ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นั้น กำลังจะเดินเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว แน่นอนว่าการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยเฉพาะทิศทางการบริหาร รพ.สต. จากบ้านหลังใหม่อย่าง อบจ. ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จึงร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย สมาคมหมออนามัย และชมรมผู้อำนวยการ รพ.สต. (ประเทศไทย) จัดการสัมมนาในหัวข้อ “สู่สุขภาวะครบส่วนและถ้วนหน้า: ด้วยหมุดหมายสุขภาพปฐมภูมิ” ภายใต้ “โครงการวิจัยประเมินผลนโยบายการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสู่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)” ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวรส. 

1

สำหรับหนึ่งในไฮไลท์สำคัญ คือ การสัมมนาโต๊ะกลมภายใต้หัวข้อ “แนวทางการขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สู่หมุดหมายสุขภาวะประชาชนอย่างครบส่วนถ้วนหน้า” โดยเป็นการระดมความเห็นจากภาคีเครือข่ายที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิ บนจุดมุ่งหมายในการให้บริการปฐมภูมิเป็นไปอย่าง ‘ครบส่วน’ และ ‘ถ้วนหน้า’ 

นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ความหมายของบริการสุขภาพปฐมภูมิซึ่งเป็นภารกิจหลักของ รพ.สต. เปลี่ยนไป และมีการดำเนินงานที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมคือการให้บริการพื้นฐาน แต่ในขณะนี้มีการดูแลรายครอบครัว หรือการดูแลเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ด้วย ฉะนั้นการทำงานให้ ‘ครบส่วนถ้วนหน้า’ จึงยังเป็นความท้าทาย

1

นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายเป็นไปได้ยากด้วย เช่น บุคลากรถ่ายโอนยังมาไม่ครบทีม แม้จะมีนักวิชาการสาธารณสุข พยาบาลวิชาชีพ แต่ยังขาดบางส่วนที่จะเข้ามาเติมในส่วนของงานปฐมภูมิ ฉะนั้นในการทำงานปฐมภูมิของ รพ.สต. อาจยังขาดโรงพยาบาลพี่เลี้ยง รวมถึงวิชาชีพที่มีความหลากหลายไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันเวลานี้ก็เริ่มเห็นแล้วว่าสภาวิชาชีพต่างๆ เริ่มเข้ามาสนใจ และให้การสนับสนุนมากขึ้น 

อย่างไรก็ดี งานปฐมภูมิมีหลักอยู่ 3 อย่างที่ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ไม่ได้เขียนไว้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ นั่นก็คือ การดูแลต้องดีขึ้น พัฒนาสุขภาพภายใต้กำลังความสามารถทีมงานที่มี และควบคุมงบประมาณเพื่อให้เกิดสุขภาพที่ดีได้ 

4

นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระบุว่า เจตนารมณ์ของการเขียนคู่มือการถ่ายโอนฯ คือต้องการเห็นประชาชนได้รับบริการที่ดี สอดคล้องกับบริบทปัญหาของแต่ละพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นหลักการกระจายอำนาจคือให้คนในพื้นที่คิดและแก้ปัญหาเองทั้งเรื่องปัญหาสุขภาพ หรือสาธารณูปโภค เป็นต้น

รวมถึงหลักตามเจตนารมณ์ที่คิดเอาไว้ มองว่าภารกิจของการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ป้องกัน และฟื้นฟู หากมีการบริหารจัดการที่ดีก็จะส่งผลให้ประชาชนไม่ต้องไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาลเหมือนที่ผ่านมา 

“เรามองว่าถ้าประสิทธิภาพการดูแลประชาชนใน รพ.สต. ได้ผล ก็จะส่งผลให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินเยอะ ซึ่งก็มองว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฉะนั้นก็อยากให้มีการบูรณาการร่วมกัน หากติดขัดตรงไหนก็ช่วยกันแก้ งบประมาณจากภาษีประชาชนควรต้องเอาไปทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายเลอพงศ์ กล่าว

4

ด้าน นายสมดี คชายั่งยืน ผู้แทนคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) บอกว่า ในฐานะที่เคยเป็นรองอธิบดีกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น (สถ.) พบว่าการถ่ายโอน รพ.สต. นั้นยังมีเรื่องติดขัดทั้งเรื่องงานและเรื่องเงิน ยกตัวอย่างกรณีภารที่เมื่อถ่ายโอนไปแล้วมีเงินตามมา เช่น ชลประทาน งานโยธา หรืองานที่เกี่ยวกับระบบ ทะเบียนราษฎร ฯลฯ จะมีงบประมาณด้านการบริหารงานบุคคลตามไปด้วย แต่ในการถ่ายโอน รพ.สต. ครั้งนี้ อบจ. อาจจะยังต้องใช้เงินตัวเองในการบริหารจัดการ 

ดังนั้น สำนักงบประมาณจะต้องจัดสรรเงินสำหรับบุคลากรตามโครงสร้างกรอบอัตรากำลัง S, M, และ  L ตามกรอบที่ สธ. เคยกำหนดไว้ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวแก่ อบจ. ได้ เนื่องจากยังมีส่วนที่เงินบำเหน็จ บำนาญที่จะตามมาอีกด้วย

นายเอกรินทร์ โปตะเวช ผู้แทนสมาคมหมออนามัย และอุปนายกสมาคมฯ คนที่ 1 กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้เห็นในแต่ละจังหวัดนั้น พบว่าการถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ. มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป โดยส่วนที่ดีจะเป็นความก้าวหน้าทางวิชาชีพของบุคลกรที่ถ่ายโอน ขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาเรื่องระเบียบ รวมถึงค่าตอบแทนที่ตอนนี้ก็ยังมีบางคนที่ยังไม่ได้ เช่น เงิน ฉ.11 (ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้หน่วยบริการ) ซึ่งจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในแง่ของขวัญและกำลังใจ 

1

ขณะที่ นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการ รพ.สต. (ประเทศไทย) กล่าวว่า งานวิจัยเป็นส่วนที่สะท้อนได้หลายอย่างทั้งการต่อยอด หรือการพัฒนาระบบปฐมภูมิ หากทุกภาคส่วนทำตามภายใต้คู่มือการถ่ายโอนภารกิจฯ และมีทัศนคติที่ดีก็จะไม่มีอุปสรรค ทว่าที่ผ่านมาก็ยังไม่เป็นไปตามนั้น ทำให้การเดินต่อไปข้างหน้าที่แม้จะมีส่วนที่ดี แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังสะดุด เช่น เรื่องการสนับสนุนงบประมาณตามขนาดโครงสร้าง S, M และ L ที่ขณะนั้นตั้งเป้าไว้ว่าจัดจัดสรรให้ 1 ล้านบาท 1.5 ล้านบาท และ 2 ล้านบาท เพราะเห็นว่าเมื่อมีการถ่ายโอนมาแล้วภารกิจของ รพ.สต. ที่มาอยู่กับ อบจ. นั้นมีมากขึ้น และส่วนหนึ่งเพื่อใช้เป็นการบำรุง รักษาลูกจ้างที่จะมีผลสัมพันธ์กัน

อย่างไรก็ดี จากงบประมาณที่ตั้งดังกล่าว กลับกลายมาเป็น 4 แสนบาท 6.5 แสนบาท และ 1 ล้านบาท ซึ่งหากไม่มีงบประมาณดังกล่าวอาจจะทำให้ รพ.สต. บางแห่งอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะ รพ.สต. ขนาดเล็ก เพราะนอกเหนือจากการให้บริการ หรือภารกิจที่จะดูแลประชาชนแล้วนั้น ยังมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ เช่น ค่าไฟ หรือค่าลูกจ้างที่มีอัตราเทียบเท่ากันกับหลาย รพ.สต. 

“ยังมีเรื่องของบุคลากรบางกลุ่ม เช่น แพทย์แผนไทย พยาบาล หรือแม้กระทั่งพนักงานธุรการที่ยังไม่ได้บรรจุ ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมี FastTrack กรณีพิเศษในกรอบที่มีอยู่แล้ว” นายสมศักดิ์ กล่าว 

1

นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายก อบจ.กระบี่ และผู้แทนสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย ให้ภาพว่า การถ่ายโอน รพ.สต. ทำให้ อบจ. มีโอกาสได้ดูแลด้านสาธารณสุข หรือสุขภาพของประชาชนได้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นนิมิตรหมายอันดีที่การถ่ายโอนครั้งนี้มอบมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่อยู่ใกล้ชิดเข้ามาดูแล ฉะนั้นการเดินหน้าก็จะเดินต่อไปเท่าที่ทำได้ 

ขณะเดียวกัน หลังจากการถ่ายโอนภารกิจฯ อบจ. หลายแห่งเรียนรู้มากขึ้น และเมื่อเริ่มตั้งหลักได้ก็เริ่มทำงานเชิงรุก เริ่มมีการนำระบบไอที ตลอดจนการพยายามวิเคราะห์ปัญหาที่ยังเป็นจุดบอดให้การให้บริการประชาชนและพยายามเข้าไปเติมเต็มในส่วนนั้น เช่น การทอดผ้าเพื่อนำเงินมาจ้างบุคลากรทางการแพทย์สำหรับดูแลประชาชนในพื้นที่ เป็นอาทิ

อย่างไรก็ดี หากทุกส่วนราชการสามารถทำตามประกาศของคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) นั้นเชื่อได้ว่าปัญหาจะไม่เกิด เพราะหลังจาการการถ่ายโอน รพ.สต. มาได้ประมาณ 1 ปี ก็ยังมีปัญหา เช่น การแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง ปัญหาบุคลากร บุคลากรในกองสาธารณสุข อบจ. ที่ขณะนี้ยังมีบางจังหวัดที่ยังไม่มีผู้อำนวยการกองสาธารณสุข รวมถึงงบประมาณอีกด้วย