ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘AIS’ จับมือ ‘กรมควบคุมโรค’ เพิ่มฟีเจอร์ ‘สำรวจลูกน้ำยุงลาย’ บนแอปฯ ‘อสม. ออนไลน์’ หนุน อสม. ป้องกันไข้เลือดออก 3 ปีที่ผ่านมา สำรวจลูกน้ำยุงลายกว่า ‘100 ล้านครั้ง’


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS จัดแถลงข่าว “สถานการณ์โรคไข้เลือดออก และแนวทางการดำเนินงานการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย” เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 เนื่องในโอกาสวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มิ.ย. ของทุกปี และฉายภาพการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ผ่านฟีเจอร์รายงานการสำรวจลูกน้ำยุงลายในแอปพลิเคชัน “อสม. ออนไลน์” ซึ่งช่วยให้การรายงานข้อมูลของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดย 3 ปีที่ผ่านมา มีการสำรวจลูกน้ำยุงลายแล้วกว่า 100 ล้านครั้ง

1

ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สถิติผู้ป่วยไข้เลือดออกของปี 2565 นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- ปัจจุบัน พบผู้ป่วยแล้วจำนวน 3,386 ราย โดยลักษณะกราฟของผู้ติดเชื้อคล้ายคลึงกับปีที่ผ่านมา แต่ยังมีที่น่ากังวลอยู่ 2 ประเด็น

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. โรคไข้เลือดออก มีวงจรการระบาด (Cycle) ที่ไม่ได้ระบาดทุกปี กล่าวคือการระบาดใหญ่ของโรคหนึ่งครั้ง จะทำให้ประชาชนหมู่มากมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีอายุประมาณ 2-3 ปี และหมดไป หลังจากนั้นจะทำให้ประชาชนเสี่ยงที่จะเป็นไข้เลือดออกอีกครั้ง โดยการระบาดของโรคไข้เลือดออกครั้งล่าสุดคือเมื่อปี 2562 ซึ่งในปีนี้จะครบ 3 ปี จึงมีโอกาสเกิดการระบาดใหญ่ของโรคไข้เลือดออกครั้งใหม่

2. ขณะนี้กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นวิถีชีวิตใหม่ (Next Normal) ทำให้กิจกรรมหลายอย่างเริ่มกลับมาทำได้อีกครั้ง เช่น การไปโรงเรียน กิจกรรมการพบเจอกันของผู้คนมากขึ้น ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายด้วยเช่นกัน อาทิ อ่างน้ำในห้องน้ำโรงเรียนที่ผ่านมาอาจไม่มีการทำความสะอาด ขยะที่เพิ่มขึ้นและยังไม่ได้รับการทิ้งเมื่อฝนตกทำให้มีน้ำขังจนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ฯลฯ

3

ดร.พญ.ฉันทนา กล่าวว่า ที่ผ่านมาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะต้องลงพื้นที่ชักชวนประชาชนให้กำจัดลูกน้ำ และรายงานผลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ทั้งจำนวนบ้าน ภาชนะ รวมถึงค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายที่พบในชุมชนและในบ้าน โดยใช้กระดาษจดบันทึกแล้วส่งไปให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แต่ปัจจุบันได้ใช้แอปพลิเคชัน “อสม. ออนไลน์” ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยเอไอเอส ทำให้การรายงานทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยปลายนิ้ว

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากแอปพลิเคชัน “อสม. ออนไลน์” ทำให้ทางกรมควบคุมโรคสามารถนำไปวิเคราะห์ร่วมกับจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อคาดการณ์การเกิดการระบาดในพื้นที่ และจำแนกเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงต่ำ รวมไปถึงนำไปใช้ในการเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อนำโดยยุงลาย เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้อีกด้วย

“ในการป้องกันจุดที่สำคัญที่สุดคือการจัดการกับลูกน้ำ เพราะฉะนั้นแอปพลิเคชันของเอไอเอส มีนัยยะสำคัญมากในการควบคุมป้องกันไข้เลือดออก เพราะว่าถ้าเรารู้แหล่งเมื่อไหร่ว่ามีลูกน้ำเยอะ เราก็ไปจัดการ มันก็เป็นการป้องกันแต่ต้นลมเลย และมัน Early warning มากๆ ทำให้เกิดการเตือนภัย การเตรียมมาตรการต่างๆ และสามารถนำไปสู่การป้องกันไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะฉะนั้นต้องขอบคุณทางทีมเอไอเอสที่มาร่วมพัฒนาแอปพลิเคชันอันนี้ เพื่อให้ชาวสาธารณสุขสามารถดูแลประชาชนได้อย่างทันเวลามากขึ้น” ดร.พญ.ฉันทนา ระบุ

สำหรับข้อมูลการสำรวจของ อสม. ในปี 2563 จากทั้งสิ้น 383 ล้านภาชนะ พบยุงลาย 11 ล้านภาชนะ และในปี 2564 จากจำนวน 558 ล้านภาชนะ พบยุงลาย 13 ล้านภาชนะ และในปี 2565 (พ.ค.) จาก 171 ล้านภาชนะ พบยุงลาย 3.7 ล้านภาชนะ

2

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส (AIS) กล่าวว่า ทางเอไอเอสได้เพิ่มฟีเจอร์การสำรวจลูกน้ำยุงลายมาช่วยในการทำงานของเจ้าหน้าที่ อสม. เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพราะตระหนักว่าโรคไข้เลือดออกเป็นหนึ่งในโรคที่ประชาชนมีความเสี่ยง โดยทำให้การรายงานมีความเรียลไทม์ เข้าถึง และแม่นยำ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปที่ รพ.สต. และสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำให้จังหวัดนั้นๆ เห็นภาพรวมทั้งหมดไม่ว่าจะใน ตำบล หรือหมู่บ้าน ทำให้ อสม. จัดการปัญหาได้ถูกต้อง

นอกจากนี้ อสม. ยังทำหน้าที่ให้ความรู้กับประชาชนเรื่องการป้องกัน โดยสิ่งที่ตามมาคือช่วยเปิดโอกาสในการสร้างมีส่วนร่วม (Engagement) ผ่านกระบวนการเรียนรู้และแนะนำ ทำให้ชาวบ้านเกิดการตระหนักรู้ในการป้องกันมากขึ้น

นางสายชล กล่าวต่อไปว่า ในขณะนี้มี จำนวน อสม. ทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 1 ล้านคน มีการใช้งานฟีเจอร์สำรวจลูกน้ำยุงลายผ่านแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ จำนวนกว่า 5 แสนคน และ อสม. ที่มีการรายงานผลอย่างต่อเนื่องมีประมาณ 2.8 แสนคน ซึ่งสิ่งนี้เป็นการทำงานร่วมกันจนในที่สุดสามารถที่จะเข้าไปตัดวงจรความเสี่ยงจากไข้เลือดออก

“ทางเอไอเอสมีเจตนารมณ์สำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทย ความเหลื่อมล้ำในที่นี้หมายถึงการเข้าถึงข้อมูลและการเข้าถึงการให้บริการในทุกภาคส่วน ซึ่งในครั้งนี้คือบริบทของบริการด้านสาธารณสุข” นางสายชล กล่าว

4