ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โครงการทุก(ข์)ภัยไทยช่วยกัน เติมน้ำใจ ต่อลมหายใจให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ประสาน สปสช. ส่งมอบเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ทางการแพทย์รอบที่ 3 กระจายความช่วยเหลือสู่ รพ.กว่า 100 แห่งทั่วประเทศ
------------------------------
โครงการทุก(ข์)ภัย ไทยช่วยกัน กองทัพอากาศ มูลนิธิหลักประกันสุขภาพไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกันแถลงข่าว โครงการทุก(ข์)ภัย ไทยช่วยกัน เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2564 ที่เป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการจัดหาเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เพื่อส่งมอบไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องคนไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

น.ส.โกมล เมฆวัฒนา ประธานโครงการทุก(ข์)ภัย ไทยช่วยกัน เปิดเผยว่า โครงการฯ นี้เริ่มต้นตั้งแต่ช่วง มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก แต่สถานการณ์วันนั้นยังไม่หนักหน่วงเท่าวิกฤตขณะนี้ ทางโครงการฯ จึงกลับมาอีกครั้งในเดือน ก.ค. 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ภายใต้ภารกิจ "เติมน้ำใจ ต่อลมหายใจ" 

ทั้งนี้ ได้ระดมความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อการจัดหาเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั่วประเทศ 100 แห่ง นับเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ดำเนินโครงการฯ เป็นต้นมา หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 13,674,800 บาท ซึ่งต้องขอบคุณผู้บริจาคและพลังน้ำใจของทุกท่าน ที่จะเป็นส่วนสำคัญเพื่อต่อลมหายใจให้กับประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

พล.อ.ท.ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศ กล่าวว่า กองทัพอากาศปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชนท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 นอกจากการตั้ง รพ.สนาม ศูนย์ฉีดวัคซีน และจุดตรวจโควิดเชิงรุกแล้ว ยังมีภารกิจ “ทัพฟ้าส่งเวชภัณฑ์ทั่วไทย ร่วมใจฝ่าวิกฤตโควิด-19” ในการจัดส่งเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นทางอากาศยาน

"ช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กองทัพอากาศได้จัดส่งไปยังจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส นครสรรค์ และน่าน โดยในโครงการฯ นี้ กองทัพอากาศได้ร่วมภารจัดส่งเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในโครงการฯ และจะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย" พล.อ.ท.ฐานัตถ์ กล่าว

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค ประธานมูลนิธิหลักประกันสุขภาพไทย กล่าวว่า มูลนิธิหลักประกันสุขภาพไทยเพิ่งก่อตั้งขึ้นในปีนี้ และเข้ามามีส่วนร่วมในการระดมความช่วยเหลือโครงการทุก(ข์)ภัย ไทยช่วยกัน ซึ่งทุกการจัดหาเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นที่ได้ถูกนำไปใช้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดเพื่อดูแลครอบครัวและทำประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว่า การแพร่ระบาดรอบที่ 4 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นความทุกข์ยากประชาชนที่เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งแม้ สปสช.ไม่ได้เป็นด่านหน้า แต่มีหน้าที่จัดสรรค่าใช้จ่ายเพื่อบริการประชาชน โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า นอกจากการจัดระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้านและในชุมชนแล้ว สปสช. ยังให้บริการตรวจคัดกรองตรวจโควิด-19 เชิงรุกที่ศูนย์ราชการฯ ซึ่งรอบแรก 17 วัน ได้ตรวจคัดกรองประชาชน 33,000 ราย ผลตรวจพบเชื้อ 17% ส่วนรอบที่สอง 4 วัน ตรวจคัดกรองประชาชน 3,300 ราย ตรวจพบเชื้อ 6% โดยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้นี้ ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ

สำหรับโครงการทุก(ข์)ภัยไทยช่วยกัน เติมน้ำใจ ต่อลมหายใจให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ได้มอบเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ประกอบด้วย เครื่องให้ออกชิเจนอัตราไหลสูง หรือ Oxygen High Flow จำนวน 27 เครื่องอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ (หรือ PAPR) จำนวน 47 เครื่อง เครื่องผลิตออกซิเจน ขนาด 10 ลิตร 10 เครื่อง ยาแก้ไอ จำนวน 1,000 ขวด ชุดป้องกันเชื้อ  (PPE) จำนวน 11,000 ชุด และหน้ากากอนามัย N95 จำนวน 58,000 ชิ้น

ในส่วนของผู้ที่สนใจร่วมบริจาคเงินสมทบทุนการจัดหาเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สำหรับโรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถร่วมบริจาคได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ก.ย. 2564 โดยสามารถบริจาคผ่านช่องทาง ได้แก่ 1. ทรูมันนี่ วอลเล็ท 2. บริจาคผ่านบัญชีออมทรัพย์ มูลนิธิหลักประกันสุขภาพไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ เลขที่ 020198528890 โดยสอบถามข้อมูลได้ทาง Line OA: ทุกข์ภัยไทยช่วยกัน https://lin.ee/WLd3xpj  หรือโทร 084-439-0105 และ 090-236-6515