ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด มท. ชู อบจ.เชียงใหม่รับถ่ายโอน รพ.สต. ระบุ เห็นการทำงานจริงจัง-ร่วมมือเครือข่ายผลักดันการดูแลระบบสุขภาพ เผย อยากให้ อบจ.รับถ่ายโอนมอบอำนาจนายอำเภอเข้ามาช่วยดูงาน รพ.สต. ช่วยเชื่อมประสาน-ขับเคลื่อน พร้อมตั้งเป้าทำหมู่บ้านยั่งยืน ดูแลตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) และประธานคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เปิดเผยในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 ว่า ภายหลังมีการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปที่ อบจ.เชียงใหม่ ทำให้เห็นการดำเนินงานที่จริงจัง เช่น การทำความร่วมมือร่วมกับเครือข่ายทั้งวิทยาลัยแพทย์ และพยาบาล รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่ช่วยกันผลักดันการดูแลระบบสุขสภาพ โดยเฉพาะด้านปฐมภูมิ 

อย่างไรก็ดี หากจะทำให้เกิดการมีความรู้เชิงปฏิบัติการ ก็จะต้องใช้ระบบสารสนเทศเข้ามาช่วย เช่น อบจ.เชียงใหม่ ก็พยายามจัดบริการโทรเวชกรรม หรือการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ซึ่งคิดว่าน่าจะทำได้ เพราะนายก อบจ.เชียงใหม่ มีความมุ่งมั่น และกล้าใช้งบประมาณ ทว่า อยากให้มีการช่วยสนับสนุนกรอบ และแนวทางในการทำงาน การจัดทำงบประมาณเพื่อประโยชน์ของประชาชน เพราะจะเป็นการนำไปใช้เพื่อช่วยดูแลคุณภาพชีวิตได้อย่างถูกต้องทันท่วงที เนื่องจากเรื่องดังกล่าวนี้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับ อบจ.

ขณะเดียวกัน ในการขับเคลื่อนงาน สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ดูแลแค่งานวิชาการด้านการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดูแล ป้องกัน และระบบส่งเสริมด้วย ซึ่งที่ผ่านมาในเชิงระบบก็ได้เสนอให้ อบจ. ที่รับถ่ายโอน รพ.สต. มอบอำนาจในการกำกับดูแลให้แก่นายอำเภอ เนื่องจาก รพ.สต. ที่ถ่ายโอนมานั้นกระจายตัวไปตามอำเภอต่างๆ แม้ในเชิงบริหารจะมีทีมจากจังหวัดคอยดูแล แต่ในการประสาน หรือขับเคลื่อนก็อยากให้เป็นนายอำเภอเข้ามาเป็นผู้แทน อบจ. เพราะ อบจ. เองอาจจะดูแลไม่ไหว 

“สิ่งที่เสนอไปจะเกื้อกูลกับงานของอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขที่มีเป้าหมายที่จะทำหมู่บ้านยั่งยืน หมู่บ้านที่คนมีสุขภาพดี แข็งแรง เมื่อเจ็บป่วยก็มีคนดูแล มีอาหารปลอดภัย ป้องกันยาเสพติด ฯลฯ ดูแลตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนที่สอดคล้องกับ สธ.” นายสุทธิพงษ์ ระบุ 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมการปกครองได้มีการเข้ามาช่วยเก็บข้อมูลครัวเรือนของผู้ที่มีปัญหาความเดือดร้อนมากกว่าประมาณ 10 ล้านครัวเรือน ซึ่งก็อยากให้เป็นสิ่งที่คณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ ชุดนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ หรือนำไปเชื่อมกับฐานข้อมูลเพื่อใช้ในงานสุขภาพได้ ซึ่งภายใต้คณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ ชุดนี้ก็อยากจะขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพประชาชนให้สำเร็จ ซึ่ง มท. เองก็จะทำเต็มที่เพราะส่วนนี้จะสอดคล้องกับพันธกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขด้วย