ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“โรคเบาหวาน” เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยข้อมูลจาก สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานมากถึงวันละ 200 คน

โรคเบาหวานเป็นโรคที่ส่งผลให้กระบวนการต่างๆ ในร่างกาย เมื่อผู้ป่วยเบาหวานเป็นโรคอื่นๆ ร่วมด้วย จะยิ่งทำให้ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขึ้น

ตัวอย่างที่ไม่ไกลตัวเลยก็คือ โรคโควิด-19 โดยเบาหวานเป็นหนึ่งในโรคร่วมที่พบในผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในไทย สอดคล้องกับข้อมูลทั่วทั้งโลกที่ต่างยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า โรคเบาหวานเป็นโรคที่ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการที่รุนแรงขึ้นจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ข้อมูลจาก IDF Diabetes Atlas ฉบับที่ 9 ปี 2563 ระบุว่า ไทยมีความชุกของภาวะเบาหวานในประชากรกลุ่มอายุ 20-79 ปี สูงถึง 8.3% หรือราว 6 ล้านคน รวมถึงมีประชากรที่มีภาวะก่อนเบาหวานสูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก

จะเห็นได้ว่า แม้เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือตลอดจนเวชภัณฑ์ต่างๆ แต่จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานกลับไม่ได้ลดลง อีกทั้งมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย

นั่นคือความท้าทายครั้งใหญ่ และเป็นที่มาของการจัดงานเสวนาหัวข้อ “Simplifying Diabetes with Digital Solutions” เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 โดยบริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อพูดคุยถึงปัญหาและความท้าทายของโรคเบาหวานในปัจจุบันของไทย รวมถึงการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างพฤติกรรมการดูแลรักษาสุขภาพ และป้องกันโรคให้กับคนในสังคม

3 ความท้าทายที่แพทย์ต้องเผชิญ

รศ.นพ.กรภัทร มยุระสาคร คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคเบาหวานในไทย ตลอดช่วง 20 ปีมานี้ ผู้ป่วยที่สามารถคุมโรคเบาหวานได้ในระดับดีมีอยู่ไม่เกิน 40% นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ยังพบอีกว่า ระดับน้ำตาลในเลือดของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในช่วงนั้น เช่น การต้องสั่งอาหารออนไลน์ ฯลฯ

1

สำหรับปัญหาสำคัญของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ประกอบด้วย 1. ผู้ป่วยไม่กล้าไปตรวจกับแพทย์ตั้งแต่แรก เพราะกลัวการรับรู้ว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน แม้บางพื้นที่จะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่ทำการตรวจเชิงรุกก็ตาม ทำให้มีคนจำนวนมากยังไม่เคยเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง ตลอดจนรู้ตัวช้าจนระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น

2. แพทย์เป็นห่วงความรู้สึกผู้ป่วย ทางฝั่งแพทย์เองในบางครั้งเมื่อรู้ผลว่าระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยสูงเข้าเกณฑ์เป็นโรคเบาหวาน แต่ไม่กล้าบอกหรือเลือกบอกข้อมูลบางส่วนเพื่อให้ผู้ป่วยสบายใจ ในทางการแพทย์เรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่รู้ตัว (Unaware Diabetes) โดยอาจมีมากถึง 50% ดังนั้นหมายความว่าสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานของไทยล่าสุดที่ระบุว่า 6 ล้านคน จึงอาจมีมากกว่านั้น

3. การตรวจระดับน้ำตาล ไม่ว่าจะตรวจด้วยตนเองหรือให้ทางโรงพยาบาลตรวจให้ พฤติกรรมหนึ่งที่ผู้ป่วยทำเสมอคือมักอดอาหารก่อนการตรวจ เพราะเชื่อว่าจะทำให้การตรวจน้ำตาลในเลือดมีประสิทธิภาพที่สุด แต่หากลองปรับความคิดและการตรวจระดับน้ำตาลเป็นช่วงหลังอาหารจะช่วยให้เห็นว่ามื้ออาหารนั้นๆ ทำให้ระดับน้ำตาลของตนเองสูงหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมการกินที่ดีต่อระดับน้ำตาลของร่างกายมากขึ้น

คนในสังคมยึดติดว่าเป็นโรคเบาหวานมีแต่แพทย์เท่านั้นที่จะรักษาได้ แต่จริงๆ แล้วทุกคนสามารถป้องกันได้ โดยมุ่งดูแลสุขภาพของตนเองเป็นหลัก และการพบแพทย์เป็นรอง ซึ่งต้องไม่ใช่การไปพบเพื่อไปรักษา แต่เป็นการขอคำแนะนำเพิ่มเติม ดังนั้น ในยุคหลังโควิดนี้ควรเป็นโอกาสปรับเปลี่ยนตนเอง โดยเลือกเอาเทคโนโลยีการสื่อสารที่เชื่อมต่อกันมาปรับใช้กับเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยให้การดูแลสุขภาพของเราง่ายขึ้น รศ.นพ.กรภัทร กล่าว

2

ด้าน มิไฮ อีริเมสซู (Mr. Mihai Irimescu) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค) แผนกธุรกิจเบาหวาน บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา การที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่สามารถไปพบแพทย์เพื่อไปตรวจรักษาได้ ทำให้เห็นถึงช่องว่างที่เกิดขึ้น รวมถึงเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งไม่ใช่แต่การใช้เพื่อรักษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถใช้ในการป้องกันโรคได้อีกด้วย

มิไฮ กล่าวต่อไปว่า การป้องกันคือสิ่งที่สำคัญและเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีจะช่วยทำให้ผู้มีภาวะเบาหวานสามารถบริหารจัดการสุขภาพของตนเองได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากการไปปรึกษาแพทย์หรือขอคำแนะนำ ต้องใช้เวลาไปกับการเดินทางมาก แต่ช่วงเวลาที่ได้ใช้พูดคุยกับแพทย์นั้นมีอยู่ไม่มาก ซึ่งหากมีเทคโนโลยีที่เสริมขึ้นมาเพื่อบอกข้อมูลระบบต่างๆ ในร่างกายของเราอย่างละเอียดให้กับแพทย์ จะทำให้การไปพบแพทย์มีความหมายและประหยัดเวลามากขึ้น เช่น แพทย์สามารถตัดสินใจ หรือวางแผนการรักษาให้ได้ทันท่วงที

“คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับภาวะเบาหวานเป็นอย่างดี แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องนำสิ่งเหล่านั้นไปปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตของทุกคนง่ายขึ้นด้วย” มิไฮ ระบุ

เชฟนิค-ณัฏฐพล ภวไพบูลย์ เจ้าของร้านอาหารวังหิ่งห้อย เล่าถึงประสบการณ์การดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานว่า สำหรับผู้สูงอายุการปรับทัศนคติที่มีต่อโรคเบาหวานนั้นสำคัญมาก เพราะสังคมได้สร้างภาพจำของการเป็นโรคเบาหวานว่าต้องตัดแขน หรือตัดขา จนกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเครียดสูงมาก

เชฟนิค บอกอีกว่า ในส่วนการดูแลรักษาเบาหวานให้กับตนเองรวมถึงคนในครอบครัว การใช้เทคโนโลยีมีส่วนทำให้สามารถบันทึกและจัดการข้อมูลต่างๆ อย่างเป็นระบบมากขึ้น เช่น การวิเคราะห์ระดับน้ำตาล เป็นอาทิ เมื่อไปพบแพทย์จึงสามารถสื่อสารกับแพทย์ได้มากขึ้น หรือก็คือกลายเป็นการสื่อสารสองทาง (Two-way communication) โดยอัตโนมัติ ต่างจากเมื่อก่อนที่ทำได้แค่ฟังแพทย์และตอบรับทำตาม โดยในอนาคตมองว่าฐานข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทสามารถผลิตยาที่มีประสิทธิภาพ และเฉพาะเจาะจงกับบุคคลมากขึ้น

3