ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ และน่าอิจฉาเหลือเกิน สำหรับมนุษย์จำพวกที่ “กินเท่าไรก็ไม่อ้วน” ตะบี้ตะบันกินหมูกระทะ ชาไข่มุก แต่ก็ยังเฟิร์ม และดูสุขภาพดี (เกินกว่าที่ควรจะเป็น) แต่กับเราๆ กินนิดกินหน่อยก็น้ำหนักขึ้น ตื่นเช้าขึ้นมาก็พบว่าอ้วนขึ้นกว่าเดิม (อีกแล้ว)

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น !!?

นี่เป็นความลับแห่งจักรวาลที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 โดย ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เผยแพร่งานวิจัยผ่านวารสาร PLOS Genetics อันว่า “ยีน” ที่สัมพันธ์กับความอ้วน

มี “ยีน 14 ตัว” ในร่างกายนำไปสู่ความอ้วน

และมี “ยีน 3 ตัว” ในร่างกายที่ช่วยให้น้ำหนักไม่ขึ้น

การค้นพบในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การเอาชนะโรคอ้วนได้ในอนาคต

ไอลีน โอโรวเค จาก College of Arts & Sciences, the School of Medicine's Department of Cell Biology and และ Robert M. Berne Cardiovascular Research Center อธิบายว่า ในอดีตเราทราบว่า เมื่อมนุษย์กำลังมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน จะมียีนจำนวนนับร้อยปรากฏขึ้นมาให้เห็น

ทว่า การที่ปรากฏให้เห็นนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสาเหตุหรือเกี่ยวข้องกับความอ้วน นั่นจึงเป็นอุปสรรคต่อการตามหายีนที่เกี่ยวข้องกับความอ้วน และหาวิธีรักษาผ่านการศึกษายีน

เพื่อเอาชนะอุปสรรคนี้ ทีมวิจัยจึงสร้างระบบเพื่อที่จะสามารถทดสอบยีนต่างๆ ที่พบในภาวะหนักน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้พร้อมๆ กัน ซึ่งเพียงแค่ครั้งแรกของการทดลอง ก็พบแล้วว่าในบรรดายีนนับร้อย มียีนบางส่วนส่งผลต่อความอ้วน และบางส่วนส่งผลต่อการป้องกันโรคอ้วน

“สิ่งที่เราค้นพบนั้นจะสามารถนำไปสู่การรักษาโรคอ้วนผ่านยีน หรือยาได้ในที่สุด

งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า แม้ว่าวิถีชีวิตการกินการอยู่จะเป็นส่วนสำคัญของสาเหตุโรคอ้วน แต่ยีนในร่างกายของเราก็มีบทบาทมากเช่นกัน เช่นยีนบางตัวนั้นส่งผลต่อการกักเก็บหรือเผาผลาญไขมัน ดังนั้นถ้าเราสามารถที่จะหายีนเหล่านั้นเจอได้ เราก็อาจจะสามารถใช้ยาหรือวิธีบางประการเพื่อปิดการทำงานของยีนที่เป็นสาเหตุของการกักเก็บไขมัน และเสริมกำลังยีนที่เผาผลาญไขมันได้

วิธีการที่ทีมวิจัยจากเวอร์จิเนียทีมนี้ใช้คือการนำหนอนที่เรียกว่า C. elegans มาทดลอง เพราะหนอนชนิดนี้มียีนที่คล้ายคลึงกับมนุษย์กว่า 70% และพวกมันอ้วนเมื่อกินน้ำตาลมากเกินไปเช่นเดียวกับมนุษย์

หนอน C. elegans นั้นเป็นหนอนที่มนุษย์นำมาใช้เพื่อทดสอบยาหลายต่อหลายตัวมานานหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่ยาต้านโรคซึมเศร้า Fluoxetine ยาควบคุมกลูโคส Metformin รวมถึงหนอนนี้ถูกใช้ในการวิจัยเทคโนโลยี RNA อีกด้วย

สำหรับงานวิจัยนี้ ทีมวิจัยใช้หนอนผสมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อศึกษายีนกว่า 293 ตัว เพื่อหาว่ายีนตัวไหนกันแน่ที่เกี่ยวข้องกับความอ้วน แล้วก็พบว่า มียีน 14 ตัว ที่ก่อให้เกิดความอ้วน และมียีน 3 ตัวที่ทำหน้าที่ป้องกันความอ้วน

เมื่อทดลองทำการหยุดการทำงานของยีนบางตัวที่ทำให้อ้วนแล้ว ก็พบว่าหนอนที่ถูกกระทำมีสุขภาพที่ดี อายุยืนยาวมากขึ้นกว่าเดิม

การค้นพบนี้จะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนายาที่นำไปใช้รักษาโรคอ้วน และนำไปสร้างสุขภาพที่ดีกว่าให้แก่ผู้คน โดย ไอลีน โอโรเค ยังกล่าวอีกว่า “การรักษาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนนั้นมีความจำเป็นเร่งด่วนเป็นอย่างมาก เพื่อสุขภาวะที่ดีและลดภาระของระบบสาธารณสุขที่ต้องเผชิญกับการรักษาโรคภัยที่มีสาเหตุมาจากความอ้วน ซึ่งจากงานวิจัยของเรานั้นมีความหวังและความเป็นไปได้อย่างมากที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพ”

อย่างไรก็ดี เส้นทางของงานวิจัยชิ้นนี้ยังอีกยาวไกล ทั้งการเริ่มค้นหากระบวนการและยาที่เหมาะสม การทดลองในมนุษย์ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่นี่ก็เป็นความหวังของอนาคตทางการแพทย์และสาธารณสุข

และต่อให้การแพทย์ก้าวหน้าเพียงใด การรักษาสุขภาพและมีวิถีชีวิตที่ดีก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์นั้นสามารถห่างไกลจากโณคอ้วนและภัยสุขภาพอื่น ๆ ที่ตามมาได้ดีที่สุดในเวลานี้

สำหรับสถานการณ์โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกินบนโลกของเรา พบว่ามีผู้คนกว่า 2,000 ล้าน หรือคิดเป็น 13% ของประชากรโลกทั้งหมด ที่กำลังเผชิญปัญหา

ที่น่าสนใจคือ ประชากรโลกที่มีภาวะน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน กว่า 38.2 ล้านคน เป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ

สำหรับในประเทศไทย ปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนกำลังเป็นปัญหาทางสุขภาวะที่รุนแรง เพราะกว่า 48% ของประชากรไทย หรือเกือบครึ่งหนึ่ง ในปี 2564 “อ้วน”

หนำซ้ำแนวโน้มยังเพิ่มขึ้นในเด็กและเยาวชนถึง 13.1%

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชากรอ้วน เป็น “อันดับ 2” ของอาเซียน รองจากมาเลเซีย

แน่นอน สาเหตุของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนโดยทั่วไป มาจากการบริโภคอาหาร (พลังงาน) มากเกินไปกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญได้ การพักผ่อนที่ไม่เพียงส่งผลถึงฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นให้อยากอาหารมากกว่าเดิม การขาดการออกกำลังกาย และอาการเสื่อมของระบบในร่างกายอันเป็นผลมาจากอายุที่มากขึ้น

แต่ข้อค้นพบใหม่คือ เกี่ยวพันธ์กับยีน

ผลของความอ้วนนั้นนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ทั้งความดันสูง ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด นี่ยังรวมไปถึงมะเร็งและภาวะความผิดปกติในระบบร่างกายอีกด้วย

อ้างอิง
https://www.tnnthailand.com/news/social/73077/
https://www.bltbangkok.com/news/30433/
https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/obesity-and-overweight
https://newsroom.uvahealth.com/2021/09/20/uva-discovers-genes-that-cause-obesity/
https://journals.plos.org/plosgenetics/article?id=10.1371/journal.pgen.1009736
https://www.sciencedaily.com/releases/2021/10/211001100432.htm