ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์ของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่าง “โอมิครอน” กำลังเป็นที่น่ากังวลใจอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่ประชาชนในหลายประเทศถือโอกาสเดินทางไปมาหาสู่กัน อันนำไปสู่ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดให้มากขึ้นไปกว่าเดิม

ข้อมูลทั้งหมดที่มีในขณะนี้ ยังชี้ไปในทิศทางที่ว่า “โอมิครอน” จะเป็นเชื้อที่เพียงแค่ติดง่าย แต่จะไม่มีอาการรุนแรง และสามารถหายได้เร็ว ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล กระทั่งประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกาก็ได้ออกมาระบุในวันที่ 27 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมาว่าไม่จำเป็นต้องตระหนกตกใจแต่อย่างใด ขอเพียงแค่ระวังตัวให้ดีและรับวัคซีนตามที่หน่วยงานสาธารณสุขแนะนำเอาไว้

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจำนวนหนึ่งจากสหราชอาณาจักรและอินเดียก็ได้แสดงความกังวลว่า โอมิครอนจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักและระบาดหนักในปี 2565 ที่จะถึงนี้ รวมถึงจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมหาศาลอีกด้วย เพราะแม้จะมีรายงานว่าความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเจ็บป่วยและนำไปสู่การเสียชีวิตน้อย แต่ความสามารถของโอมิครอนคือการหลบภูมิคุ้มกันได้ แม้กระทั่งภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีน ดังนั้นจึงยังไม่มีคำตอบว่าจริงๆ แล้วโอมิครอนอันตรายมากน้อยเพียงใด

จากรายงานในหลายประเทศ ก็ได้เริ่มพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโอมิครอนแล้ว เช่น ในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ในเยอรมนี เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. และในออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเพิ่มมาตรการของภาครัฐเพื่อลดการแพร่ระบาดและรักษาชีวิตผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทศกาล “ปีใหม่” ที่ผู้คนกำลังออกมารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลอง ซึ่งในแต่ละประเทศทั่วโลกก็ต่างมีแนวทางในการป้องกันที่แตกต่างกันออกไป

ทั่วโลกขยับ รับมือโอมิครอน

สหรัฐอเมริกา รัฐบาลและศูนย์ป้องกันและความคุมโรค (CDC) ยังไม่ได้มีมาตรการใดเพิ่มเติม นอกจากเสริมขีดความสามารถในการตรวจหาเชื้อให้ได้มากที่สุด มีการแจกชุดตรวจจำนวนทั้งสิ้น 500 ล้านชุด เพื่อที่จะให้เกิดการพบเชื้อและบริหารจัดการได้ทันท่วงที นอกจากนี้ CDC ยังออกแนวทางการกักตัวใหม่ โดยให้ผู้ที่ติดเชื้อทำการกักตัวในที่อยู่อาศัยเพียงแค่ 5 วัน จากเดิมที่เป็น 10 วัน และถ้าไม่มีอาการใดๆ ก็สามารถออกนอกบ้านได้ โดยให้สวมหน้ากากอนามัยต่อไปอีก 5 วัน แต่หากมีอาการป่วยให้อยู่ในที่พักอาศัยจนกว่าจะไม่มีอาการหลงเหลือ นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนให้ได้มากที่สุด

สำหรับ สหราชอาณาจักร รัฐบาลของบอริส จอห์นสัน ได้ออกมาตรการป้องกันและระวังการระบาดของโอมิครอนมาตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2564 และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดขนาดใหญ่ แม้ว่ารอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานการติดเชื้อโอมิครอนในสหราชอาณาจักรสูงถึง 1.2 แสนรายต่อวันโดยเฉลี่ย มาตรการป้องการที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีในตอนนี้ก็คือ หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่จำเป็นในการใช้บริการที่ทำการและร้านค้าต่างๆ รวมไปถึงการใช้บริการขนส่งสาธารณะด้วย ผู้ที่เดินทางเข้าไปยังสหราชอาณาจักรจำเป็นต้องทำการตรวจ PCR และกักตัวจนกว่าจะได้ผลการตรวจเป็นลบ

นอกจากนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้เสริมมาตรการ “Plan B” ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. โดยที่เป็นคำแนะนำให้ประชาชนทำงานแบบ Work from home และผู้ที่ออกไปในสถานที่ เช่น ไนต์คลับ หรือสถานที่ชุมนุมหนาแน่นต่างๆ ทั้งในร่มและกลางแจ้ง ต้องมีหลักฐาน NHS Covid Pass ที่เป็นการแสดงว่าฉีดวัคซีนครบแล้ว หรือต้องมีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบเพื่อแสดงก่อนเข้าสู่พื้นที่

ทางด้าน ออสเตรเลีย กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลกลางออสเตรเลียยังคงใช้มาตรการ “ล็อคดาวน์” ในการควบคุมการระบาดของโอมิครอนอย่างเช่นที่เคยปฏิบัติมา แต่ว่าในเวลานี้ให้สิทธิแก่รัฐบาลและหน่วยงานปกครองท้องถิ่นต่างๆ ในการตัดสินใจว่าจะล็อคดาวน์ระดับใดได้เอง ซึ่งส่วนมากหลายๆ รัฐยังคงไม่ได้มีการปิดเมืองแต่อย่างใด หากแต่เริ่มจำกัดกิจกรรมและการเดินทางระหว่างรัฐมากขึ้น รวมถึงมีการจำกัดพื้นที่สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีกด้วย และในพื้นที่ส่วนใหญ่ของออสเตรเลียก็ได้มีข้อบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ

เช่นเดียวกับ อินเดีย รัฐบาลกลางอินเดียได้ให้รัฐบาลท้องถิ่นประจำรัฐต่างๆ สามารถตัดสินใจในการใช้มาตรการใดๆ ได้เอง แต่ต้องเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเอาไว้ให้ นั่นจึงทำให้ช่วงวันที่ 26 ธ.ค. 2564 หลายรัฐบาลท้องถิ่นได้เริ่มนำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโอมิครอน เช่นการจำกัดจำนวนผู้คนในแต่ละพื้นที่ การนำ “เคอร์ฟิว” ห้ามออกจากบ้านมาใช้ในยามวิกาล และหลายรัฐก็ได้ทำการประกาศ “งด” การจัดงานฉลองปีใหม่ทั้งหมดทุกกรณี เพื่อป้องกันการรวมตัวของประชาชนอันจะนำไปสู่การแพร่เชื้อ

ไทยให้ความสำคัญ ยับยั้งการเดินทาง

สำหรับใน ประเทศไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ทำการแถลงปรับมาตรการเบื้องต้นมาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2564 เริ่มตั้งแต่ระงับการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่าน Test & GO และ Sandbox แต่ผู้ที่ลงทะเบียนและได้รับการอนุมัติเข้าประเทศแล้ว ก็จะมีการเพิ่มมาตรการกำกับติดตามอาการ การเข้าพักในพื้นที่ และให้ตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง

มาตรการสำหรับคนไทยในประเทศก็ถูกปรับเช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐห้ามลาไปต่างประเทศยกเว้นมีเหตุจำเป็น ประชาชนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะทางยุโรป อเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง ถูกขอให้พิจารณา ชะลอ หรือยกเลิกการเดินทางที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังขอให้ประชาชนทั่วไปตรวจ ATK เป็นระยะ และให้หน่วยงานกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงที่สุด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า จากแบบจำลองการระบาดที่กระทรวงสาธารณสุขทำขึ้น สถานการณ์ที่แย่ที่สุดที่จะเป็นไปได้คือ อาจมีการติดเชื้อได้มากถึง 3 หมื่นคน และเสียชีวิตราว 170-180 คนต่อวัน ดังนั้นช่วงเทศกาลปีใหม่ก็ขอให้ประชาชนเช้มงวดกับการดูแลป้องกันตัวเองให้มากที่สุด ตั้งแต่ล้างมือเป็นประจำ ไปจนถึงเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่ผู้คนแออัดและอากาศหมุนเวียนไม่ได้

สอดคล้องกับ นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ที่ได้ระบุว่า จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เริ่มเพิ่มขึ้น แม้จะเล็กน้อย แต่เมื่อนำไปเทียบกับแบบจำลองที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำขึ้น ก็คาดการณ์ได้ว่าการเดินทางและกิจกรรมในช่วงเทศกาลปีใหม่จะนำไปสู่การระบาดของโอมิครอนได้มากขึ้น ดังนั้นแล้วจึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีมาตรการอื่นๆ ตามมาหลังเทศกาล เช่นการขอให้ประชาชนทำการ “Work form home” และจะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป

ด้าน สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธาณสุข ก็ได้ระบุก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 ว่า ครม.จะทำการหารือเกี่ยวกับข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และจะมีการประกาศมาตรการตามออกมา และในเรื่องของการ Work from home เพื่อลดการระบาดของโอมิครอนจากช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ป้องกันได้ยาก การ Work from home ก็จะช่วยได้ โดยจะให้ข้าราชการทำการ Work from home มากที่สุด ส่วนภาคเอกชนก็จะเป็นการขอความร่วมมือ โดยกำหนดระยะเวลาของการอยู่บ้านไว้ที่ประมาณ 10 วัน

อ้างอิง
https://www.cnbc.com/2021/12/27/covid-uk-pm-boris-johnson-to-assess-latest-omicron-data.html
https://www.gov.uk/government/news/measures-against-omicron-variant-come-into-effect-30-november-2021
https://www.gov.uk/coronavirus
https://www.pharmaceutical-technology.com/special-focus/covid-19/international-update-germany-confirms-first-death-attributed-to-covid-omicron-variant/
https://www.theguardian.com/world/2021/dec/14/how-big-is-the-risk-of-omicron-in-the-uk-and-how-do-we-know
https://www.hindustantimes.com/india-news/omicron-and-3rd-wave-of-pandemic-in-india-what-experts-scientific-projections-101640756128260.html
https://www.thehindu.com/news/national/covid-19-states-announce-measures-to-curb-omicron-spread/article38040932.ece
https://www.cdc.gov/media/releases/2021/s1227-isolation-quarantine-guidance.html
https://www.nytimes.com/live/2021/12/28/world/omicron-covid-vaccine-testshealth.gov.au/health-alerts/covid-19/restrictions-and-lockdowns
https://www.thairath.co.th/news/politic/2270942
https://www.matichon.co.th/covid19/thai-covid19/news_3109082
https://www.thairath.co.th/news/politic/2275252
https://www.thecoverage.info/news/content/2932