ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกรณีน้องสาวของ “กุ้ง สุธิราช” นักร้องและพระเอกลิเกชื่อดัง ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง ถึงขนาดทรุดหนักจน 9 วันแล้วก็ยังไม่รู้สึกตัว ได้ทำให้ “โรคไข้เลือดออก” ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้งอย่างกว้างขวางมากขึ้นในกระแสสังคม

อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงก่อนหน้านี้จะไม่ได้มีการกล่าวถึงโรคไข้เลือดออกเท่าไหร่นัก แต่ก็ใช่ว่าที่ผ่านมาโรคนี้จะรุนแรงน้อยลงหรือจำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด 

เพราะหากมองไปที่สถานการณ์โรคไข้เลือดออกล่าสุด จากรายงานการเฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยา (506) กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ข้อมูล ณ วันที่ 1 ม.ค. 2566 – 3 ม.ค. 2567 จะพบว่ามีผู้ป่วยสะสม จำนวน 156,097 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 236.03 ต่อแสนประชากร มีผู้เสียชีวิตสะสม จำนวน 175 ราย หรือคิดเป็นอัตราป่วยตาย 0.11% ของจำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 

นอกจากนี้ เมื่อถอยไปดูในปี 2565 พบว่ามีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 45,145 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 68.23 ต่อแสนประชากร มีผู้เสียชีวิตสะสม จำนวน 29 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย 0.06% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด และถ้าขยับกลับไปอีกในปี 2562 จะอีกพบว่ามีผู้ป่วยสะสมถึง 130,705 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 196.59 ต่อแสนประชากร มีผู้เสียชีวิตสะสม จำนวน 142 ราย 

จะเห็นได้ว่าตัวเลขผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในช่วงวงรอบการระบาดใหญ่เมื่อ 2565 ลดน้อยลง ทว่า กลับดีดขึ้นรุนแรงอีกครั้งในปี 2566 ซึ่งเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 นพ.ธงชัย กีรติหัตยากร อธิบดี คร. ได้ออกมาบอกด้วยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีอากาศเย็นมากนัก แต่ยุงลายที่เป็นพาหะนำ 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกายังสามารถขยายพันธุ์ได้ 

มากไปกว่านั้น “The Coverage” ยังได้เคยพูดคุยกับ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์เชี่ยวชาญศูนย์เด็ก (โรคติดเชื้อ) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อช่วงต้นปี 2565 ภายในงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก "Dengue-Zero" จาก 11 องค์กรพันธมิตรด้านสุขภาพ ตั้งเป้าลดอัตราการป่วย ลดอัตราการเสียชีวิต และควบคุมแหล่งลูกน้ำยุงลาย ภายในระยะเวลา 5 ปี (2565-2569) 

ในช่วงหนึ่งของการสนทนา ศ.พญ.กุลกัญญา ได้กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก มีพาหะที่สำคัญคือ “ยุงลาย”  ที่สามารถเพาะพันธุ์ที่ไหนก็ได้ และโรคไข้เลือดออก ยังเป็นโรคที่ส่วนมาก “ไม่มีอาการ” และเราอาจเคยติดเชื้อกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งผู้ป่วยที่ไม่มีอาการยังไม่น่ากังวล เนื่องจากสามารถหายเองได้ แต่ส่วนที่ต้องกังวลคือผู้ป่วยที่มีอาการหนักต้องเข้าไอซียู (ICU) ที่ส่วนมากมักมาพร้อมกับอาการไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียนมาก ปวดหัวรุนแรง อ่อนเพลียรุนแรง ฯลฯ

ศ.พญ.กุลกัญญา ยังได้เน้นย้ำอีกว่า สิ่งสำคัญในการจะต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกได้นั้น ต้องอาศัยตัวช่วยหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน และหนึ่งในนั้นคือ “วัคซีนป้องกัน” 

สอดคล้องกับ นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ที่ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก “หมอจิรรุจน์” เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2567 ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนไข้เลือดออก TDV ที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่ต้องตรวจภูมิก่อนฉีด สามารถฉีดได้ในเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป ผู้ใหญ่อายุไม่เกิน 60 ปีได้ มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับในเด็ก ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 80.5% รวมถึงป้องกันอาการร้ายแรงได้ 90.5% ตลอดจนลดโอกาสการเสียชีวิตได้ถึง 95% สำหรับเชื้อเดงกี-2 

สำหรับการฉีดวัคซีนดังกล่าวจะฉีดเพียงแค่ 2 เข็ม โดยให้มีระยะห่างกัน 3 เดือนจากเข็มแรกไปเข็มที่สอง ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นพอป้องกันได้ตั้งแต่หลังฉีดเข็มแรก 2 สัปดาห์ และจะอยู่ได้อย่างน้อย 5 ปี หลังจากมีการกระตุ้นเข็มที่ 2 ก่อนจะมีประสิทธิภาพลดลงเล็กน้อย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันวัคซีนไข้เลือดออกมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ 1. CYD-TDV (Dengvaxia) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้อ่อนแรง โดยมีประสิทธิภาพจากผลการศึกษาที่ 25 เดือน หลังฉีดวัคซีน ป้องกันติดเชื้อแบบมีอาการ 65%ป้องกันการนอนโรงพยาบาล 80% ป้องกันติดเชื้อแบบรุนแรง 93% อายุที่สามารถฉีดได้ 6-45 ปี จำนวนการฉีด 3 เข็มโดยมีระยะห่างกัน 6 เดือน ฉีดได้เฉพาะผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยเป็นไข้เลือดออก ควรปรึกษาแพทย์ และตรวจเลือดก่อนการฉีด

2. TDV (Qdenga) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้อ่อนแรงเช่นเดียวกัน โดยมีประสิทธิภาพผลการศึกษาที่ 12 เดือน หลังฉีดวัคซีน ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 80% ป้องกันการนอนโรงพยาบาล 90% และป้องกันการติดเชื้อรุนแรง 86% อายุที่สามารถฉีดได้ 4-60 ปี จำนวนการฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน แต่สิ่งที่แตกต่างกันกับวัคซีน CYD-TDV โดยวัคซีน TDV สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยเป็น และไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน รวมถึงไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน 

ที่มา : 
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/dengue-fever-vaccine/
https://www.thecoverage.info/news/content/3063
https://www.facebook.com/share/p/7jdMJmvNsZ6wxJfQ/?mibextid=WC7FNe
https://lookerstudio.google.com/u/0/reporting/dfa7d4e2-b7f5-48ed-b40a-54f1cd4cbdfb/page/cFWgC?s=uJijraAskGk