รพ.สต.ถ่ายโอนจังหวัดนำร่อง '30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว' ลุยยืนยันตัวตนสิทธิบัตรทองผ่านแอปฯ 'หมอพร้อม' หนุน สธ.เดินหน้าโครงการ ยันไม่ใช่ภาระงาน เพราะลงพื้นที่ดูแลประชาชนตามปกติอยู่แล้ว แต่หากอยากให้งานเร็ว ต้องแก้เรื่องอินเทอร์เน็ต
นางเดือนเพ็ญ พันธุ์พาณิชย์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านข่าใหญ่ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็น รพ.สต. ที่ถ่ายโอนให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด (อบจ.ร้อยเอ็ด) เปิดกับ "The Coverage" ถึงความพร้อมในการดูแลประชาชนตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันกำลังเดินหน้ายืนยันตัวตนประชาชนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือบัตร 30 บาท) เพื่อให้เข้าสู่ระบบหมอพร้อม ตามคำสั่งของสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ที่ได้ทำความร่วมมือกับ อบจ. ไว้ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ทราบมาว่าเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในด้านการบันทึกข้อมูลสุขภาพ ก่อนที่จะไปรับบริการสุขภาพตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จะช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ไม่ต้องเสียเวลาไปยืนยันตัวตนที่สถานพยาบาลต่างๆ อีก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการเตรียมการ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนให้ อบจ.ร้อยเอ็ด จะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล รวมถึงประโยชน์ ข้อดีและข้อเสียจากโครงการ โดยลงพื้นที่ไปร่วมกันกับ สสอ. ในพื้นที่ และในช่วงท้ายของการเตรียมการก่อนเปิดโครงการ สสอ. จึงมาให้ รพ.สต. ได้เข้ามาช่วยยืนยันตัวตนกับประชาชน
"สสอ.ให้ รพ.สต. เป็นแอดมินในระบบการยืนยันตัวตนได้ และให้ไปลงพื้นที่เพื่อยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ หมอพร้อมอย่างเดียว ไม่มีแบบอื่น แต่เรา (รพ.สต.) ไปยืนยันตัวตนให้เฉพาะแค่คนที่ไม่เคยมีแอปฯ หมอพร้อม หรือเคยมีแต่ไม่เคยลงทะเบียน หรือลบแอปฯ ออกไปจากมือถือ รวมถึงไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ยืนยันตัวตนมาก่อนเท่านั้น ส่วนคนที่เคยยืนยันตัวตนมาแล้วก็ไม่ต้องทำใหม่ โดยเราก็จะเข้าไปค้นหาพร้อมกับผู้ใหญ่บ้าน อสม. เพื่อให้ประชาชนมายืนยันตัวตน" ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านข่าใหญ่ จ.ร้อยเอ็ด กล่าว
นางเดือนเพ็ญ กล่าวอีกว่า ในการยืนยันตัวตนจะเน้นการครอบคลุมประชาชนในแต่ละชุมชนให้ได้มากที่สุด แม้ว่าบางคน หรือบางครอบครัวอาจไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ หรือบางบ้านมีแค่ 1 เครื่องก็ต้องใช้เบอร์โทรเบอร์เดียวกันทั้งหมดเพื่อยืนยันตัวตนให้ได้ ส่วนใครที่ไม่มีมือถือก็ต้องใช้ของ อสม. ที่อยู่ในชุมชนไปก่อน
อย่างไรก็ตาม ในส่วน รพ.สต. ไม่ถือว่าหน้าที่ดังกล่าวเป็นภาระงาน หรือเป็นการเพิ่มเติมงานให้กับ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนให้มากขึ้นกว่าเดิม แต่มองว่าเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศให้เดินหน้า อีกทั้ง รพ.สต.ก็ลงพื้นที่ไปทำงานเชิงรุกในการดูแลสุขภาพปฐมภูมิให้กับชุมชนอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มงานการยืนยันตัวตนเข้ามาเสริมด้วย แต่จะมีปัญหาบ้างในการลงพื้นที่เพื่อยืนยันตัวตน โดยเฉพาะสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ทำให้การยืนยันตัวตนล่าช้า ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนก็จะช่วยได้มาก และอาจทำให้การยืนยันตัวตนตามนโยบายของรัฐบาลทำได้ครอบคลุมมากขึ้น
"ตอนนี้เราก็ยังไปยืนยันตัวตนอยู่ แต่หลังจากคิกออฟไปแล้ว ประชาชนก็เริ่มมาที่ รพ.สต. เพื่อขอยืนยันตัวตนมากขึ้นแล้ว และมาสอบถามเกี่ยวกับโครงการ โดยส่วนใหญ่มาถามว่า โครงการนี้จะให้ประโยชน์อะไรบ้าง และไปหาหมอฟันที่คลินิกได้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นโอกาสดี ที่ รพ.สต.ก็ได้อธิบาย และแนะนำโครงการกับประชาชนไปในตัว" นางเดือนเพ็ญ กล่าว
ด้าน ผู้อำนวยการ รพ.สต.แห่งหนึ่งในจ.แพร่ (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) ซึ่งเป็น รพ.สต.ที่ถ่ายโอนให้ อบจ.แพร่เช่นกัน กล่าวว่า ก็เข้าไปร่วมกับ สสอ. ในพื้นที่เพื่อไปยืนยันตัวตนให้กับประชาชนสิทธิบัตรทอง โดยเน้นเฉพาะคนที่ไม่เคยยืนยันตัวตนในการเข้ารับบริการผ่านแอปฯ หมอพร้อมมาก่อน ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่จ.ร้อยเอ็ด ทราบว่ามีการยืนยันตัวตนไปแล้วประมาณ 50%
"คนที่เคยยืนยันตัวตนไปแล้ว และมีประวัติอยู่ในแอปฯ หมอพร้อม ก็ไม่ต้องมายืนยันตัวตนอีก แต่คนที่ไม่เคยทำมาก่อน เจ้าหน้าที่ก็จะไปค้นหาและประชาสัมพันธ์เพื่อให้มายืนยันตัวตน" ผู้อำนวยการ รพ.สต. กล่าว
ผู้อำนวยการ รพ.สต.คนเดิม กล่าวย้ำด้วยว่า การยืนยันตัวตนเป็นความร่วมมือระหว่าง สสอ. และท้องถิ่น ร่วมกันดำเนินการ โดยยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ หมอพร้อม ซึ่งไม่ใช่การเพิ่มภาระงานแต่อย่างใด เพราะตามปกติแล้ว รพ.สต. ก็ลงพื้นที่เพื่อไปแนะนำเรื่องสุขภาพกับประชาชน รวมถึงไปให้บริการปฐมภูมิอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เพียงแค่เพิ่มเติมงานการยืนยันตัวตนเข้าไปเท่านั้น
- 23181 views