ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

15 องค์กรผนึกกำลังเซ็น MOU ร่วมยกระดับศักยภาพงานบริการสุขภาพของอปท. พร้อมอบรมกองสาธารณสุข 76 อบจ.ให้พร้อมสร้างระบบบริการแบบมีส่วนร่วม รองรับการถ่ายโอนรพ.สต. ที่ปรึกษารมว.สธ. ย้ำพร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้ท้องถิ่นดูแลชุมชนตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้าย


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)พร้อมภาคีเครือข่ายรวม 15 องค์กร ร่วมกันจัดอบรมหลักสูตรการจัดการระบบสุขภาพท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด รองรับการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ระหว่างวันที่ 19-20 ..2565 โดยมีตัวแทนผู้รับผิดชอบการถ่ายโอน สอน. และรพ.สต. จากอบจ. 76 จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมการอบรม

พร้อมกันนี้ ทั้ง 15 องค์กรยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบบริการสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม เพื่อร่วมกันยกระดับศักยภาพ และมาตรฐานการให้บริการด้านสุขภาพของอปท.ทั้งด้านป้องกัน ส่งเสริม รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ ให้ระบบสุขภาพมีความเข้มแข็ง ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี โดยมี นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วย นายชัยรัตน์ แก้วเพียงเพ็ญ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และ นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมเป็นสักขีพยาน

1

ทั้งนี้ 15 องค์กรที่ร่วมลงนามฯ ประกอบด้วย 1.กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) 2.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) 3.สถาบันพระบรมชนก (สบช.) 4.สถาบันพระปกเกล้า 5.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) 6.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 7.สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย 8.สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย

9.สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย 10.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 11.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 12.สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 13.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 14.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ 15.สถาบันอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันมีรพ.สต.ที่มีความพร้อมในการถ่ายโอนรวมทั้งสิ้น 3,264 แห่ง โดยไปอยู่กับอบจ.ใน 49 จังหวัด ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำภารกิจการถ่ายโอนรพ.สต. อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนภารกิจรพ.สต. ให้อบจ. เป็นเรื่องที่ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการะบบบริการสุขภาพของท้องถิ่น ซึ่ง อบจ. จะทำหน้าที่ในการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในจังหวัด โดยเฉพาะกับภาคประชาชน ในการมีส่วนร่วมสร้างระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ในประกาศหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจรพ.สต. ยังกำหนดให้อบจ. ทำหน้าที่ตั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เพื่ดกำหนดนโยบาย กำกับดูแลพัฒนางานสาธารณสุขของอบจ.ที่รับการถ่ายโอน และยังกำหนดให้มีสำนัก หรือกองสาธารณสุข เพื่อจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่อีกด้วย

2

“สธ.พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างกับอบจ. ในการสนับสนุนการการจัดการระบบสุขภาพของท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการดูแลประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างมีคุณภาพ” ที่ปรึกษา รมว.สธ. กล่าว

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการวิชาการและยกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 กล่าวถึงภาพอันพึงประสงค์ของระบบสุขภาพท้องถิ่นแบบองค์รวมว่า แนวคิดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพดี จะต้องเกิดการเชื่อมต่อการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชน ซึ่งส่วนสำคัญในระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ คือประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมออกแบบระบบบริการ ที่ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้ตรงกับความต้องการของตนเอง

นอกจากนี้ ในส่วนสำหรับบุคลากรกองสาธารณสุข อบจ. ที่เป็นภาครัฐ จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจระบบสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้แนวคิด six building Bolocks ที่เป็นรากฐานแรกในการสร้างระบบบริการสุขภาพที่ดี 6 ด้าน คือ 1. งานบริการสุขภาพ ที่ครอบคลุมความต้องการ และความจำเป็นของประชาชน 2. กำลังคนด้านสุขภาพ พัฒนาบุคลากร ส่งเสริม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพดี 3. ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ วิจัย เพื่อพัฒนาแก้ไข ให้ระบบสุขภาพให้มีความเข้มแข็ง

4. การเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น 5.กลไกการคลังด้านสุขภาพ คำนึงถึงการจัดสรรงบประมาณ ระบบการซื้อและระบบการให้บริการด้านสุขภาพ และ 6. ภาวะผู้นำและธรรมาภิบาล เชื่อมผสานระบบสุขภาพที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี พร้อมทั้งกำกับ ดูแล และควบคุมระบบบริการสุขภาพ

“ความรู้ความเข้าใจในการสร้างระบบบริการสุขภาพระดับมูลฐานให้ครบทุกมิติ จะนำไปสู่การเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงจะเป็นการพัฒนา เพิ่มคุณภาพ และมีความปลอดภัยในการรับบริการสาธาณณสุขของประชาชนให้มีความยั่งยืน และสิ่งสำคัญคือระบบบริการสุขภาพที่ดี จะช่วยให้ประชาชนไม่ต้องล้มละลาย หรือมีหนี้สินเพราะต้องรักษาสุขภาพ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

3

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการถ่ายโอนรพ.สต.ให้อบจ. คือประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์มากขึ้น ปัจจัยเสี่ยงลดลง และสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้นแต่มีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง นอกจากนี้ การถ่ายโอนฯ ต้องทำให้ระบบบริการเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งงานบริการ งานวิชาการ งานบริหาร ที่ต้องมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่ภาพรวมของคนไทยทั้งประเทศให้มีความปลอดภัยด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ให้มีความยั่งยืน และมั่นคง

ทั้งนี้ การถ่ายโอนรพ.สต.ยังเป็นโอกาสของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะระบบสุขภาพท้องถิ่นใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งรพ.สต.จะเป็นด่านแรกในการดูแล ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในพื้นที่แบบองค์รวม และอบจ.จะช่วยสร้างการเชื่อมโยงระบบใหญ่ พร้อมทั้งขยายการบริการ เพิ่มเติมบุคลากรสาธารณสุขที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสุขภาพในทุกมิติที่สอดรับกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยมีสธ.เป็นฝ่ายสนับสนุน

“ปัจจุบันในรพ.สต.อาจจะมีพยาบาล นักสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่บริหาร แต่การถ่ายโอนจะเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเพิ่มเติมบุคลากรในการดูแลส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น เช่น แพทย์ครอบครัว นักทันตภิบาล นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ หรือนักจิตวิทยา เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเติมเต็มช่องว่างในการดูแลสุขภาพของประชาชนให้สมบูรณ์ ” นพ.ประทีป กล่าว

4

นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อบจ.ทั่วประเทศดำเนินการร่วมกันกับประชาชนในการดูแลสุขภาพของท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ การถ่ายโอนรพ.สต.ให้กับอบจ.จะทำให้แนวทางการส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชนมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งในฐานะตัวแทนอบจ.ทั่วประเทศ ขอยืนยันว่าจะทำหน้าที่ดูแลสุขภาพ เพื่อเป็นการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศให้ดีที่สุด

“ความใกล้ชิดประชาชนของอปท. และการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการะบบบริการสุขภาพของคนในพื้นที่ จะช่วยเสริมให้การทำงานของท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มีประสิทธิภาพ” นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าว