ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. ฉีด “ไฟเซอร์” ในนักเรียนวันแรก เด็กผู้ชายฉีดเข็มเดียว เพื่อประเมินผลข้างเคียง ส่วนเด็กผู้หญิงฉีดได้ 2 เข็ม


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสมแล้ว 55 ล้านโดส คาดว่าสิ้นปี 2564 จะฉีดเข็ม 1 ได้ 60 ล้านโดส เข็ม 2 ประมาณ 52 ล้านโดส และเข็ม 3 อีก 7 ล้านโดส รวมเป็น 119 ล้านโดส 

ส่วนปี 2565 จะฉีดเข็ม 1 สำหรับกลุ่มตกค้าง คือ อายุ 3-11 ปี ซึ่งคาดว่าจะมีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนฉีดในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 6 ล้านคน เข็ม 2 ประมาณ 14 ล้านโดส และเข็ม 3 อีกประมาณ 66 ล้านโดส รวม 86 ล้านโดส 

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคเซ็นสัญญาจัดซื้อกับแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว 60 ล้านโดส จำนวนที่เหลือกำลังทยอยทำสัญญา

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า วันนี้เริ่มฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เป็นวันแรก โดยให้โรงเรียนเป็นสถานที่ฉีดเพื่อความสะดวกในการเดินทาง โดยแต่ละจังหวัดโรงเรียนและโรงพยาบาลจะหารือกันเพื่อจัดการฉีดได้สอดคล้อง รวมถึงฉีดนักเรียนชาวต่างชาติด้วย สำหรับกลุ่มโฮมสคูลที่ไม่อยู่ในระบบ จะจัดสรรวัคซีนไปที่จังหวัดและนัดหมายลงทะเบียนการฉีดในระยะต่อไป กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยแต่อายุต่ำกว่า 18 ปี ให้แสดงความจำนงที่จังหวัดเพื่อจัดสรรวัคซีนฉีดให้ 

ส่วนกรณีนักเรียนมัธยมที่อายุเกิน 18 ปีอนุโลมให้ฉีดไฟเซอร์เหมือนเพื่อนในชั้นเรียนได้ ทั้งนี้ วันที่ 6 ต.ค. จะมีวัคซีนไฟเซอร์มาอีก 1.5 ล้านโดส และสัปดาห์ถัดไปอีก 1.5 ล้านโดส ดังนั้น  2 สัปดาห์ที่จะถึงนี้จะมีวัคซีนทั้งหมด 5 ล้านโดสกระจายไปให้เพียงพอกับความต้องการฉีด

“อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พบว่ามีความสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีน mRNA 
ส่วนใหญ่เกิดในเด็กชายอายุ 12-17 ปี ในการฉีดเข็มที่ 2 พบประมาณ 6 คนใน 1 แสนคน อาการไม่รุนแรงและหายเองได้ ประเทศไทยจากการฉีด 1.3 แสนคน พบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 4 คน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์” นพ.โอภาส กล่าว

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าผลข้างเคียง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงจะฉีดวัคซีนให้เด็กผู้หญิง 2 เข็ม ส่วนเด็กผู้ชายจะฉีดเข็มเดียวก่อน เพื่อติดตามข้อมูลและประเมินผลข้างเคียง ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า แม้ขณะนี้จะมีการฉีดวัคซีนในครูและบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 80-90% และกำลังเร่งฉีดให้ครบ 100% รวมถึงเริ่มมีการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนแล้ว แต่เพื่อให้การเรียนการสอนมีความปลอดภัยจากโรคโควิด ขอให้จัดสถานศึกษาให้มีความปลอดภัย โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม ระบบถ่ายเทอากาศ การเว้นระยะห่าง การทำกิจกรรมร่วมกันต้องเคร่งครัด โดยเฉพาะการรับประทานอาหารร่วมกัน เน้นย้ำการสวมหน้ากาก ทำความสะอาดสถานที่ โรงเรียนประจำอาจต้องมีการตรวจ ATK เป็นระยะ เพื่อไม่ให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ใหม่