ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. เผยสถิติผลกระทบจากวัคซีนโควิด-19 “แอสตร้าฯ-ซิโนแวค-ไฟเซอร์” ระบุเกิดขึ้นน้อยมาก


นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 37,461,284 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 25,954,106 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 10,900,001 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 607,177 ราย          

สำหรับข้อกังวลของประชาชนเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนนั้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรคมีระบบเฝ้าระวังและติดตามอาการหลังฉีดผ่าน “หมอพร้อม” หากมีอาการหนักที่เข้ารักษาจะส่งข้อมูลเข้าระบบฐานข้อมูลของกองระบาดวิทยาเพื่อวิเคราะห์อาการและสอบสวนเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หากเป็นกรณีรุนแรง คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาผลว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ หรือเกิดร่วมกันหลังฉีดวัคซีน ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2564 พบผู้ที่ฉีดซิโนแวคมีอาการแพ้รุนแรง 24 รายจากที่ฉีด 15.3 ล้านโดส ทั้งหมดหายเป็นปกติ

ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้า ฉีดไปแล้ว 15.4 ล้านโดส พบมีอาการแพ้รุนแรง 6 ราย ทั้งหมดหายเป็นปกติ และผู้ป่วยสงสัยมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (VITT) ในผู้ที่ได้รับเข็มแรก 5 ราย รักษาหาย 2 ราย เสียชีวิต 3 ราย คิดเป็น 0.03 ต่อ 100,000 ซึ่งภาวะนี้มีรายงานพบในต่างประเทศแถบยุโรป แคนาดา และออสเตรเลีย อุบัติการณ์ 0.73 ต่อ 100,000 ในผู้ที่ได้รับเข็มแรก และอังกฤษพบ 2 ต่อแสนในคนอายุน้อยกว่า 50 ปี และ 1 ต่อแสนในผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี

อย่างไรก็ตาม ภาวะ VITT ถือเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้แต่น้อยมาก และสามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการวินิจฉัยรวดเร็ว อาการมักพบหลังได้รับวัคซีน 4 – 30 วัน ได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ปากหรือหน้าเบี้ยว เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ขาบวมเจ็บ ปวดท้องรุนแรง แน่นหน้าอก หรือมีจุดเลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติและหลักฐานการฉีดวัคซีน ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรคและรักษาได้เร็วด้วยยาสำหรับอาการนี้โดยเฉพาะ จะลดความรุนแรงและเสียชีวิตได้

สำหรับไฟเซอร์ ฉีดแล้ว 8.7 แสนราย พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ราย เป็นเด็กชายอายุ 13 ปี หลังฉีดได้ 2 วัน มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ขณะนี้หายเป็นปกติ ซึ่งสหรัฐอเมริกามีการพบกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นอาการที่พบได้หลังฉีดวัคซีนชนิด mRNA 7 - 30 วัน พบการฉีดวัคซีนในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มที่ 1 ในกลุ่มเด็กชายอายุระหว่าง 12-17 ปี มากกว่าผู้ใหญ่ ไม่มีรายงานในผู้สูงอายุ

“อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นพบได้น้อยมากเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับมีมากกว่า จะช่วยป้องกันโรค ลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต วัคซีนที่อยู่ในขวดจะไม่มีประโยชน์ หากไม่ได้ฉีดเข้าไปในตัวคน จึงขอเชิญชวนผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีนให้เกิดความครอบคลุม” นพ.จักรรัฐกล่าว