ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การเกิดขึ้นของนโยบายดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก (เจอแจกจบ) ดูเหมือนว่าจะช่วยบรรเทาภาระอันหนักอึ้งของบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี สะท้อนผ่านจำนวนการครองเตียงในโรงพยาบาล กรณีผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเหลืองและสีแดง

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่บุคลากรด้านสาธารณสุขต้องสู้รบกับโรคระบาด ทำงานกันอย่างหนักหน่วงท่ามกลางความบีบคั้น นอกจากสุขภาพกายที่อ่อนล้าลงแล้ว “สุขภาพจิต” ยังกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ปฏิบัติงาน

วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม - มีนาคม 2565 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เผยแพร่งานวิจัยของ ดาวรุ่ง คำวงศ์, จีระเกียรติ ประสานธนกุล, มุทิตา พนาสถิตย์, ธนิยะ วงศ์วาร ในหัวข้อ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับงานกับภาวะสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019”

งานวิจัยดังกล่าวระบุไว้ว่า บุคลากรทางการแพทย์มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความเครียด เป็นผลมาจากการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นการมีแนวทางในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สำหรับควบคุมการแพร่ระบาดจึงเป็นปัจจัยที่เกี่ยวโยงกันและสามารถยืดหยุ่นได้ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ที่สัมผัสใกล้ชิดโดยตรงกับผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล ซึ่งมาจากการระบาดของโควิดในระลอกใหม่ หรือการระบาดซ้ำ

ทั้งนี้ ความชุกของ ภาวะซึมเศร้าคิดเป็นร้อยละ 21.1 แบ่งเป็น ระดับเล็กน้อยร้อยละ 8.9 ระดับปานกลาง ร้อยละ 9.8 และระดับรุนแรง ร้อยละ 0.7

ขณะที่ “ภาวะวิตกกังวล คิดเป็นร้อยละ 22.5 แบ่งเป็น ระดับเล็กน้อยร้อยละ 10.3 ระดับปานกลาง ร้อยละ 5.0 และระดับรุนแรง ร้อยละ 4.1 และความเครียด ร้อยละ 15.3 ระดับเล็กน้อยร้อยละ 5.0 ระดับปานกลาง ร้อยละ 6.5 และระดับรุนแรง ร้อยละ 1.0

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่ 1. การปฏิบัติใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวในโรงพยาบาล 2. ความพร้อมในการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยง 3. ความเพียงพอของอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเอง 4. ความกลัวการติดเชื้อจากการปฏิบัติงาน 5. ผู้รับบริการไม่ให้ความร่วมมือตามคำแนะนำ

นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุอีกว่า ปัจจัยส่วนบุคคล อาทิ อายุ เพศตำแหน่ง วิชาชีพ ประเภทของหน่วยงาน ฯลฯ ไม่มีความสัมพันธ์กับการมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความเครียดแต่อย่างใด

กระนั้นผลการวิจัยในครั้งนี้สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้าที่พบว่า บุคลากรทางการแพทย์มีปัญหาสุขภาพจิตเหมือนกับ 3 ภาวะข้างต้น รวมถึงแพทย์มีปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนมีการระบาดของโควิด-19

ขณะที่เอกสาร Policy Brief หัวข้อ ความกังวลของคนกักตัว : เสียงสะท้อนจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งจัดทำโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สวรส. และ องค์การอนามัยโลก (WHO) มีประเด็นที่น่าสนใจเช่นกัน

งานวิจัยพบว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นนักรบด่านหน้าในสถานการณ์โควิด มีความเสี่ยงจากการทำงานเพิ่มขึ้น มีโอกาสต้องกักตัวเพิ่มมากขึ้น โดยบุคลากรที่เข้ารับการกักตัวมีความกังวล ความเครียด ความกดดัน คุณภาพชีวิตลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วง 5 วันแรกที่ยังไม่ทราบสถานะการติดเชื้อ

นอกจากสาเหตุที่มาจากสภาพจิตใจของบุคลากรที่ส่งผลต่อตนเอง อันเนื่องมาจากต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตคนเดียวบนพื้นที่จำกัดระหว่างกักตัว และความกังวลว่าบุคคลใกล้ตัวจะพลอยติดเชื้อไปด้วยแล้ว ยังมีเสียงสะท้อนจากบุคลากรทางการแพทย์อีกว่า ต้องเจอกับ ‘การกีดกันจากสังคมรอบข้าง’ ซึ่งเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตแม้ภายหลังกักตัวและไม่พบเชื้อก็ตาม

ไม่เพียงเท่านั้น งานวิจัยยังพบอีกว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องปฏิบัติหน้าที่พร้อมกับเผชิญปัญหาด้านความปลอดภัยควบคู่ไปด้วย เนื่องจากอุปกรณ์ในการป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก

คณะผู้วิจัยจึงได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1. มาตรการด้านป้องกัน บุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสสัมผัสเสี่ยงสูง ควรได้รับการจัดสรรชุด PEE อย่างมีคุณภาพและครอบคลุมอย่างเพียงพอ จัดระเบียบหมุนเวียนเพื่อลดภาระงาน ความเสี่ยง และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงควรมีการเฝ้าระวังเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดแม้ส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม

2. มาตรการด้านสนับสนุน ควรมีมาตรการในการดูแลให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องกักตัวหรือเจ็บป่วย อาทิ การรักษาพยาบาล การบริการอาหาร การจัดการความเครียด ฯลฯ อีกทั้งควรปรับค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานมากขึ้น

3. มาตรการด้านการสื่อสาร ต้องมีการสื่อสารกับสังคมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตหลังติดเชื้อโควิด-19 เช่น เมื่อรักษาหายเป็นปกติ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ หรือบุคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณสุขที่เป็นด่านหน้า แม้ต้องปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์สัมผัสเสี่ยงสูง กระนั้นก็มีมาตรการป้องกันอย่างรัดกุม ส่งผลให้การแพร่กระจายได้น้อยมาก