ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาฯ สปสช. คาดประชุม บอร์ด สปสช. ครั้งต่อไป ออกเกณฑ์ใหม่รองรับ ‘CUP Split’ รพ.สต. ถ่ายโอน โดยเฉพาะประเด็น ‘จัดกลุ่มประชากร-งบเหมาจ่ายรายหัว’ ย้ำพร้อมช่วยเหลือ-สนับสนุน ท้องถิ่นให้เข้มแข็ง


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า การที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ภายหลังถ่ายโอนไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีความต้องการแยกตัวจากโรงพยาบาลและเครือข่ายการให้บริการเดิม ไปรวมกันเป็นเครือข่ายการให้บริการใหม่ หรือที่เรียกว่ากันว่า ‘CUP Split’ นั้น ทาง สปสช. พึ่งได้เห็นทิศทางของเรื่องนี้เมื่อช่วงที่ผ่านมา และมองว่า สปสช. อาจต้องกฎเกณฑ์บางอย่างเพื่อรองรับการดำเนินการในรูปแบบนี้ เนื่องจากบางเรื่องเป็นส่วนที่ สปสช. ควรต้องเข้าไปช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น การจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวตามจำนวนประชากร อย่างเดิมโรงพยาบาลแม่ข่าย 1 แห่ง มี รพ.สต. 10 แห่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย และใน รพ.สต. 1 แห่ง ต้องดูแลประชากรประมาณ 1 หมื่นคน เท่ากับว่าเครือข่ายนี้จะได้รับการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวเท่ากับประชากร 1 แสนคน แต่อยู่มาวันหนึ่ง รพ.สต. 3 แห่งในเครือข่ายนี้แยกออกไปเป็นอีกเครือข่ายโดยหนึ่งในนั้นยกระดับตัวเองเป็นแม่ข่าย หรืออาจหาโรงพยาบาลใหม่เป็นแม่ข่าย งบเหมาจ่ายรายหัวจากเครือข่ายเดิมก็ต้องถูกจัดสรรมากับเครือข่ายใหม่นี้ ซึ่งกลไกแบบนี้หน่วยบริการไม่สามารถทำเองได้ ต้องให้ สปสช. ไปสนับสนุน

“หรือก็คือต้องจับกลุ่มประชากรกันใหม่ เพราะ CUP เดิมอาจจะบอกได้ว่าเดิมเขาดูแลประชากร 1 แสนคนก็ควรได้รับจัดสรรงบเท่าเดิม แต่ถ้าเกิด CUP Split ออกไป เท่ากับว่าศักยภาพในการดูแลประชาชนหายไป เพราะ รพ.สต. ย้ายไป 3 แห่ง กลายเป็นรองรับประชากรได้แค่ 7 หมื่นคน ที่นี้ใครจะเป็นคนกลางแบ่งงบประมาณในส่วนนี้ถ้าไม่ใช่ สปสช. และแน่นอนว่าจะดีที่สุดถ้าประชาชนในพื้นที่เป็นคนเลือกเองว่าเขาจะไปรับบริการที่หน่วยบริการและเครือข่ายไหน ไม่งั้นถ้าปล่อยให้โรงพยาบาลกับ รพ.สต. ตกลงกันเองอาจเข้าใจไม่ตรงกันและกลายเป็นกระทบต่อการให้บริการ ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น” เลขาธิการ สปสช. ระบุ 

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า คาดว่า สปสช. น่าจะออกหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อรองรับ CUP Split ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งถัดไป ซึ่งในตอนนี้เท่าที่ทราบมีอยู่ประมาณ 2 จังหวัด คือ จ.เชียงใหม่ และ จ.กาญจนบุรี ที่มีความพร้อมในการดำเนินการ แต่ก็คิดว่าหลังจากนี้น่าจะมีอีกหลายจังหวัดที่จะทำแบบนี้ด้วย 

“ระบบการให้บริการแบบนี้ (CUP Split) เราเชื่อว่าถ้าทิศทางของการถ่ายโอน รพ.สต. แล้วจะออกไปในรูปแบบนี้ส่วนหนึ่ง ที่อาจจะไม่เยอะในตอนนี้ เราก็จะต้องตอบรับด้วยการจัดระบบ ตั้งแต่เรื่องจับกลุ่มประชากร การจัดงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งในทางเทคนิคทำได้ไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่านี่เป็นทิศทางที่จะเป็นไปหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของการวิจัยเพื่อที่จะนำคำตอบมาให้เราในการดำเนินการต่อไป

“เราไม่ปฏิเสธต่อการเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าการทำให้ระบบที่เกิดขึ้นใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาเราก็พยายามทำตรงนี้ให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งมากขึ้น เช่น เรื่องการแจกผ้าอ้อมที่เราให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนในการดำเนินการ ทั้งที่หลายฝ่ายก็บอกว่าให้ สปสช. จัดซื้อและแจกเองเลย แต่ถ้าเป็นแบบนั้นเท่ากับบทบาทของท้องถิ่นจะหายไปจากการให้บริการนี้เลย เป็นเพียง สปสช. กับผู้ป่วยโดยตรง” นพ.จเด็จ กล่าว