ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เทศบาลตำบลทุ่งผึ้ง-รพ.สต.แจ้คอน” จ.ลำปาง ใช้ “งบกองทุนตำบล” จัดโครงการป้องกัน และชะลอไตเสื่อม เน้นปรับพฤติกรรมประชาชนในพื้นที่ ลดบริโภคหวาน-เค็ม โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน-ความดัน-กลุ่มเสี่ยง ใช้เครื่องมือตรวจเค็ม-โปรตีนในปัสสาวะ คืนข้อมูลให้เห็นเป็นรูปธรรม ลดอัตราผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่ 


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย น.ส.จินตนา สันถวเมตต์ ผู้อำนวยการกลุ่มจังหวัด สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงาน “โครงการป้องกัน และชะลอภาวะไตวายเรื้อรังในผู้ป่วยเรื้อรังอย่างยั่งยืน ปีงบประมาณ 2566” เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรค กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) เทศบาลตำบลทุ่งผึ้ง ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง โดยมี นายถวิล กุญชร นายกเทศบาลตำบลทุ่งผึ้ง และ น.ส.พิมพา ล่ำสวย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแจ้คอน (รพ.สต. แจ้คอน) คณะผู้บริหารเทศบาลฯ ร่วมให้ข้อมูลการดำเนินงาน

1

4

น.ส.พิมพา ล่ำสวย ผู้อำนวยการ รพ.สต. แจ้คอน จ.ลำปาง กล่าวว่า โครงการป้องกันและชะลอไตเสื่อมที่ได้ดำเนินการมาตลอดปีงบประมาณ 2566 เป็นการเน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ มีภาวะไตเสื่อมและกลายเป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งผู้ป่วย และครอบครัว ตลอดจนเป็นปัญหาที่สำคัญของระบบสาธารณสุข 

เริ่มต้นจะเป็นการให้ความรู้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ แนะนำวิธีการลด หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีรสจัด เช่น เค็มจัด หวานจัด รวมไปถึงการรับประทานยาที่ไม่ถูกต้อง โดยจะลงไปทำความเข้าใจ ให้ความรู้ทั้งผู้ป่วยและญาติ พร้อมมีการติดตามผลทุกเดือนโดยเจ้าหน้าที่ รพ.สต. นอกจากนี้ยังลงพื้นที่ครัวเรือน ร้านอาหาร สถานศึกษา เพื่อตรวจวัดค่าความเค็ม โดยมีค่าระดับความเค็มมาตรฐานให้เห็นเป็นรูปธรรม รวมถึงยังมีการตรวจหาค่าน้ำตาล และไตผ่านปัสสาวะ เหล่านี้จะทำให้ประชาชนในพื้นที่เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ตระหนักถึงการบริโภคอาหาร และการดูแลตัวเองมากขึ้น

4

4

“ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่รักษาอยู่ในคลินิกโรคเรื้อรัง (CKD Clinic) รพ.สต. แจ้คอนจำนวน 250 ราย มีผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะที่ 1 จำนวน 7 ราย และเสี่ยงเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะที่ 4-5 จำนวน 4 ราย ซึ่งจากการดำเนินโครงการก็พบว่า ผู้ป่วยบางรายมีค่าไตดีขึ้น และในเดือน เม.ย. 2567 จะมีการทำเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการปรับพฤติกรรมของคนในพื้นที่ รวมถึงหาบุคคลต้นแบบให้เป็นแบบอย่างในการดูแลตัวเองแก่ผู้ป่วย หรือคนในชุมชนด้วย” น.ส.พิมพา ระบุ

นายถวิล กุญชร นายกเทศบาลตำบลทุ่งผึ้ง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนี้เกิดจากการคืนข้อมูลสุขภาพของ รพ.สต. ในพื้นที่ โดยมีการของบประมาณจาก กปท. เทศบาลตำบลทุ่งผึ้ง ที่คำนึงถึงความจำเป็นและปัญหาของบริบทพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องโรคไตวายเรื้อรัง ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่ รพ.สต. สมาชิกเทศบาล ฯลฯ รวมถึงนำชุมชน และสถานศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายลดผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงให้ได้ทั้งหมด 

4

4

4

นพ.นพรัตน์ วัชรขจรกุล นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง (สสจ.ลำปาง) กล่าวว่า ปัญหาโรคไต มีสาเหตุจากโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ เป็นปัญหาที่สำคัญของจังหวัดลำปาง ขณะนี้พบว่ามีผู้ป่วยไตเสื่อมในจังหวัดลำปางประมาณ 2-3 หมื่นราย และยังมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ฉะนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะการรับประทานอาหารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างไรก็ดีในการดำเนินการชะลอภาวะไตวายเรื้อรัง หรือไตเสื่อมนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยใช้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน โดยจะมีการติดตามผลอยู่เป็นระยะ อย่างไรก็ตาม หลังดำเนินงานโครงการ พบว่าในพื้นที่จำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า โครงการดังกล่าวของเทศบาลตำบลทุ่งผึ้ง เป็นผลมาจาก กปท. ที่ สปสช. สมทบงบประมาณร่วมกับเทศบาลตำบลทุ่งผึ้ง นับเป็นกิจกรรมที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก นอกจากลดการเจ็บป่วยได้แล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น ค่าเสียโอกาสในการทำงานกรณีญาติต้องพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล หรือลดค่าเดินทาง เหล่านี้เป็นสิ่งที่นอกเหนือจากค่ารักษาที่ สปสช. สนับสนุนได้อีกด้วย นอกจากนี้เทศบาลตำบลทุ่งผึ้งยังนำเครื่องมือ เช่น เครื่องวัดระดับความเค็ม การเจาะเลือดเพื่อหาสารเคมีในเลือดจากการทำการเกษตร รวมถึงมีเครื่องมือวัดระดับน้ำตาล โปรตีนเพื่อวัดค่าไตจากการตรวจปัสสาวะ และจะมีการคืนข้อมูลที่ได้ให้ประชาชนรับทราบ ฉะนั้นด้วยวิธีการเหล่านี้จะสามารถทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ 

s

4