไป 900 กว่าคนทั้งหลาย ก็เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน” รองปลัด สธ. กล่าว 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวเมื่อมาดูการคงอยู่ของแพทย์ในระบบ ช่วงปี 2544-2564 จะเห็นได้ว่า แพทย์ที่ สธ. มีส่วนในการช่วยผลิต หรือ CPIRD สามารถรักษาการคงอยู่ได้ค่อนข้างดีกว่าที่มาจาก กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ที่เป็นสอบเข้าผ่านระบบแอดมิดชั่น โดยอยู่ที่ 80-90% และจากที่สอบผ่านส่วนกลางอยู่ที่ 70% เหล่านี้คือตัวเลขข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า โดย ปลัด สธ. ได้ให้แนวทางใน 4 ข้อใหญ่ ซึ่งมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่ก่อนแล้ว อันได้แก่ 1. การเพิ่มค่าตอบแทน ให้มีความสอดคล้องกับภาระงานและเศรษฐกิจ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน 2. การเพิ่มสวัสดิการ ที่พัก สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย แลสิ่งอำนวยความสะดวก 

3. ความก้าวหน้า การศึกษาต่อ การเลื่อนระดับ การกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น และ 4. ภาระงานให้เหมาะสม โดยคำนึงถึง work-life balance รวมถึงการขยายกรอบอัตรากำลัง ซึ่ง สธ. พึ่งมีการปรับกรอบอัตรากำลังใหม่ตั้งแต่ปี 2565-2569 โดยวางไว้อยู่ที่ 3.5 หมื่นคนในปี 2569 เป็นการเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 24,000 คน ประมาณ 1 หมื่นคน เพื่อที่จะรองรับภาระงานที่จะเกิดขึ้น

“คือจริงๆ ปัญหาดีขึ้นกว่าเดิมพอสมควร เพราะก่อนหน้านั้นไม่ได้มีโควิด พอมีโควิดเรามีอานิสงค์จากโควิด ได้ข้าราชการเพิ่มขึ้นอีก 3 หมื่นกว่าคน ก็ต้องขอบคุณโควิดที่ได้ผู้บริหารระดับสูงของประเทศได้เติมเต็มกระทรวงสาธารณสุขของเรา แต่ 3 หมื่นกว่าคนก็อย่างที่บอกไปวันนี้ก็ยังไม่เพียงพอ” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ