ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อคม. เขตสุขภาพที่ 4 เผย พื้นที่หลายจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 4 มีความเป็นเมืองสูง ผู้คนประกอบอาหารด้วยตนเองน้อย-ซื้อจากร้านอาหารเป็นหลัก ควบคุมการปรุงไม่ได้ ทำคนพื้นที่เป็นโรคเบาหวาน-ความดันเพิ่มสูงทุกปี


พญ.หทัยรัตน์ อัจจิมานนท์ คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (อคม.) เขตสุขภาพที่ 4 สระบุรี เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า โรคความดันโลหิตและโรคเบาหวานเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของประชาชนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในทุกปี เนื่องจาก บริบทความเป็นเมืองของพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนจำเป็นต้องซื้ออาหารจากร้านอาหารเป็นหลัก จึงไม่สามารถควบคุมปริมาณเครื่องปรุงและวัตถุดิบได้ ทำให้เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าว

พญ.หทัยรัตน์ กล่าวว่า ทางหน่วยงานไม่มี/ไม่สามารถใช้เครื่องมือที่จะควบคุมการปรุงอาหารให้ครอบคลุมพื้นที่ได้ทั้งหมด สิ่งที่ทำได้มีเพียงการเชิญชวนให้ประชาชนตรวจคัดกรองในทุกปี ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง และเป็นไปตามนโยบายของทาง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยจะประสานกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการทำงานลงพื้นที่ รวมถึงรณรงค์ให้ปรุงอาหารโดยลดหวาน และลดเค็ม ซึ่งมักจะเกิดความขัดแย้งกับพฤติกรรมของคนทั่วไปที่ชีวิตด้วยความเร่งรีบและทางเลือกของอาหารน้อย ทำให้การตัดสินใจมีแค่ซื้อกับไม่ซื้อ

ทั้งนี้ ข้อมูลสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังของเขตสุขภาพที่ 4 และผลการดำเนินงานการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง 3 ปี (2563-2565) มีดังนี้ ในเขตสุขภาพที่ 4 มีประชากรอายุมากกว่า 35 ปี จำนวน 2.1 ล้านคน ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงกว่า 6 แสนราย คิดเป็นผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 5.5 หมื่นราย และมีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานกว่า 3 แสนราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยปีละ 2.9 หมื่นราย รวมถึงในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ที่มาจากกลุ่มเสี่ยงปีที่ผ่านมา ร้อยละ 5.2  (1,119 ราย)  ผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่ที่มาจากกลุ่มเสี่ยงปีที่ผ่านมา ร้อยละ 2.7 (2,736 ราย)

สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ได้รับการตรวจ BP (ความดันเลือด) อยู่ที่ร้อยละ 60 โดยพบว่าสามารถควบคุม HT (ความดันโลหิต) ได้ทั้งหมด 2.6 แสนราย หรือร้อยละ 69  ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานได้รับการตรวจ HbA1c (ระดับน้ำตาลในเลือด) ร้อยละ 59 พบว่าสามารถควบคุม DM (เบาหวาน) ได้ 8.4 หมื่นราย หรือ ร้อยละ 48  ขณะเดียวกันพบว่ามีผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ป่วยเป็นโรคไตเสื่อมรายใหม่ ปีละ 7,700 ราย

อย่างไรก็ดีข้อมูลเหล่านี้ยังขาดความสมบูรณ์อยู่ ทำให้สะท้อนปัญหาได้ยาก เพราะเป็นเพียงข้อมูลจากในระบบของภาครัฐ แต่ไม่ได้มีข้อมูลของภาคเอกชน นอกจากนี้การทำงานเชิงรุกของ รพ.สต. และ อสม. ก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนมารับบริการได้ทั้งหมด เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเวลาของผู้คนที่ไม่ตรงกันกับการลงพื้นที่ตรวจคัดกรอง

พญ.หทัยรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นในปี 2566 จึงได้มีการเสนอแผนในการทำให้ประชาชนเข้าถึงการประเมินในระยะคัดกรองได้ตลอดทั้งปี โดยการติดตั้งเครื่องวัดความดันและเบาหวาน (Health Station) ตามพื้นที่ที่ประชาชนเข้าถึงได้ในทุกชุมชน รวมถึงจะมีการเพิ่มศักยภาพของ อสม. ในการประเมินผลการคัดกรองเพื่อให้ประชาชนที่เสี่ยงหรือเป็นโรคเบาและความดันโลหิตสูงรู้ได้อย่างทันท่วงทีว่าตนเองควรทำอย่างไรต่อ

นอกจากนี้หากสามารถของบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล (กปท.) หรือส่วนอื่นๆ อยากให้ทางท้องถิ่นมีการทำสื่อเป็นปฏิทินในการติดไว้ที่บ้านของผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วยปฏิทินการกินอาหารในแต่ละวัน แต่ละมื้อ เมนูอาหารที่ควรกิน สัดส่วนที่ควรกิน เมนูอาหารที่ควรงด และการออกกำลังกาย รวมถึงทำคิวอาร์โค้ดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องของภาครัฐ เช่น กรมควบคุมโรค (คร.) ฯลฯ และคิวอาร์โค้ดที่เชื่อมกับของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าตนเองมีสิทธิรับบริการใดบ้าง

“ตอนนี้ก็คืออยู่ในช่วงที่เอาข้อมูลที่นำเสนอนี้ ซึ่งผู้บริหารยอมรับแล้ว มา Implement (ดำเนินการ) สู่แต่ละจังหวัดในแต่ละเขตสุขภาพ ซึ่งแต่ละจังหวัดก็แล้วแต่ว่าพื้นที่ไหนมีตัวช่วยที่จะสามารถทำได้ บางจังหวัดอาจจะมีเงื่อนไขพร้อม ก็อาจจะทำไปก่อน” พญ.หทัยรัตน์ กล่าว