ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ “Telemedicine” หรือการพบแพทย์ทางไกล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ หรือเจ็บป่วยด้วยอาการหรือโรคที่ไม่ได้ซับซ้อนมากนักให้เข้าสู่ระบบการดูแลและติดตามอาการผ่านการพูดคุยทางแอปพลิเคชัน หรือวิดีโอคอล แทนการมาพบแพทย์แบบตัวต่อตัว

สำหรับการติดตามอาการผ่าน Telemedicine นั้น สามารถช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียค่าเดินทางหลายต่อ และบางคนไม่ต้องเสียค่าแรงรายวันเพราะต้องหยุดงานเพื่อมาพบแพทย์ตามนัด

สำหรับ โรงพยาบาลพุทธโสธร .ฉะเชิงเทรา เป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ใช้ระบบดังกล่าวดูแลผู้ป่วยเบาหวานมาตั้งเกิดวิกฤติโควิด-19 จนกระทั่งเห็นว่าการนำ “Telemedicine” มาใช้นั้นสามารถช่วยติดตามอาการผู้ป่วยได้ถี่ขึ้น มากไปกว่านั้นยัง “ลดความเสี่ยง” ในการเดินทางของ “หญิงตั้งครรภ์”

โดยเฉพาะ “หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน” ที่ต้องการการติดตามอาการอย่างเข้มข้นเพื่อไม่ให้เกิดกระทบต่อลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลกอีกด้วย

“The Coverage” ได้รับโอกาสพูดคุยกับ พญ.อรณิชา อมรอริยะกูล แพทย์อายุรกรรมโรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพุทธโสธร ถึงการใช้ Telemedicine ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ รวมไปถึงความพยายามในการขยายบริการไปยังผู้ป่วยโรคไทรอยด์ และโรคอ้วนต่อไปอีกด้วย

“เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ เสี่ยงอันตรายทั้งแม่และลูก

พญ.อรณิชา อธิบายว่า เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หากไม่มีความพยายามในการควบคุมจะทำเกิดโทษทั้งแม่และเด็ก ซึ่งอาจทำให้เกิด “ครรภ์เป็นพิษ” ได้ ความน่ากลัวคืออาจจะทำให้ชัก และเป็นอันอันตรายถึงชีวิต รวมไปถึงลูกก็อาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นคลอดก่อนกำหนด ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ตัวเหลือง ชัก ฯลฯ มากไปกว่านั้นเด็กที่เกิดมาในอนาคตก็อาจจะเสี่ยงเป็นโรคอ้วน และเบาหวานมากกว่าเด็กที่แม่ไม่ได้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

งานวิจัยที่ผ่านมาก็พบว่าแม่ที่เป็นเบาหวานจะมีอุบัติการณ์การผ่าคลอดมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งการผ่าคลอดอันนี้ไม่ได้เป็นเพราะว่าสมัครใจ แต่เป็นเพราะว่ามีภาวะแทรกซ้อน

ฉะนั้นแล้ว จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมเบาหวานขณะตั้งครรภ์ให้ดี ต้องจริงจังและรวดเร็ว

พญ.อรณิชา ระบุต่อไปว่า เมื่อเกิดโควิด-19 ช่วงนั้นผู้บริหารก็มีนโยบายจำกัดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ใช่เคสฉุกเฉิน จึงทำให้มีการทำ MOU ร่วมกับบริษัทเอกชน นั่นก็คือ ‘ไดเอทซ์’ (Dietz.Asia) เพื่อนำระบบ Telemedicine มาใช้ในปี 2563 เพราะนอกจากจะมีผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่ใช้เป็นกลุ่มแรกๆ แล้ว ยังมีผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 (ขาดฮอร์โมนอินซูลินมาลดระดับน้ำตาล เนื่องจากภูมิคุ้มกันในร่างกายไปทำลายตับอ่อนส่งผลให้สร้างฮอร์โมนฯ ไม่ได้) และตามมาด้วยผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดที่พบเป็นส่วนใหญ่ (เกิดจากกรรมพันธุ์ ร่วมกับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และร่างกายมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน) อีกด้วย

ช่วงโควิดค่อนข้างหนัก สงสารผู้ป่วยตรงที่เขามาไม่ได้ บางทีเขาเจาะเลือดเราดูได้แค่ผลเลือด ก็เลยรู้สึกว่าช่วงนั้นการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่ไม่ค่อยดี

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการนำระบบ Telemedicine มาใช้ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยทุกคนจะสามารถเข้ารับการรักษาติดตามอาการได้ เนื่องจากจะต้องให้แพทย์เป็นผู้ประเมินความพร้อมก่อน เพราะผู้ป่วยจะต้องมีความพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยี รวมไปถึงต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง (เพราะจะต้องนำยาที่โดยส่วนมากเป็นยาฉีด) ไปใช้เองที่บ้าน

พญ.อรณิชา อธิบายถึงขั้นตอนในการดูแลติดตามอาการว่า สิ่งแรกที่ต้องดูคือความจำเป็นว่าผู้ป่วยต้องการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และสามารถใช้เทคโนโลยีได้หรือไม่ หากมั่นใจแล้วว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นและสามารถใช้เทคโนโลยีได้ก็จะให้มีการเซ็นใบยินยอม และแนะนำข้อมูลเบื้องต้น เช่น การกำหนดการรักษา กำหนดอาหารในแต่ละมื้อ อาการแทรกซ้อน ฯลฯ จากนั้นก็จะพบพยาบาลที่จะคอยแนะนำวิธีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองที่บ้าน การจด-บันทึกข้อมูลระดับน้ำตาลและมื้ออาหารที่รับประทานในแต่ละวัน

จากนั้นก็ส่งไปหานักโภชนากรซึ่งจะแนะนำเรื่องประเภทอาหารที่เหมาะสม รวมไปถึงการนับปริมาณคาร์โบไฮเดรต  และพบเภสัชกรในด่านต่อไป เพื่อเรียนรู้ประเภทและวิธีการฉีดยาอินซูลินด้วยตนเอง

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการติดตามอาการผ่านระบบ Telemedicine แล้ว แพทย์ก็จะมีการติดตามอาการผ่านแอปฯ ไดเอทซ์ ที่มีความปลอดภัยในเรื่องของการเก็บข้อมูล โดยจะดูจากระดับน้ำตาลที่วัดได้จากการตรวจปลายนิ้ว การรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ บางรายอาจจะต้องดูเรื่องความดันและน้ำหนักร่วมด้วย

“หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นผู้ป่วยเบาหวานก็จะต้องเข้มงวด เขาจะต้องเจาะน้ำตาลทั้งหมด 7 ครั้งต่อวัน ก่อนอาหาร 3 มื้อ หลังอาหาร 3 มื้อ และก่อนนอนอีก 1 ครั้ง เพื่อดูน้ำตาลในแต่ละครั้ง ร่วมกับอาหารที่รับประทานว่าในแต่ละมื้อกินอะไร ปริมาณเท่าไหร่ แล้วก็จะต้องจดว่าฉีดยาเท่าไหร่ ฉีดยาชนิดไหน แล้วหมอก็จะดูข้อมูลในส่วนนี้เพื่อนำมาตัดสินใจในการรักษาว่าควรจะต้องปรับยาเพิ่ม แนะนำเรื่องอาหารหรือไม่อย่างไรต่อไป”

ทั้งนี้ แพทย์จะมีการนัดผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจร่างกายดูว่าตัวบวมหรือไม่ รวมไปถึงดูตำแหน่งที่ผู้ป่วยฉีดยา เพราะบางคนฉีดแล้วช้ำ หรือมีเลือดออก เป็นก้อนไตแข็ง หากไม่ได้มีการเปลี่ยนหรือปรับปรุงก็อาจจะทำให้การดูดซึมยาไม่ดี ฉะนั้นการที่แพทย์ได้เจอผู้ป่วยแบบตัวต่อตัวก็จะสามารถตรวจในส่วนนี้เพิ่มได้ รวมไปถึงก็จะให้ผู้ป่วยมารับยาที่โรงพยาบาลด้วย

“ความเป็นแม่สิ่งมหัศจรรย์ที่ทำให้ผู้ป่วยคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น

พญ.อรณิชา เล่าว่า มีผู้ป่วยหลายเคสที่ประทับใจในช่วงระหว่างการรักษา ส่วนตัวจะมีประสบการณ์กับผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก จึงทำให้เห็นถึงความเป็นแม่ในแต่ละคนที่มีความพยายาม และตั้งใจในการควบคุมระดับน้ำตาลสะสม

สำหรับเคสแรก ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ก่อนตั้งครรภ์ไม่เคยมาโรงพยาบาล (ให้ญาติมารับยาแทน) ไม่ได้ฉีดยาสม่ำเสมอ ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ส่งผลให้มีระดับน้ำตาลสะสมในเลือด 8.6% ซึ่งสูงเกินเกณฑ์ แต่เมื่อผู้ป่วยตั้งครรภ์ก็มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ พยายามดูแลตัวเอง ทำตามที่แพทย์แนะนำ จนทำให้ก่อนคลอดสามารถลดระดับน้ำตาลสะสมลงมาได้ตามเป้าหมาย อยู่ที่ 5.4% เช่นเดียวกับเคสที่ 2 เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และเป็นเบาหวานอันเนื่องจากตับอ่อนอักเสบ ช่วงก่อนตั้งครรภ์ไม่สามารถคุมเบาหวานได้ ในตอนนั้นผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลสะสมในเลือด 9.2% ซึ่งสูงเกินเกณฑ์ แต่เมื่อพบว่าตั้งครรภ์ก็มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองเช่นเดียวกันกับเคสแรกจนทำให้ก่อนคลอดสามารถลดระดับน้ำตาลสะสมลงมาอยู่ที่ 6.2% ได้

“หมอชอบให้กำลังใจคนไข้ว่าพลังในตัวเรามีอยู่ถ้าเกิดตั้งใจที่จะทำ และวันไหนที่ทำได้ คุณก็จะมีความภาคภูมิใจในตัวเอง ต่อไปถ้าลูกคลอดออกมาแล้วลูกแข็งแรง ให้คุณรู้ไว้ได้เลยว่าที่ลูกคุณแข็งแรง เป็นเพราะว่าความพยายามของคุณ ให้คุณภูมิใจในตัวเอง”

พญ.อรณิชา กล่าวต่อไปว่า การเจาะดูระดับน้ำตาล-การคุมเบาหวานไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องตรวจน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ จะต้องฉีดยา นับส่วนอาหารชนิดคาร์โบไฮเดรต ฉะนั้นส่วนตัวจึงพยายามทำความเข้าใจผู้ป่วยมากๆ คอยส่งกำลังใจ และให้คำปรึกษา นอกเหนือจากการดูแลร่างกายแล้วจิตใจของแม่ในระหว่างการตั้งครรภ์ก็จะต้องดูแลด้วย

เตรียมต่อยอดดูแลผู้ป่วย ไทยรอยด์เป็นพิษ-โรคอ้วน

จากผลสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และคุ้นเคยกับการใช้งานของระบบที่ถูกปรับปรุงจนสามารถใช้งานได้อย่างดีแล้ว พญ.อรณิชา ยังระบุถึงหมุดหมายต่อไปว่า ยังมี “ไทรอยด์” ที่นับเป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้มากพอๆ กับโรคเบาหวาน ซึ่งตรงนี้ก็จะมีประเภทไทรอยด์เป็นพิษที่โรคอยู่ในระยะสงบที่ต้องอยู่ในการติดตามอาการจากแพทย์

อย่างไรดี รวมไปถึงโรคอ้วนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการลดน้ำหนัก ในบางรายต้องใช้วิธีการคุมอาหารและออกกำลังกาย เนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่มีกำลังซื้อยาลดน้ำหนัก เพราะขณะนี้ยังไม่มียาลดน้ำหนักที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

ส่วนใหญ่จะทำได้ภายใน 1 ปีแรก ที่ลดน้ำหนักได้ดี หลังจากนั้นก็จะทำไม่ค่อยได้ น้ำหนักจะขึ้น หมอก็เลยรู้สึกว่าเราคงต้องใกล้กับคนไข้หน่อย ถ้าเราติดตามห่างเขาอาจจะเผลอ หรือหลุด ก็เลยให้ติดตามผ่าน Telemedicine ทุกอาทิตย์ ให้จดว่ากินอะไรบ้าง ออกกำลังกายเท่าไหร่ น้ำหนักเป็นอย่างไร ให้ส่งทุกสัปดาห์ หมอก็จะดูว่าควรจะต้องแนะนำอะไร รวมไปถึงคอยเชียร์อัพเรื่องการออกกำลังกาย อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่จะขยายผลเพิ่ม

ทั้งนี้ พญ.อรณิชา ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า นอกจากระบบ Telemedicine จะช่วยให้สามารถติดตามอาการของผู้ป่วยได้ถี่ขึ้นโดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาลนั้น อีกหนึ่งสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมนั่นก็คือ “ช่วยลดความแออัด” ของโรงพยาบาลได้

“เมื่อปี 2564 เราลดจำนวนผู้ป่วย 183 ครั้ง และในปี 2565 ลดลงไปได้ 204 ครั้ง คือลดจำนวนคนที่มาโรงพยาบาลได้ ซึ่งอันนี้หมอทำคนเดียว แล้วก็ทำแค่กลุ่มเล็กๆ ดังนั้นถ้าเราขยายคนทำมากกว่านี้คิดว่าน่าจะช่วยได้” เธอ ระบุ