ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อ้วน อ้วน อ้วน ... ไปทางไหนก็มีแต่คนบ่นว่า “อ้วน”

แต่เอาเข้าจริง แบบไหนกันแน่ที่เรียกว่า “อ้วน” !!?

ช่วงหลังมานี้ แพทย์พบเคสผู้ป่วย “เบาหวาน” ที่มาพร้อมกับ “ภาวะอ้วน” มากขึ้นเรื่อยๆ ความอ้วนจึงไม่ใช่เพียงแค่รูปร่างภายนอก หากแต่คือความอันตรายที่หลบซ่อนอยู่ภายใน

นพ.ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลวิมุต อธิบายว่า โรคอ้วนคือโรคเรื้อรังที่เกิดจากร่างกายมีปริมาณไขมันมากกว่าปกติ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

การจะระบุว่าเป็นภาวะอ้วนหรือไม่ โดยมากจะพิจารณาจากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) คือใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม และหารด้วยส่วนสูงในหน่วยเมตรยกกำลังสอง หากมีค่าดัชนีมวลกายเกิน 25 ก็ถือว่ามีภาวะอ้วน

หรือสามารถวัดรอบเอวอย่างง่ายๆ โดยใช้เกณฑ์สำหรับคนเอเชียทั่วไป ผู้ชายที่มีรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร และผู้หญิงที่เกิน 80 เซนติเมตรขึ้นไป ถือว่า “อ้วน”

สาเหตุของโรคอ้วนมีมากมาย นับตั้งแต่พันธุกรรม อายุที่มากขึ้นซึ่งทำให้การเผาผลาญลดลง การมีโรคประจำตัวและการใช้ยารักษาโรคบางชนิดที่ทำให้การเผาผลาญผิดปกติ

อีกหนึ่งสาเหตุที่พบมากขึ้นในคนหนุ่มสาวปัจจุบัน ก็คือพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพหรือมากเกินไป ทำให้น้ำหนักขึ้นจนเกิดภาวะอ้วนได้เช่นกัน

ทว่าในทางกลับกัน เราอาจเคยเห็นบางคนที่กินมากเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่คน  นั้นมีโรคประจำตัวแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัว เช่น อาจมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษทำให้มีการเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติ ซึ่งจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป

นพ.ชาญวัฒน์ เตือนว่า ภาวะอ้วนเป็นเรื่องที่เราไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจนำมาซึ่งโรคร้ายได้อีกหลายโรค และเคสที่เริ่มเกิดมากขึ้นในสังคมปัจจุบันคือโรคเบาหวานจากภาวะอ้วน

1

อ้วนเมื่อไหร่ เสี่ยงเบาหวานเมื่อนั้น

พญ.ธนพร พุทธานุภาพ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า คนที่อ้วนจะมีไขมันในร่างกายสูงทำให้ฮอร์โมนอินซูลินที่ช่วยลดระดับน้ำตาลทำงานได้ไม่ดี ส่งผลให้การใช้และการกำจัดน้ำตาลไม่เท่าคนปกติ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและเป็นเบาหวานได้ ซึ่งคนที่เป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินจะมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานมากกว่าคนปกติ 3-7 เท่า และ 80-90% ของคนไข้เบาหวานจะมีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินร่วมด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสองโรคนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก

การรักษาโรคเบาหวานจากภาวะอ้วน จะเริ่มตั้งแต่การปรับพฤติกรรมการกินและรูปแบบอาหาร รวมถึงการต้องออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เพื่อลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

คุณหมอธนพร แนะนำว่า ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อรักษา เพราะผู้ป่วยเบาหวานบางคนอาจไม่ได้ดีขึ้นจากการควบคุมอาหารอย่างเดียว อาจจะต้องใช้ยาช่วย ซึ่งยารักษาในปัจจุบันมีความปลอดภัย ไม่มีผลต่อไต ช่วยในการควบคุมน้ำตาลและลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้ดี

นอกจากนี้ ถ้าเป็นเบาหวานและโรคอ้วนร่วมด้วย ก็จะมียากลุ่มใหม่ที่ช่วยลดทั้งน้ำตาลและน้ำหนักด้วย ซึ่งมีทั้งแบบกินและแบบฉีด ช่วยทำให้ผู้ป่วยคุมอาหารได้ง่ายขึ้น อิ่มเร็วขึ้น ลดระดับน้ำตาลได้เร็วขึ้น ซึ่งช่วยให้การรักษาไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด

แต่สิ่งที่หลายคนวิตกกังวลก็คือถ้าเป็นโรคเบาหวานแล้วจะรักษาหายขาดได้หรือไม่?

“ปัจจุบัน เรายังไม่เรียกว่าหายขาดแต่ใช้คำว่าโรคสงบคืออยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับคนปกติ” คุณหมอธนพร ตอบ และว่า สำหรับคนไข้ที่เป็นเบาหวานร่วมกับภาวะอ้วนมาไม่นานเกิน 3-5 ปี หากลดน้ำหนักได้ 15% ขึ้นไป ก็มีโอกาสที่โรคเบาหวานจะสงบจนอยู่ในระดับปกติโดยไม่ต้องใช้ยา แค่ต้องคุมน้ำหนักต่อเนื่องเท่านั้น

ดังนั้น การป้องกันโรคเบาหวานจากภาวะอ้วนจึงอยู่ที่การควบคุมน้ำหนักซึ่งต้องปฏิบัติควบคู่กันในหลาย ๆ ด้านทั้งการปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

เช่น ในอาหารหนึ่งจานอาจแบ่งเป็น 4 ส่วน ครึ่งหนึ่งกินเป็นผักใบๆ อีกหนึ่งในสี่กินเป็นเนื้อสัตว์ติดมันที่ปรุงแบบไขมันต่ำอย่างตุ๋น ต้ม หรือนึ่ง อีกหนึ่งส่วนเป็นคาร์โบไฮเดรต ซึ่งแนะนำเป็นข้าวกล้องหรือข้าวไรซ์เบอร์รี่จะทำให้น้ำตาลไม่สูงและมีกากใยเยอะ รับประทานผลไม้ในปริมาณที่พอเหมาะและเลือกชนิดที่ไม่หวานจัดเช่น แอปเปิ้ล 1 ผลเล็ก ฝรั่งครึ่งผลกลาง ชมพู่ 3-4 ผลกลาง นอกจากนี้ยังควรเสริมการออกกำลังกายอย่างการยกน้ำหนัก วิดพื้น ซิทอัพ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง ปั่นจักรยาน ให้ได้สัปดาห์ละ 150 นาทีขึ้นไป เท่านี้คุณก็จะห่างไกลจากโรคอ้วนและเบาหวานได้

อนึ่ง ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองอาจมีภาวะอ้วนหรือต้องการเข้ารับการตรวจรักษาโรคเบาหวานและโรคอื่น ๆ จากภาวะอ้วน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ ชั้น 9 โรงพยาบาลวิมุต โทร. 02-079-0070