ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคไข้เลือดออก เกิดการระบาดใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 โดยมีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 33,263 ราย อัตราการป่วย อยู่ที่ร้อยละ 50.03 และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดจำนวน 55 ราย

อย่างไรก็ดี โรคไข้เลือดออกมีวงจรการระบาดที่ไม่ได้ระบาดทุกปี นอกจากนี้ในการระบาดใหญ่หนึ่งครั้ง จะทำให้ประชาชนหมู่มากมีภูมิคุ้มกันหมู่ โดยภูมิคุ้มกันมีอายุประมาณ 2-3 ปี แล้วหมดไป

ในปี 2565 นี้ หากเป็นไปตามการคาดการณ์ด้วยอนุกรมเวลา จะพบว่ามีโอกาสที่โรคไข้เลือดออกจะกลับมาระบาดใหญ่อีกครั้ง

สัญญาณเตือนแรกของปีนี้ที่มาจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเปิดเผยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า นอกจากโรคโควิด-19 ที่ประชาชนต้องระวังแล้ว ช่วงนี้ยังควรระวังโรคไข้เลือดออกอีกโรคหนึ่งด้วย เนื่องจากการคาดการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2565 นี้

“คาดว่าจะกลับมาระบาดอีกครั้ง หลังจากที่เงียบหายไป 2 ปี เกิดจากปัจจัยภูมิคุ้มกันหมู่ของประชาชนเริ่มต่ำลง โดยที่ภูมิต้านทานชั่วคราวที่เกิดจากการระบาดใหญ่ครั้งก่อนในประชาชนลดลง” นพ.โอภาส ระบุ

นพ.โอภาส ยังได้รายงานถึงสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในขณะนั้นว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 2 ก.พ. 2565 พบผู้ป่วย 193 ราย พบมากที่สุดในภาคกลาง รองลงมาคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยจำนวนมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนครปฐม สำหรับกลุ่มอายุที่พบว่าป่วยสูงสุดคือ อายุ 5-14 ปี จำนวน 61 ราย รองลงมาคือ อายุ 15-24 ปี จำนวน 48 ราย ผู้เสียชีวิตมีทั้งหมด 2 ราย เป็นผู้ใหญ่ทั้งสองราย

นอกจากนี้ ในประกาศขอความร่วมมือร่วมดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมยุงลาย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ของทาง สธ. ได้ระบุในช่วงหนึ่งถึงตัวเลขผู้ป่วยในสิ้นปีว่า อาจพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกถึง 8 หมื่นราย

1

ล่าสุดทาง ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง คร. ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 ว่า สถิติผู้ป่วยไข้เลือดออกของปี 2565 นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- ปัจจุบัน พบผู้ป่วยแล้วจำนวน 3,386 ราย และเสียชีวิต 5 ราย

นอกจากนี้ ดร.พญ.ฉันทนา ได้ระบุถึงข้อน่ากังวลว่า ขณะนี้กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นวิถีชีวิตใหม่ (Next Normal) ทำให้กิจกรรมหลายอย่างเริ่มกลับมาทำได้อีกครั้ง เช่น การไปโรงเรียน กิจกรรมการพบเจอกันของผู้คนมากขึ้น ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายด้วยเช่นกัน อาทิ อ่างน้ำในห้องน้ำโรงเรียนที่ผ่านมาอาจไม่มีการทำความสะอาด ขยะที่เพิ่มขึ้นและยังไม่ได้รับการทิ้งเมื่อฝนตกทำให้มีน้ำขังจนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ฯลฯ

คล้อยหลังจากนั้นเพียงหนึ่งวัน ก็มีสัญญาณเตือนถึงโรคที่อาจกลับมาระบาดในรอบ 2 ปีอีกหนึ่งโรค นั่นก็คือ “โรคไข้หวัดใหญ่” ซึ่งการระบาดล่าสุดในปี 2562 มีรายงานผู้ป่วยจำนวน 390,733 ราย เสียชีวิต 27 ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุดคือ กลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไข้หวัดใหญ่ในทุกประเทศลดลงอย่างมาก แต่ในขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตาไข้หวัดใหญ่ในประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศแรกๆ ที่กลับมามีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่

นพ.มนูญ ยังได้นำสถิติการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นว่ามีมากเป็นประวัติการณ์ โดยระบุว่า รายงานจากประเทศออสเตรเลีย สถิติการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ปีนี้มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เกือบ 88,000 รายโดยมากกว่า 47,800 รายที่ได้รับการวินิจฉัยยืนยันเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

นอกจากนี้ นพ.มนูญ ได้เตือนให้คนไทยกลุ่มเสี่ยงรีบไปรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเผยว่า “หลังจากที่ได้เห็นผู้ป่วยของผมเริ่มติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หลายคน ก่อนหน้านี้ผมได้เห็นคนติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ครั้งสุดท้ายต้นปี 2563 การที่ไข้หวัดใหญ่หายไป 2 ปี ทำให้คนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันลดลงจากการที่ไม่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามธรรมชาติ และจากการที่คนจำนวนมากไม่ได้มารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่”

สอดคล้องกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ระบุเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ว่า ขณะนี้ สปสช. อยู่ในช่วงของการเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ ให้กับกลุ่มเสี่ยง กำหนดตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 31 ส.ค. 65 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเข้าสู่ช่วงระยะเวลาของการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยวัคซีนจะป้องกันการเกิดโรครุนแรงและการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน และลดความสับสนในการตรวจรักษาโควิด-19 ซึ่งสามารถฉีดควบคู่ไปกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ ตามคำแนะนำของ สธ.

2

ทั้งนี้ 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ที่มีายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปีขึ้นไป 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4. บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6. โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) 7. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

สะท้อนว่าแม้โรคระบาดร้ายแรงเมื่อผ่านกาลเวลาและกลายมาเป็นโรคประจำถิ่น ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะกลับมาระบาดได้อีกครั้ง และเมื่อติดเชื้อยังมีโอกาสที่อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ แม้จะมียาและวัคซีนเพื่อบรรเทารักษาก็ตาม

เนื่องจากทั้งโรคไข้เลือดออกและโรคไข้หวัดใหญ่ที่อาจกลับมาระบาดในปีนี้ ทั้งสองโรคได้ถูกประกาศให้เป็น “โรคประจำถิ่น” ในไทยเหมือนกัน ซึ่งก่อนหน้านั้นโรคไข้เลือดออกเป็นโรคอุบัติใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2500 ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่เกิดการระบาดใหญ่ครั้งแรกที่ประเทศฮ่องกง ปี พ.ศ. 2540

ท้ายที่สุดน่าสังเกตว่าโรคโควิด-19 ซึ่งกำลังดำเนินเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น อนาคตก็อาจเกิดสถานการณ์เช่นเดียวกับทั้ง 2 โรค โดยล่าสุดทาง คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เผยเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 ว่ากำลังหารือแผนการดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น เพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระยะ “Post-pandemic” (1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป)