ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สบส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย ผลักดัน "แรงงานต่างด้าว" เขตราษฎร์บูรณะเป็น "อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว-อสต." พัฒนาศักยภาพ สร้างทักษะการส่งเสริม-ป้องกันปัญหาสุขภาพให้เพื่อนร่วมชาติ


นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การผลักดันแรงงานต่างด้าวให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของ อสต.ที่มีอยู่เดิม จะเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้กลยุทธ์การแยกกักตัวที่บ้านในกลุ่มแรงงานต่างด้าวประสบผลสำเร็จ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ได้

ทั้งนี้ อสต.จะมีบทบาทในการแก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน และทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี แก้ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นในเรื่องของการสื่อสาร การขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตนเอง รวมถึงการขาดความรู้ ความเข้าใจในระบบการพักรักษาตัวแบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือกักตัวในชุมชน (Community Isolation)

"จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่กระจายไปในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่โรงงานที่มีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่นจากทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าวซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดติดต่อของโรคโควิด-19 ในแรงงาน อสต.จึงมีบทบาทสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาและปิดช่องว่างในเรื่องของการสื่อสาร" นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ล่าสุด สบส.ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต มูลนิธิศุภนิมิต แห่งประเทศไทย และองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย จัดอบรมพัฒนาศักยภาพ อสต. ให้กับโรงงานสิ่งทอแห่งหนึ่ง ในเขตราษฎร์บูรณะ เพื่อผลักดันให้เกิด อสต.หน้าใหม่ รวมทั้งดำเนินการพัฒนาศักยภาพ อสม.ที่มีอยู่เดิม

สำหรับโรงงานสิ่งทอแห่งดังกล่าว มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 440 คน ทำให้โรงงานหาวิธีจัดการกับผู้ป่วยเหล่านี้ โดยการส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาของแรงงาน และบางส่วนได้เข้าระบบกักตัวในชุมชน จนขณะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการหายดี และบางส่วนก็ได้กลับมาทำงานตามปกติแล้ว

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า เขตราษฎร์บูรณะเป็นเขตชานเมืองของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีจำนวนโรงงาน และสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากเข้ามาทำงาน และเกิดการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในพื้นที่นี้ เช่นโรงงานสิ่งทอแห่งดังกล่าว ขณะนี้จึงอยากให้มีการพัฒนาศักยภาพของแรงงานขึ้น ด้วยแนวคิดที่ต้องการดูแลสุขภาพของคนงานให้มีความยั่งยืนและทั่วถึงมากขึ้น คนงานสามารถดูแลตนเองได้ และมีความรู้ความเข้าใจในระดับที่สามารถบอกต่อและดูแลตนเองได้

"การฝึกปฏิบัติจะเน้นไปที่การให้ อสต.สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้จริง ตลอดจนเน้นในเรื่องของการส่งเสริม และป้องกันปัญหาสุขภาพ ให้สามารถดูแลตนเองและเพื่อนร่วมชาติได้ทั้งในยามภาวะปกติและภาวะวิกฤติ ซึ่งภายหลังการอบรม อสต.หน้าใหม่ก็ได้มีการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงในชุมชนโดยรอบโรงงาน เพื่อสื่อสารความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน สร้างเป็นชุมชนต่างด้าวที่สามารถดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป" นพ.ธเรศ กล่าว