ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ห่วงผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ ไต-เบาหวาน-ความดัน” คุมอาการได้ไม่ดี เหตุมีข้อจำกัดพบแพทย์ในช่วงโควิด กำชับให้เข้ารับวัคซีนโควิด-19 


พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ “เกิดอะไรบ้างเมื่อโรคไม่ติดต่อ เผชิญกับการระบาดของโรคติดต่อ” ซึ่งจัดขึ้นโดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า ในสถานการณ์โควิด-19 นั้น แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้ติดเชื้อ แต่ด้วยข้อจำกัดในภาวะปัจจุบัน อาทิ โรงพยาบาลและสถานพยาบาลต้องการลดความแออัดและการรวมตัว ผู้ป่วยมีความหวาดกลัวว่าจะได้รับเชื้อจากการเดินทางมาโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ ทั้งโรคไต โรคเบาหวาน โรคความดัน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจและติดตามอาการจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ไม่สามารถมาพบแพทย์ได้ตามปกติ

“สิ่งที่พบในระยะหลังก็คือผู้ป่วยโรคไตมีความเสื่อมของไตมากขึ้นกว่าปกติ การควบคุมเบาหวานทำได้ไม่ค่อยดี รวมถึงการควบคุมความดันโลหิตด้วย และหากผู้ป่วยได้รับเชื้อโควิด-19 ซ้ำเข้าไปอีก อาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ก็จะยิ่งรุนแรง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยไตที่ต้องฟอกเลือดหรือล้างไต” พล.อ.ท.นพ.อนุตตร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือดจะเป็นคนไข้กลุ่มเดียวที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 เพราะผู้ป่วยต้องเดินทางมายังสถานพยาบาล และพักถึง 2 – 3 วันเพื่อทำการฟอกเลือด จึงมีโอกาสเสี่ยงกว่าผู้ป่วยอื่นๆ และหากเกิดการติดเชื้อโควิด-19ปัญหาที่ตามมาก็คือความลำบากในการหาสถานที่ที่พร้อมสำหรับการรักษาโควิด-19 และฟอกเลือดไปพร้อมๆ กัน หรือถ้าไม่ได้ก็ต้องเลื่อนรอบในการฟอกเลือดออกไป ซึ่งก็เป็นผลกระทบที่อันตรายต่อผู้ป่วย 

พล.อ.ท.นพ.อนุตตร กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยโรคไต เบาหวาน และความดัน ควรเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อแล้วจะเกิดอาการรุนแรง แต่ที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ ผู้ป่วยโรคไตที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะนั้น หลังจากได้รับวัคซีนแล้วภูมิคุ้มกันมักจะไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันของวัคซีนจะลดลง จึงควรได้รับเข็มที่ 3 ให้เร็วที่สุด

สำหรับแนวทางการลดจำนวนการเกิดโรคไม่ติดต่อ พล.อ.ท.นพ.อนุตตร กล่าวว่า จริงๆ แล้วการรักษาดูแลที่ทำอยู่ทุกวันนี้เป็นการกระทำที่ปลายเหตุ ต้นเหตุที่สำคัญคือพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คน เช่นเรื่องอาหารการกินที่ไม่ถูกโภชนาการ เช่น หวานเกินไป เค็มเกินไป หรือการสูบบุหรี่ที่สามารถนำไปสู่โรคได้หลายโรค เช่นมะเร็ง หัวใจ หรือแม้กระทั่งไต ยิ่งในช่วงการระบาดที่ผ่านมา การอยู่แต่ในบ้านก็ส่งผลสำคัญในการสร้างพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงต้องหันมาดูแลปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ให้มากขึ้นเพื่อลดการเกิดโรค