ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

IHPP เผยผลการศึกษาผลกระทบของโควิด-19 ต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ระหว่างปี พ.ศ.2563 –2564 พบ มีการเข้ารับบริการลดลง ในกลุ่มผู้ป่วยใน ผู้ป่วยฉุกเฉิน และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แนะโรงพยาบาลระดับ S และ A เตรียมรับมือโอมิครอน ให้ทบทวนแผน BCP (Business continuity plan) เพื่อให้สามารถคงบริการ emergency และลดการเสียชีวิตจากความเจ็บป่วยที่ไม่ใช่โควิด


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้รับทราบผลการศึกษาเรื่องผลกระทบของโควิด 19 ต่อการเข้าถึงบริการ และการตายส่วนเพิ่ม หรือการตายส่วนเกิน (การตายที่เพิ่มขึ้นจากการตายตามปกติในอดีตในช่วงเวลาเดียวกัน) ที่นำเสนอโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)

ทั้งนี้ เป็นการการศึกษาผลกระทบของโควิด 19 ต่อการเข้าถึงบริการ โดยนำข้อมูลก่อนช่วงประกาศล็อคดาวน์ครั้งที่ 1 (ต.ค. 2559 - มี.ค. 2563) จากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มาสร้าง model ทำนายแล้วเปรียบเทียบกับค่าที่เกิดจริงในช่วงเกิดการระบาดโควิด-19 (เม.ษ. 2563-ก.ย. 2564)

นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า จากผลการศึกษาในช่วงเดือน เม.ย. 2563- ก.ย. 2564 พบว่า ประชาชนไทยเข้ารับบริการผู้ป่วยในลดลงถึง 14.1% หากประเมินดูตามรอบการระบาดการระบาดระลอกแรกเดือน เม.ย. 2563 ที่มีการรับผู้ป่วยในลดลงมากที่สุดถึง 29%

ขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยวิกฤต แยกตามประเภทของโรค พบว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายชนิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน (STEMI) ในภาพรวมมีอัตราการรับผู้ป่วยลดลง 6.8% อัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลซ้ำในระยะ 28 วัน เพิ่มขึ้น 32.5% โดยเฉพาะการระบาดระลอกแรกเดือน เม.ย. 2563 ที่มีอัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลซ้ำสูง 82.2% และการระบาดระลอกที่ 3 เดือน เม.ย.-พ.ค. 2564 มีอัตราการเข้ารักษาซ้ำสูงถึง 104.9%

โรคหลอดเลือดสมองอุดตันหรือแตก (Stroke) ในภาพรวมมีอัตราการรับผู้ป่วยลดลง 7.4% และการเข้าถึงยาละลายลิ่มเลือดลดลง 13% โดยเฉพาะการระบาดระลอกแรก เดือน เม.ย. 2563 มีอัตราการรับผู้ป่วยลดลง 21.6% และการระบาดระลอกที่ 4 เดือน มิ.ย.- ก.ย. 2564 มีอัตราการเข้าถึงบริการลดลง 21.8% และการเข้าถึงยาละลายลิ่มเลือดลดลง 22.3% อย่างไรก็ดีการระบาดของโควิด-19 ยังพอมีผลกระทบด้านบวกอยู่บ้าง คือกลุ่มผู้ป่วยอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรที่ศีรษะลดลง 14.6% และการบาดเจ็บในหลายระบบพร้อมๆ กัน ลดลง 3.9%

นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ในด้านกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคเบาหวานมีอัตราการรับผู้ป่วยในลดลง 12.1% ในภาพรวม โดยลดลงอย่างมากในการระบาดระลอกที่ 1, 3 และ 4 ขณะที่โรคความดันโลหิตสูง มีอัตราการรับผู้ป่วยลดลง 2.2% ในภาพรวม แต่พบว่าหลังจากการระบาดระลอกแรกไปแล้ว มีอัตราการเข้านอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้นถึง 12.2% และอัตราการตายในโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้น 6.7% ด้วย ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้ไม่พบในโรคเบาหวาน

ส่วนโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีอัตราการรับผู้ป่วยลดลง 8.9% ในภาพรวม และโรคหอบหืดมีอัตราการรับผู้ป่วยลดลง 29.8% ในภาพรวม อย่างไรก็ตามกลับพบว่าในโรคหอบหืดอัตราการตายในโรงพยาบาลสูงขึ้น 48% และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 46.7% ในภาพรวม

ด้านกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าอัตราการผ่าตัดลดลงอย่างชัดเจน เช่น การผ่าตัดตาต้อกระจกลดลง 14.1% ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมลดลง 42.1% ส่วนผู้ป่วยมะเร็ง อัตราการรับตัวเป็นผู้ป่วยในก็ลดลง 4.6% ส่วนการทำเคมีบำบัดและการฉายแสงก็ลดลงประมาณ 10% และผู้ป่วยโรคไต มีอัตราตายในโรงพยาบาลสูงขึ้น 10.2%

ขณะที่กลุ่มแม่และเด็ก พบว่าอัตราการตายของมารดาเพิ่มขึ้นถึง 153.4% ในภาพรวม โดยเฉพาะการระบาดระลอกที่ 4 อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 450.9% จากจำนวนมารดาที่เสียชีวิตด้วยการติดเชื้อโควิด และอัตราการแท้งพบว่ามีตัวเลขเพิ่มขึ้น 10-20% ในช่วงการระบาดระลอกที่ 2 และ 3 ส่วนด้านการฝากครรภ์ พบว่าอัตราครรภ์เป็นพิษเพิ่มสูงขึ้นในการระบาดระลอกที่ 2 ประมาณ 27.9% คาดว่าเกิดจากการเข้าถึงบริการฝากครรภ์ที่ทำได้ยาก แต่เมื่อโรงพยาบาลสามารถปรับตัวบริการได้ ตัวเลขจึงได้ลดลงมาเป็นปกติ

“แม้ว่าในหลายกลุ่มโรคจะได้รับผลกระทบในด้านลบ แต่ในกลุ่มโรคติดเชื้อได้รับผลกระทบในด้านบวก โดยโรคไข้หวัดใหญ่ มีการรับผู้ป่วยในลดลง 80-90% เนื่องจากคนไทยใส่หน้ากากและรักษาระยะห่างได้ดี ส่วนโรคปอดบวมก็มีอัตราการป่วยที่ลดลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดในระลอกที่ 4” ที่ปรึกษา IHPP กล่าว

นอกจากนี้ ในด้านผลการศึกษาเบื้องต้นของ IHPP ในการศึกษาการตายส่วนเพิ่มเมื่อเทียบกับการประมาณการทางสถิติกรณีที่ไม่มีการระบาด โดยทำการศึกษาการตายของประชากรไทยทั้งประเทศเป็นรายสัปดาห์ตั้งแต่ ม.ค. 2563-ก.ย. 2564 นั้น นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ในภาพรวมมีการตายส่วนเพิ่มในปี 2564 สำหรับเพศชายทุกกลุ่มอายุอยู่ที่ 0.3% โดยมีการตายส่วนเพิ่มมากที่สุดระหว่างเดือน ก.ค.- ส.ค. 2564 และกลุ่มอายุที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 15-64 ปี ซึ่งในเพศชายมีการตายส่วนเพิ่ม 6,174 ราย คิดเป็นการตายส่วนเพิ่ม 6.1% ของค่าประมาณการ และเพศหญิงมีการตายส่วนเพิ่ม 1,657ราย คิดเป็น 3.5% ของค่าประมาณการ รองลงมาคือกลุ่มอายุ 65-74 ปีเฉพาะเพศชายมีการตายส่วนเพิ่ม 72 ราย หรือ 0.1%  

ทั้งนี้ หากพิจารณาสาเหตุการเสียชีวิต พบว่าการตายส่วนเพิ่มจากโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจในปี 2563 ในเพศชายอยู่ที่ 21.3% และในเพศหญิง 7.6% และเพิ่มขึ้นในปี 2564 เพศชายอยู่ที่ 28.5% และในเพศหญิงอยู่ที่ 11.3%  ขณะที่การตายจากการติดเชื้อปรสิต ในปี 2564 เพศชายมีอัตราการตายส่วนเพิ่ม 84.0% และหญิง 75.3% และการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในปี 2563 เพศชายมีอัตราการตายส่วนเพิ่ม 3.8% และหญิง 4.6% ทั้งนี้สาเหตุการตายยังเป็นข้อมูลไม่เป็นทางการ

“ผลการศึกษาดังกล่าวสามารถนำมาปรับใช้เตรียมการรับมือกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่คาดว่าจะระบาดเป็นระลอกที่ 5 ในช่วงต้นปี 2565 นี้ โดยเสนอให้ทบทวนและดำเนินการตามแผน BCP (Business continuity plan) ของโรงพยาบาลระดับ S และ A เพื่อให้สามารถคงบริการ emergency และลดการเสียชีวิตจากความเจ็บป่วยที่ไม่ใช่โควิด ส่วนการจัดการกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มสีเขียว ให้ดูแลด้วยระบบ Home Isolation, Community Isolation ส่วนโรงพยาบาลสนาม ให้เตรียมไว้สำหรับเคสสีเหลือง และให้โรงพยาบาลเป็นพื้นที่ดูแลสำหรับเคสสีแดง นอกจากนี้รัฐควรสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึง ATK ที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง และสามารถใช้งาน แปลผลเองได้อย่างถูกต้อง เพิ่มความครอบคลุมของ วัคซีนโควิด รวมถึงวัคซีน booster dose และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าโรงพยาบาลทุกระดับมีความพร้อมและปลอดภัย สามารถเข้าถึงได้เมื่อมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน” ที่ปรึกษา IHPP กล่าว

นพ.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้แล้วหลังการระบาดของโควิด-19 รัฐควรมีนโยบายเพื่อคงผลกระทบเชิงบวกจากมาตรการโควิด เช่น การใส่หน้ากากอนามัยเพื่อลดการเจ็บป่วยจากไข้หวัดใหญ่ และโรคหัด รวมถึงขยายระบบบริการให้มีความหลากหลายเพิ่มเติมจากการให้บริการในสถานพยาบาลเท่านั้น เพื่อให้ระบบสามารถครอบคลุมผู้ป่วยได้มากขึ้นในทุกสถานการณ์