ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“โรคไข้เลือดออก” นับว่าเป็นอีกหนึ่งโรคประจำถิ่นของประเทศไทยที่อยู่มายาวนานจนชินหู เพราะเรามักจบพบเจอกับป้ายรณรงค์ รวมไปถึงวิธีกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของ “ยุงลาย” พาหะตัวฉกาจที่เป็นชนวนของโรคนี้อยู่ตลอดเวลา

ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังเป็นโรคที่ผู้ปกครองหลายคนกังวลเหลือเกินว่าจะเกิดขึ้นกับบุตรหลานของตัวเอง เพราะในขณะนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค ยังคงเป็นการรักษาด้วยการประคับประคองตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี ช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การระบาดของไข้เลือดออกในประเทศไทยยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนผู้คนกว่า 350,000 รายที่ต้องเจ็บป่วยจากโรคนี้ โดยในปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนผู้ป่วยพุ่งสูงกว่า 130,000 ราย ซึ่งนับว่าเป็นเลขที่น่ากังวล

ทำให้เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565 ภาคีเครือข่ายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 11 องค์กร ร่วมกันลงนามข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก “Dengue-Zero” เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2569 (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thecoverage.info/news/content/3034)

“The Coverage” ได้รับเกียรติจาก ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์เชี่ยวชาญศูนย์เด็ก (โรคติดเชื้อ) คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ พญ.ดารินทร์ อารีย์โชคชัย รองผู้อำนวยการกอง สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกันฉายภาพของ “โรคไข้เลือดออก” ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ป่วยไม่มีอาการ เราอาจเคยติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ศ.พญ.กุลกัญญา อธิบายว่า โรคไข้เลือดออกมีพาหะที่สำคัญคือ “ยุงลาย” สามารถเพาะพันธุ์ที่ไหนก็ได้ และโรคไข้เลือดออกยังเป็นโรคที่แปลกตรงที่เราอาจจะเคยติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะส่วนมากคนที่ติดเชื้อจะ “ไม่มีอาการ” โดยจะมีผู้ที่ติดเชื้อที่มีอาการอยู่ประมาณ 20-30% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด

มากไปกว่านั้นสำหรับผู้ป่วยเมื่อติดเชื้อครั้งแรกอาจจะไม่มีอาการ แต่ถ้าติดเชื้อเป็นครั้งที่ 2 ก็อาจจะมีอาการมาก-น้อยก็เป็นได้ หรือในการติดเชื้อครั้งที่ 3-4 ก็อาจจะกลับมาไม่มีอาการอะไร แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นยังสามารถติดเชื้อและเป็นเสมือนพาหะนำไวรัสไปได้อีกหลายที่ ฉะนั้นการป้องกันยุงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

พญ.ดารินทร์ อธิบายเสริมว่า ข้อมูลอัตราป่วย-เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกย้อนหลังเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วต่อปีมีรายงานผู้ป่วยประมาณ 7-8 หมื่นราย ขณะเดียวกันอัตราของผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ 1:1,000 ซึ่งถ้าหากมองในแง่ของการป่วย เด็กวัยเรียน อายุ 5-14 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ

อย่างไรก็ดี กลุ่มที่มีอัตราป่วยรองลงมานั่นก็คือ กลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-24 ปี แต่ทว่าในช่วงหลังก็พบว่ากลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

“เมื่อเป็นวัยรุ่นหลายๆ คนเมื่อมีไข้เขาก็จะทนไม่ไปหาหมอ หรือไม่ไปตรวจวินิจฉัย ซื้อยารับประทานเอง หลายๆ คนอยู่หอพักคนเดียว หรือต้องไปทำงานเนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มทำงาน หรือเป็นหนักศึกษาอยู่หอพักคนเดียว

“เราก็จะพบว่ากลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มมารักษาค่อนข้างช้าหลังจากที่มีอาการไข้ก็ทำให้เสียชีวิตมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต” พญ.ดารินทร์ ระบุ

หากมองตัวเลขอัตราป่วยที่อยู่ราวๆ 7-8 หมื่นรายนั้น ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวนั้นยังเป็น Under Report เพราะตัวเลขที่รายงานเป็นตัวเลขของผู้ป่วยที่มีอาการและเข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งตรงนี้ยังมีผู้ที่ป่วยแล้วไม่มีอาการอยู่มาก

“70,000-80,000 คือต้องเข้าโรงพยาบาล และได้รับการวินิจฉัย ซึ่งก็มีการคาดการณ์ไว้ว่านอนโรงพยาบาลแค่ 25% ที่ไม่ได้นอนโรงพยาบาลก็มีเยอะกว่านั้น 3-4 เท่า ตัวเลขจริงๆ อาจจะหลายแสนมาก” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว

คนที่แข็งแรงที่สุดคือคนที่เสี่ยงที่สุด

โรคไข้เลือดออกนับเป็นโรคประหลาด เพราะคนที่มีร่างกายแข็งแรงที่สุดกลับพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด ขณะเดียวกันคนที่ไม่แข็งแรง-ภูมิต้านทานไม่ดีกลับมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการเป็นโรครุนแรง

ศ.พญ.กุลกัญญา ขยายความว่า กระบวนการกำจัดไวรัสจะเหมือนกับการอยู่ในสนามรบและยิงปืนต่อสู้กับข้าศึก ซึ่งผลที่ตามมาคือปืนทำให้บ้านพังไปด้วย ฉะนั้นอาการต่างๆ ของโรคไข้เลือดออกกลายเป็นการอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสู้กับไวรัส

สำหรับอาการของโรคที่หนัก เนื่องมาจากความรุนแรงที่เกิดจากกระบวนการต่อสู้ของระบบภูมิต้านทานทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ป่วยช็อก และก็อาจจะทำให้อวัยวะทำงานล้มเหลวได้

“ยิ่งคนหนุ่มสาววัยกำลังแข็งแกร่งที่สุดอายุ 15-24 ปี โดยเฉพาะคนที่อวบๆ แข็งแรงๆ สูง จะเสี่ยงต่อโรครุนแรงที่สุด และระบบภูมิต้านทานจะแรงมากในการต่อสู้กับไวรัส” ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุ

อย่างไรก็ดีหากผู้ป่วยไม่มีอาการอะไรก็ยังไม่น่ากังวล เพราะโรคไข้เลือดออกสามารถหายเองได้ แต่ที่ต้องกังวลจริงๆ นั่นก็คือผู้ป่วยที่มีอาการหนักจนต้องเข้า ICU เป็นต้น ซึ่งส่วนมากจะมาพร้อมกับอาการมีไข้สูง ปวดกระบอกตา ปวดหัว ปวดเมื่อยเนื้อตัว คลื่นไส้อาเจียน ทานข้าวไม่ได้

มากไปกว่านั้นก็จะมีสัญญาณเตือนอาการที่บ่งบอกถึงภาวะรุนแรง เช่น อาเจียนมาก ปวดหัวรุนแรง อ่อนเพลียรุนแรง คลื่นไส้ไม่สามารถทานอะไรได้ นอกจากนี้หากเจาะเลือดก็จะพบว่ามีเกล็ดเลือดต่ำลงอย่างรวดเร็ว หรือมีระดับค่าตับสูง

สำหรับผู้ป่วยที่ปวดท้องมากๆ บริเวณด้านขวาบน ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะตับบวม-ตับอักเสบ ซึ่งจะพบว่ามีการที่รุนแรงทานอะไรไม่ได้ ไข้สูง คลื่นไส้ ซึ่งอาการเหล่านั้นอธิบายได้ตับอักเสบ จำเป็นต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด

ศ.พญ.กุลกัญญา อธิบายว่า อาการรุนแรงของโรคจะแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ 1.เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย บางคนอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ หรือเลือดออกตามผิวหนัง 2. บางคนดูเหมือนไข้จะลด แต่มีเหงื่อออก ตัวเย็นจนเกิดอาการช็อก 3. อวัยวะถูกคุกคามอย่างรุนแรง เช่น สมองอักเสบ ตับอักเสบ ตับวาย บางรายมาด้วยอาการทางหัวใจ มีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น

“เป็นความรุนแรง 3 แบบ บางครั้งอาจจะเกิดขึ้นพร้อมกัน 3 อย่าง ไม่รอด บางคนบอกว่าหากเป็นไข้เลือดออกเมื่อถึงมือแพทย์ต้องไม่ตายอันนี้ไม่จริง ต่อให้เป็นหมอที่เก่งที่สุดในประเทศไทยถ้ารุนแรงมากๆ หรือกระทั่งมาเร็วก็อาจจะเสียชีวิตได้ แต่การที่มาหาหมอเร็วแล้วหมอรักษาได้รวดเร็ว ดูแลใกล้ชิดก็ลดการเสียชีวิตได้มาก” ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุ

ผู้ป่วยอาจสูงถึง 9 หมื่นรายเมื่อคนกลับมารวมตัว

พญ.ดารินทร์ อธิบายว่า จากข้อมูลของโรคไข้เลือดออกที่ได้รับในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าตัวเลขรายงานโรคไข้เลือดออกนั้นลดลง เพราะประชากรเคลื่อนย้ายลดลง ไม่เกิดการรวมตัว เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ส่วนอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เห็นได้ใช้นั่นคือการต้องทำงานอยู่ที่บ้าน หรือ Work Form Home นานๆ จากผลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย หรือแหล่งเพาะพันธุ์ของ รวมไปถึงขยะที่ไม่ได้ใช้งานที่ถูกทิ้งรอบตัวบ้านลดลงอย่างชัดเจน

“ปรากฏว่าพอปี 2564 ช่วงที่ Work Form Home ยาวๆ ขยะที่เป็นแหล่งน้ำขังแล้วเป็นขยะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วเจอลูกน้ำ ลดลง ประมาณร้อยละ 9 ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าช่วงที่เรา Work Form Home คนมีเวลาที่จะทำความสะอาดบ้าน เก็บบ้าน ทำให้ขยะลด และไข้เลือดออกก็ลดลงอย่างชัดเจน” พญ.ดารินทร์ ระบุ

ทว่าในปี 2565  เมื่อเด็กกลับมาเรียนที่โรงเรียนแล้วเจอการแพร่ระบาด โรงเรียนก็จำเป็นจะต้องเปิดๆ ปิดๆ ตรงนี้น่าเป็นห่วงเพราะเด็กจะกลับเข้ามาเรียนในขณะเดียวกันก็จะมีช่วงที่ต้องปิด ซึ่งเมื่อปิดแล้วหากไม่มีใครดูแลสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน ไม่ได้รับการทำความสะอาด ล้างแท็งก์น้ำ ส่วนนี้ก็จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เพราะไม่ได้ถูกใช้งานมาเป็นเวลานาน

“จริงๆ ก่อนเปิดเทอมก็จะรณรงค์ให้โรงเรียนทำความสะอาดแท็งก์น้ำ เก็บขยะ ดูแลยางรถยนต์สนามเด็กเล่น ไม่ให้มีแหล่งน้ำขังที่ยุงจะลงไปวางไข่ พอปิดๆ เปิดๆ ไม่แน่นอน มาตรการพวกนี้จะทำลำบาก” พญ.ดารินทร์ กล่าว

สำหรับสิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงอีกหนึ่งเรื่องนั่นก็คือ คนจะกลับมาเดินทาง กลับมารวมตัวกัน และประจวบกับเมื่อปีที่ผ่านมาจำนวนของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกต่ำมาก ซึ่งตรงนี้จะเป็นเรื่องของภูมิคุ้มกัน เมื่อไม่ได้ติดเชื้อเป็นเวลานานภูมิคุ้มกันในประชากรจะลดลง ถ้าปีใดไม่มีการระบาด หรือจำนวนผู้ป่วยต่ำ โดยปกติแล้วในปีถัดไปจำนวนผู้ป่วยมักจะสูงขึ้นจากการที่ประชากรไม่มีภูมิคุ้มกันหรือหายจากการติดเชื้อไประยะหนึ่ง

“ปี 65 เราคาดการณ์ว่าถ้ากลับมาเปิดประเทศ คนกลับมารวมตัวกันใหม่ เราอาจจะเจอผู้ป่วยสูงถึงประมาณ 95,000 ราย ก็คือเรียกว่าอาจจะสูงกว่าปกติที่มีประมาณ 70,000 – 80,000 ราย อันนี้คือเป็นสถานการณ์ที่เรียกว่ารุนแรงที่สุด” พญ.ดารินทร์ ระบุ

ศ.พญ.กุลกัญญา อธิบายเสริมว่า ตรงนี้ก็จะประจวบเหมาะกับเรื่องน้ำ ฝน ด้วยเช่นกัน หากมีฝนมากแล้วก็มีกิจกรรมนอกบ้านมาก มีขยะมาก ก็จะเป็นการส่งเสริมกันและกัน ซึ่งขยะกับน้ำนิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะยุงลายจะชอบวางไข่ในน้ำนิ่ง

เมื่อ “วัคซีนคือความหวังที่สำคัญ

แน่นอนว่าเมื่อ “ยุงลาย” เป็นพาหะก็ต้องมีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงให้มีน้อยที่สุด แต่ทว่าท้ายที่สุด การจะต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกนั้นยังต้องอาศัยตัวช่วยหลายๆ อย่างเข้ามาใช้ร่วมด้วย และตัวช่วยสำคัญที่หวังนั่นก็คือ “วัคซีน”

สำหรับการระบาดในทุกโรค เมื่อหายแล้วคนจะมีภูมิคุ้มกันเพิ่ม แต่โรคไข้เลือดออก แม้ติดเชื้อ มีภูมิคุ้มกันก็สามารถเป็นใหม่

ศ.พญ.กุลกัญญา ขยายความไว้ว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประหลาด ยังไม่สามารถสู้ได้ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการเป็นแต่ละครั้งก็ไม่ป้องกันการติดเชื้อครั้งต่อไปได้สมบูรณ์

“ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีวัคซีนในฝัน เรามีวัคซีนที่ใช้อยู่ในตลาดตอนนี้ แต่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่ว่ายังใช้ยาก ราคาแพง เวลาจะใช้ต้องเจาะเลือดก่อน ยังไม่เคยติดเชื้อก็ห้ามฉีด แต่หากเคยติดเชื้อแล้วฉีดได้” ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุ

ศ.พญ.กุลกัญญา ขยายความว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประหลาด หากไม่เคยติดเชื้อแล้วรับวัคซีนก็จะเปรียบเหมือนการติดเชื้อครั้งแรก และเมื่อเกิดการติดเชื้อครั้งที่ 2 ตามธรรมชาติ อาการก็อาจจะรุนแรงขึ้นได้

“ฉะนั้นเขาก็เลยบอกว่าใครก็ตามที่ไม่เคยติดเชื้อ ห้ามฉีด ต้องคนที่เคยติดเชื้อแล้วถึงฉีดป้องกันเพื่อไม่ให้การติดเชื้อครั้งต่อไป ป้องกันป่วยน้อยลง หรือป้องกันไม่ให้ติดเลย ฉะนั้นวัคซีนเหมือนเป็นตัวกระตุ้นภูมิของเราที่เคยติดเชื้อมาก่อน

“แต่นั่นก็คือวัคซีนที่มีในปัจจุบัน แต่ก็หวังว่าในอนาคตจะมีวัคซีนที่ฉีดแล้วสามารถป้องกันได้เลยไม่ว่าจะเคยติดเชื้อหรือไม่” ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุ

ศ.พญ.กุลกัญญา อธิบายว่า สำหรับโรคไข้เลือดออกนั้นเป็นเรื่องชูโรง ในวัน World NTD Day หรือวันโลกเขตร้อนที่ถูกละเลยของโลก เพราะต้องการให้เกิดความตระหนักรู้อย่างมาก ว่าทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกัน หากอยู่บ้านก็ต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หากใครที่กำลังป่วยก็ต้องไม่ให้ยุงกัด

“อันนี้สำคัญมาก อันนี้เราก็ต้องสนับสนุนให้มีวัคซีนออกมาให้เร็ว และเข้าถึงวัคซีนได้เร็ว” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว