ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ความก้าวหน้า” ในวิชาชีพหลังการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จูงใจบุคลากรใน รพ.สต. จำนวนไม่น้อยให้ตัดสินใจถ่ายโอนไปด้วยพร้อมกับภารกิจ และรพ.สต. 

แต่สิ่งที่เขาเหล่านี้คาดหวังอาจไม่เป็นอย่างที่คิดเท่าไหร่นัก เมื่องานวิจัยล่าสุดเรื่อง “สิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และความก้าวหน้าของบุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด” ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เมื่อ ต.ค. 2566 ชี้ให้เห็นว่า ภาพรวมของการถ่ายโอน รพ.สต. ในช่วงปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา สิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และความก้าวหน้าของบุคลากร “ไม่ต่างจากเดิมมากนัก”

งานวิจัยดังกล่าวได้ทำการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคลากร รพ.สต. ที่ถ่ายโอน ทั้งในลักษณะแบบเจาะจง และแบบสุ่มจำนวน 430 คน 

รวมถึงเก็บข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายก อบจ. เป็นอาทิ 

ก่อนจะนำมาวิเคราะห์และพบว่า ด้านสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และความก้าวหน้าของบุคลากรใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนมายัง อบจ. จัดอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งมาจาสาเหตุหลายประการ เช่น เดิมการปรับขึ้นเงินเดือนของ บุคลากร รพ.สต. ก่อนถ่ายโอนจะได้รับการประเมินจาก สธ. โดยใช้เกณฑ์ตามผลงานตัวชี้วัด ขณะที่เมื่อถ่ายโอนมาแล้ว ทางฝั่ง อบจ. ยังไม่ได้มีการวางแผนเรื่องการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลงานเลย 

นอกจากนี้ ระเบียบการเบิกจ่ายเงินของ รพ.สต. ภายใต้ อบจ. ที่ไม่เอื้อ ยังส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์เรื่องค่าตอบแทน เช่น ค่าตอบแทนนอกเวลาให้กับบุคลากร รพ.สต. ที่ถ่ายโอน ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้นในส่วนของสวัสดิการภาพรวม แม้บุคลากรจะยังได้รับสวัสดิการเหมือน แต่ก็มีเรื่องเบี้ยกันดารต่างๆ ที่ยังไม่ได้ รวมถึงในช่วงแรกมี อบจ. บางแห่งที่บุคลากรใน รพ.สต. เสียสิทธิเรื่องการกู้เพื่อซื้อบ้าน เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) ยังไม่ได้ทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) กับธนาคาร

อย่างไรก็ดี สำหรับประเด็นความก้าวหน้าของบุคลากร รพ.สต. ภายหลังการถ่ายโอนฯ มีการได้รับการสนับสนุนให้มีความก้าวหน้าในสายอาชีพตามแผนดำเนินการ รวมถึงมีการสนับสนุนบุคลากรที่มีคุณสมบัติได้ดำรงตำแหน่งชำนาญพิเศษ (ซี8) ตลอดจนการสนับสนุนด้านวิชาการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ด้วยเช่นกัน 

ทว่า งานวิจัยก็ระบุด้วยว่า ในบางสายงานก็พบว่าไม่สามารถเติบโตได้ในงานของตนเอง เช่น ตำแหน่งทันตาภิบาล ซึ่งเป็นที่ ต้องการของชุมชน แต่ไม่มีกรอบอัตรากำลัง เมื่อโอนย้ายมาสังกัด อบจ. ทำให้ไม่มีโอกาสก้าวหน้าในสายงานของตนเอง อีกทั้งบางตำแหน่ง เช่น พนักงานกระทรวงสาธารณสุข เมื่อโอนย้ายมามีการเสียสิทธิในการทำชำนาญการ 

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ บวกกับการวิเคราะห์ทางเอกสาร งานวิจัยได้สรุปว่า ในภาพรวมของสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และความก้าวหน้าของบุคลากร รพ.สต. ที่สังกัด อบจ. ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องของแนวทางการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้บุคลากรได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และความก้าวหน้าดังเดิม

กระนั้นในมุมของการพัฒนาเพื่อให้เกิดการถ่ายโอน รพ.สต. ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตมีความราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น งานวิจัยได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายจำนวน 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ควรทบทวนกฎระเบียบที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น การเบิกจ่ายต่างๆ จากท้องถิ่น ที่เอื้อต่อการทำงาน รวมทั้งการจัดรูปแบบการจัดการบุคลากรตามขนาด และความต่างของท้องถิ่น และควรทบทวนเรื่องค่าตอบแทนสำหรับพื้นที่ห่างไกล และทุรกันดาร 

2. สถ. ควรจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และใช้กระบวนการสื่อสารให้กับบุคลากร สร้างความเข้าใจให้เกิดการดำเนินงานได้ตามสิทธิเดิม เพื่อให้การดำเนินงานก้าวไปพร้อมกันทุกพื้นที่ (แต่ละพื้นที่มีการดำเนินงานาที่แตกต่างกัน) รวมถึงเป็นแนวทางการดำเนินงานสำหรับพื้นที่ใหม่ที่กำลังจะถ่ายโอน

3. สถ. ควรดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมแนวทางการจ้างบุคลากรทุกประเภทของ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนให้ อบจ. ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับภารกิจ เพื่อให้สามารถขึ้นค่าตอบแทนให้แก่ลูกจ้างได้ด้วย 4. อบจ. ก็ควรสนับสนุนด้านความก้าวหน้าของบุคลากรในการเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น เช่น ชำนาญการพิเศษ การเปลี่ยนสายงานและจัดทำคู่มือ ขั้นตอน ระเบียบ แนวปฏิบัติ โดยประกาศให้ทราบอย่างทั่วถึง 

5. สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) สธ. หรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ ควรดำเนินการเชิงรุกในการทำ MOU กับ อบจ. เพื่อร่วมมือในการผลิต และพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพที่สอดรับกับการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ 

อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่: https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6004?locale-attribute=th