ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การกักตัว (Quarantine) เป็นมาตรการที่มีการบังคับใช้นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อปี 2563 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

แน่นอน เมื่อสถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น และมีผู้ที่ต้องเข้ารับการกักตัวเพิ่มมากขึ้น

คณะนักวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ร่วมกันทำงานศึกษาวิจัยหัวข้อ “การศึกษาเพื่อพัฒนามาตรการกักตัวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19” โดยเก็บข้อมูลทางห้องปฏิบัติการจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 153 คน

ทั้งนี้ พบว่ามีบุคลากรฯ จำนวน 3 คน ที่ติดเชื้อโควิด-19 จึงได้สัมภาษณ์เชิงลึกกับบุคลากรฯ และพยาบาลวิชาชีพควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล (ICN) เพิ่มเติมเพื่อศึกษาผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด-19 และเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลในการพัฒนามาตรการกักตัวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขต่อไป

นั่นทำให้พบอีกว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เข้ารับการกักตัว มีความกังวล ความเครียด ความกดดัน คุณภาพชีวิตลดลงอย่างชัดเจนในช่วง 5 วันแรก ที่ยังไม่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อ และจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังพบช่องว่างด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะความไม่เพียงพอของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ตลอดจนพบว่า ค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่ได้เพิ่มขึ้นตามความเสี่ยง

1

ระดับความกังวล-ความเครียด

สัดส่วนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องเข้ารับการกักตัว และมีปัญหาด้านความวิตกกังวลหรือความซึมเศร้า

  • มีปัญหาเล็กน้อย
  • มีปัญหาปานกลาง
  • มีปัญหามากถึงมากที่สุด

ต้นทางของความเครียด

คุณภาพชีวิตของบุคลากรลดลงอย่างชัดเจนในช่วง 5 วันแรกของการกักตัว (ในระหว่างที่ยังไม่ทราบสถานะการติดเชื้อ) เกิดเป็นความเครียดสะสม

  • -การปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตคนเดียวในพื้นที่จำกัด
  • -กังวลว่าบุคคลรอบข้างจะติดเชื้อไปด้วย

แม้ที่สุดแล้วผู้เข้ารับการกักตัวจะไม่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังพบ การกีดกัน จากคนในสังคมรอบข้าง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

2

ช่องว่างด้านความปลอดภัย กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

- 95.42% ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องเข้ารับการกักตัว ไม่ได้สวมใส่ชุด PPE ครบชุดในการปฏิบัติงาน

- บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงาน ได้รับการจัดสรรชุด PPE ไม่ครบทุกคน

- ในช่วงระบาดหนัก โรงพยาบาลต้องขยายเตียงรับผู้ป่วยมากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาระงานและความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

- ค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่ได้เพิ่มขึ้นตามความเสี่ยง โดยเฉพาะ ‘บุคลากรอัตราจ้างรายวัน’ หากเข้ารับการกักตัว จะสูญเสียรายได้หลักเพราะต้องหยุดปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้จัดทำข้อเสนอแนะและมาตรการสนับสนุนที่สามารถช่วยเยียวยาจิตใจของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

1. มาตรการด้านการป้องกัน

1.1 บุคลากรทุกคนในโรงพยาบาลมีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสและติดเชื้อโควิด-19 จึงควรจัดสรรชุด PPE ที่มีคุณภาพให้เพียงพอและครอบคลุมกับบุคลากรที่ปฏิบัติงานทุกคน และปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างบุคลากร

1.2 จัดระบบหมุนเวียนบุคลากรเพื่อลดภาระงานและลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของบุคลากรที่สัมผัสแบบเสี่ยงสูงในภายหลังได้อีกด้วย

1.3 มาตรการกักตัวบุคลากรที่สัมผัสเสี่ยงสูงและมาตรการเฝ้าระวังโดยการตรวจหาการติดเชื้อในบุคลากรเป็นระยะยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าบุคลากรส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบแล้วก็ตาม

2. มาตรการด้านการสนับสนุนและดูแลรักษา

2.1 ควรมีมาตรการดูแลบุคลากรในกรณีที่ต้องกักตัวหรือเจ็บป่วย เช่น การรักษาพยาบาล หรือการดูแลด้านอาหาร สิ่งสนับสนุนต่างๆ ในกรณีที่บุคลากรกักตัวเองอยู่ภายในที่พัก มาตรการจัดการความเครียดของบุคลากรในระหว่างกักตัว การจัดทำประกันภัยเพื่อเป็นหลักประกันและขวัญกำลังใจให้กับบุคลากร เป็นต้น

2.2 ควรปรับค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานมากขึ้น ตลอดจนปรับการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบรายเดือน เพื่อให้บุคลากรสามารถรับเงินค่าตอบแทนได้รวดเร็วขึ้น

3. มาตรการด้านการสื่อสาร

ควรสื่อสารทำความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตหลังติดเชื้อโควิด-19 ให้มากขึ้น และชัดเจน เช่น ผู้ที่ติดเชื้อและรักษาหายเป็นปกติแล้วสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ หรือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข แม้จะปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อสูง แต่ก็มีมาตรการป้องกันอย่างรัดกุม ซึ่งอาจนำเชื้อโควิด-19 มาแพร่กระจายในชุมชนได้น้อยมาก เป็นต้น