ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เทคโนโลยี” เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพลิกฟื้นสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ท่ามกลางบรรยากาศฝุ่นตลบ ทั้งในแง่ของการหาหนทางรักษา การช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงบริการ การฉายภาพอุบัติการณ์ผ่านตัวเลขสถิติ ตลอดจนการติดต่อสื่อสาร ฯลฯ

ภายในเวทีเสวนาหัวข้อพลังสังคมหลังโควิด-19 : จากบทเรียนของผู้ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 กว่า 400 คน สู่การพัฒนาพลังทางสังคมที่เป็นระบบ-ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้มีการพูดถึงการใช้ “เทคโนโลยี” ในวิกฤตการณ์ รวมถึงการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือผู้คนที่ประสบกับความยากลำบากในช่วงการระบาดของโควิด-19

‘แพลตฟอร์มที่ช่วยชีวิตคนถึง 6 หมื่นเคส

แพลตฟอร์ม Jitasa.care ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นเคส เข้าถึงการรักษา โดยแพลตฟอร์มนี้เกิดจากการสานพลังภาคสังคม-ภาคประชาชน เข้ามาแชร์ข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้เกิดแผนที่ผู้ป่วยขึ้น 

ภรณี หรูวรรธนะ ผู้แทนโครงการจิตอาสาดูแลคนไทย Jitasa.care platform อธิบายว่า Jitasa.care ตั้งต้นมาจากการเป็นภาคเอกชนที่มีความคุ้นเคยเรื่องการใช้ข้อมูล และพร้อมสนับสนุนช่วยเหลือผู้ที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ แต่ที่ผ่านมา แม้ว่าจะยินมาโดยตลอดว่ามีคนป่วย มีคนตาย แต่กลับไม่รู้ว่าเขาเหล่านั้นอยู่ที่ไหน จึงทำส่งความช่วยเหลือเข้าไปไม่ได้ จึงมีการคิดถึงการนำข้อมูลผู้ป่วย-ผู้ต้องการความช่วยเหลือลงไปในแผนที่

ถ้าจุดไหนมีจำนวนข้อมูลปรากฏบนแผนที่มาก แสดงว่าพื้นที่นั้นมีปัญหา และยิ่งถ้ามันขยายออกไปมากขึ้น แสดงว่าจุดนั้นไม่ได้รับการแก้ปัญหาหรือไม่ก็ถูกละเลย” ภรณี อธิบาย

ภรณี อธิบายต่อไปว่า ข้อมูลจะช่วยให้บริหารจัดการทรัพยากรได้ง่ายขึ้น โดยหลักการของ Jitasa.care  คือการนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำ Data Analytic ว่าพื้นที่ใดมีลักษณะประชากรอย่างใด มีโรงพยาบาลเพียงพอหรือไม่ ทำไมถึงมีผู้ป่วยตกค้าง หรือบริเวณนั้นไม่มีโรงพยาบาล หรือไม่มีหน่วยการแพทย์ที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ฯลฯ

แน่นอนว่า การนำข้อมูลมาอยู่บนระบบดิจิทัลที่นำไปใช้งานง่าย จะช่วยให้เกิดการจัดการเรื่องเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์ม ไม่สามารถเกิดขึ้นจากการรวมตัวของเอกชนเพียงไม่กี่รายได้ ฉะนั้นจึงต้องขอร้อง-ขอความช่วยเหลือจากจิตอาสาต่างๆ ให้เข้ามาช่วยเหลือตรงจุดนี้

จิตอาสามาช่วยติดต่อไปยังผู้ที่ร้องขอความช่วยเหลือต่างๆ ว่าพวกเขาเกิดปัญหาอะไรขึ้น น้ำ-อาหาร หรือยาเพียงพอหรือไม่ หรือกำลังต้องการการช่วยเหลืออื่นๆ ซึ่งทำให้เรารับรู้ปัญหาและทราบความต้องการ และนำความช่วยเหลือเข้าไปถึงพวกเขาได้ ภรณี อธิบาย

เธอ บอกอีกว่า การสานพลังของภาคเอกชนและประชาชนจิตอาสาช่วยปิดจุดอ่อนที่เกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น การช่วยเหลือของราชการที่มักจะมุ่งเน้นไปที่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ไม่ป่วยแต่อยู่ร่วมกับผู้ป่วยก็ต้องการความช่วยเหลือ

อย่างกรณีบางครัวเรือนมีผู้ป่วยเพียงรายเดียว แต่ยังมีสมาชิกในครัวเรือนอื่นๆ ที่ไม่ได้ติดเชื้อแต่ก็ออกจากบ้านไม่ได้ ขณะที่รัฐก็ดูแลเฉพาะผู้ที่ป่วยเท่านั้น นั่นหมายความว่าสมาชิกคนอื่นๆ ก็ต้องการรับความช่วยเหลือเช่นกัน

จุดนี้เอกชนเลยเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการส่งน้ำ ส่งยา หรืออาหาร ด้วยการร้องขอไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่ามีใครช่วยเหลือได้บ้าง ซึ่งก็มีหน่วยงานราชการอื่นๆ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หน่วยงานความมั่นคง แม้กระทั่งกระทรวงวัฒนธรรม ที่ออกตัวว่ามีทรัพยากรพร้อมสนับสนุนช่วยเหลือ นี่คือความสวยงามที่อยู่ในสังคม” ภรณีกล่าว

ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มฃ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ในช่วงเวลานี้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นบ้างแล้ว แพลตฟอร์ม Jitasa.care จึงได้เริ่มปรับตัวไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในด้านอื่นๆ เช่น ในภาวะวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมา Jitasa.care ได้ใช้ระบบที่มีเข้าไปช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังกลายเป็นที่ร้องทุกข์ของผู้คน ใครเดือดร้อนเรื่องใด เราก็จะพยายามเข้าไปช่วยเหลือ

“ถ้าจะให้เกิดความยั่งยืน มันจะต้องมีความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน ถ้าเราเอาความเก่งทั้งหมดที่มีมารวมกันได้ มันจะมีความยั่งยืน” ภรณี กล่าว

ดิจิทัลและคนรุ่นใหม่คืออนาคต

ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา เล่าว่า สิ่งหนึ่งที่เราได้มาจากเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 ก็คือการที่ระบบดิจิทัลนั้นใกล้ตัวเรามากขึ้น และทุกคนปรับตัวให้สามารถใช้งานมันได้เป็น โดยวันนี้เราไม่จำเป็นต้องมานั่งรวมตัวกันเพื่อที่จะคิดหาคำตอบของปัญหาต่างๆ เพราะด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้เราใช้เวลาไม่นานก็จะได้คำตอบในสิ่งที่ต้องการ ทั้งการสำรวจความต้องการของประชาชนและเรื่องอื่นๆ

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวอยากให้มีการนำเรื่องดิจิทัลใส่เข้าไปในระบบ เพราะทุกอย่างที่เราทำจะสามารถถูกนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว ไร้ที่ ไร้กาลเวลา ฉะนั้นเมื่อนำเครื่องมือเดิมที่มีรวมเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ และกลไกที่นำคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วม จะสามารถตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาได้ไวกว่าเดิม

“แพลตฟอร์มดิจิทัลจะเป็นตัวตอบโจทย์ วันนี้เราถอดบทเรียนวิกฤตการณ์ครั้งนี้ แต่วิกฤตการณ์ครั้งหน้าที่ไม่ใช่โควิด-19 การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่าที่เคย พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าว

เทคโนโลยีเชิงรุกสู่ประชาชน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากวิกฤตที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ประชาชนน่าจะได้เรียนรู้แล้วว่า หลายๆ อาการเจ็บป่วยสามารถที่จะรักษาดูแลที่ผ่านระบบโทรเวชกรรม (Telehealth) ได้ โดยส่งยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นไปให้กับผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ก็สามารถดูแลจากที่บ้าน ถ้าจำเป็นก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลถึงที่ได้

นพ.จเด็จ ระบุว่า สำหรับบทเรียนจากโควิด-19 คือเราต้องรักษากลไกเหล่านี้ไว้ให้ได้ ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่า เทคโนโลยีถูกนำมาใช้กับเรื่องสาธารณสุขได้ในลักษณะเชิงรุกเข้าหาประชาชน

ตัวอย่างเช่น การที่ สปสช. ร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการนำบทเรียนตลอด 20 ปี ของ สสส. มาแยกเป็นกลุ่มอายุ ว่าอายุเท่าใดควรมีความรู้เรื่องอะไรบ้าง

จากนั้น สปสช.ก็นำฐานข้อมูลนี้มาใส่ข้อมูลสิทธิประโยชน์ตามช่วงวัยต่างๆ รวมถึงเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ จากนั้นก็นำไปผูกกับแอปพลิเคชันที่มีอยู่เดิมแล้ว เช่น แอปพลิเคชันเป๋าตัง

“วันนี้ ถ้าเราเปิดแอปลิเคชันเป๋าตังแล้วเข้าไปใน Health Wallet เขาจะบอกเลยว่าคุณอายุเท่านี้ คุณต้องทำอะไรเกี่ยวกับสุขภาพบ้าง อย่างของผมเองระบบบอกว่าต้องไปฉีดวัคซีนตัวหนึ่ง ที่หลายสิบปีมาแล้วไม่ได้ฉีด และก็จะมีให้เลือกเลยว่าสามารถไปรับวัคซีนที่ไหนได้บ้าง” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า เราเชื่อว่าการทำกลไกเหล่านี้ให้ต่อเนื่อง มันก็จะเกิดผลอะไรบางอย่างที่ทำให้เราเตรียมพร้อมต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต