ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เพื่อตอบคำถามงานวิจัยเกี่ยวกับบริการสุขภาพใน “แผนกผู้ป่วยใน” หรือ IPD ภายใต้มาตรการล็อคดาวน์-คลายล็อกดาวน์ว่า มีปริมาณเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร !!?

เครือข่ายนักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พร้อมคณะ ได้จัดทำบทสรุปการดำเนินโครงการ “การวิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ต่อระบบสาธารณสุขเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการปรับตัวของระบบบริการต่อการระบาดและความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย” ขึ้น

สำหรับข้อมูลการใช้บริการ IPD จะเทียบเคียงสถิติปี 2563 กับ ปี 2560-2562 โดยใช้ฐานข้อมูลระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

งานวิจัย ได้ระบุถึงผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ต่อการให้บริการผู้ป่วยในของผู้มีสิทธิบัตรทอง โดยมีข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ ก่อนโควิด-19 ระบาด การเข้ารับบริการในแผนก IPD ของผู้มีสิทธิบัตรทองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ทว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การรับบริการผู้ป่วยในโรคอื่นๆ โดยรวมลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงการระบาดรอบที่ 3 การเข้ารับบริการผู้ป่วยใน ลดลงถึงร้อยละ 34

เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุ จะพบว่ากลุ่มเด็กอายุ 1-4 ปี และ 5-14 ปี เป็นกลุ่มที่มีการลดลงของการเข้ารับบริการผู้ป่วยในสูงที่สุด โดยในช่วงการระบาดรอบ 3 มีสัดส่วนการลดลงสูงถึง ร้อยละ 70 และ ร้อยละ 60 ตามลำดับ

การให้บริการในโรคที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต เช่น มะเร็งลำไส้ หลอดเลือดสมอง ไส้ติ่งอักเสบ มีการกลับมาใช้บริการเกือบเป็นปกติในช่วงที่การระบาดไม่รุนแรง (ช่วงผ่อนคลายมาตารการล็อคดาวน์และช่วงระบาดรอบสอง) และ ในช่วงที่มีการระบาดรุนแรงในรอบที่ 3 ยังคงบริการไว้ได้ที่ระดับร้อยละ 80

สรุปได้ว่า ในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนการใช้บริการผู้ป่วยในของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และมีลักษณะขึ้นลงตามฤดูกาล การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อการลดลงของใช้บริการผู้ป่วยใน

แบ่งเป็น ช่วงการประกาศล็อคดาวน์รอบแรก (ลดลงร้อยละ 25) และรุนแรงที่สุดในการแพร่ระบาดรอบที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการติดเชื้อ และมีความรุนแรงของโรคสูง ส่งผลให้การให้บริการในโรคอื่นๆ (ไม่รวมโรคโควิด-19) โดยรวมลดลงที่ ร้อยละ 34

ในช่วงผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และช่วงระบาดรอบที่ 2  โรคที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต อันได้แก่ มะเร็งลำไส้ หลอดเลือดสมอง และ ไส้ติ่งอักเสบ มีการกลับมาใช้บริการใกล้เคียงกับแนวโน้มการให้บริการก่อนการระบาด ขณะที่ในการระบาดรอบที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงระบาดรุนแรง พบว่า การใช้บริการในกลุ่มโรคเหล่านี้ลดลงที่ประมาณร้อยละ 20