ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อภ.ลงนามสัญญาซื้อชุดตรวจ ATK รวม 8.5 ล้านชุด ให้ สปสช.-ราชวิถี แล้ว ยันตรวจสอบคุณภาพสินค้าทุกล็อตก่อนส่งหน่วยบริการ พร้อมติดตามหลังส่งมอบ ด้านตัวแทนนำเข้ายันพร้อมเอาผิดหากยังมีคนด้อยค่าผลิตภัณฑ์


เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564 นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามสัญญากับบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อจัดซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจด้วยตนเอง หรือ AntigenTest Kit (ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด ให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโรงพยาบาลราชวิถี หลังจากที่คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ตามโครงการพิเศษของ สปสช. ได้เห็นชอบราคาตามที่ อภ.เสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า สำหรับ ATK ทั้งหมดที่บริษัทจะนำเข้ามา และจัดส่งให้หน่วยบริการจำนวนกว่า 1,000 แห่ง ตามที่ สปสช.กำหนด ภายใน 14 วันหลังจากลงนามสัญญา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้ สปสช.กำหนดสถานที่จัดส่งที่ชัดเจน ซึ่งก่อนที่จะนำ ATK ไปจัดส่งให้หน่วยบริการต่างๆ นั้นจะมีคณะกรรมการตรวจรับสินค้าตาม TOR โดยตรวจประเมินจากใบตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ (COA) หรือเอกสารรับรองผลิตภัณฑ์ว่ามีคุณภาพเป็นไปตาม TOR ของผู้สั่งซื้อ

พร้อมกันนั้นจะทำการสุ่มตัวอย่างไปทดสอบคุณภาพ ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยทำการตรวจวิเคราะห์ในหัวข้อความไวเชิงวินิจฉัย (Diagnostic sensitivity) ความจำเพาะเชิงวินิจฉัย (Diagnostic specificity) ความไม่จำเพาะต่อเชื้อ (Non-Specificity) ตามเกณฑ์การทดสอบที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด เมื่อผลการทดสอบคุณภาพผ่านก็จะกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่หน่วยบริการต่อไป

ขณะเดียวกัน อภ.จะทำการสุ่มตัวอย่าง เพื่อเก็บเป็นตัวอย่างอ้างอิงในการตรวจวิเคราะห์ หลังจากการนำไปใช้งาน (Retained Sample) ควบคู่กันไปด้วย ในกรณีมีข้อร้องเรียนจากผู้บริโภค ทางบริษัทผู้จำหน่ายจะต้องสืบหาสาเหตุ และแนวทางการป้องกัน แจ้งมายัง อภ. เพื่อประเมินและติดตามผลการแก้ไขป้องกันปัญหาดังกล่าวต่อไป

"ในกรณีที่มีปัญหาคุณภาพจนต้องมีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ (Recall) บริษัทผู้จำหน่ายต้องเรียกเก็บผลิตภัณฑ์คืน พร้อมชดใช้และแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภค และทำรายงานผลการเรียกเก็บผลิตภัณฑ์คืน ส่งให้ อภ. ทำการประเมินประสิทธิผลของการเรียกคืนทุกครั้ง" นพ.วิฑูรย์ ระบุ

ด้าน นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) จำกัด และกรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะตัวแทนจำหน่าย ATK ของออสท์แลนด์ แคปปิตอล ซึ่งเป็นผู้ชนะการเสนอราคาในโครงการพิเศษของ สปสช. กล่าวว่า ทางบริษัทฯ รู้สึกยินดีที่ได้รับโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการนำชุดตรวจ ATK ของ Lepu มาให้คนไทยได้ใช้ตรวจคัดกรองโควิดผ่านโครงการดีๆ ของภาครัฐ

"วันนี้เมื่อทุกอย่างเคลียร์ชัดเจน ทั้งเรื่องของคุณภาพของ ATK ที่ผ่านการรับรองทั้งของ อย.ประเทศไทย และยังได้รับการรับรองคุณภาพจากหลายประเทศในยุโรปแล้ว เพื่อเป็นการตอกย้ำและเพิ่มความมั่นใจในเรื่องคุณภาพให้แก่คนไทย บริษัทยินดีให้ อภ.สุ่มตัวอย่างอ้างอิงตามที่ อภ.กำหนด เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพสินค้าที่ได้รับ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่นอกเหนือจาก TOR ที่กำหนดไว้" นางศิริญา ระบุ

นางศิริญา กล่าวว่า ด้วยกำลังการผลิตของบริษัทผู้ผลิตซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่มากระดับรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน จึงมั่นใจได้ว่าโรงงานจะสามารถผลิต ATK พร้อมส่งมอบทั้งหมดได้ทันกับเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน โดย ATK ทั้งหมดจะจัดส่งทางเครื่องบินเช่าเหมาลำ คาดว่าล็อตแรกจะจัดส่งมาในวันที่ 6 ก.ย. 2564 ซึ่งภายใน 14 วันหลังจากลงนามสัญญาจะทยอยส่งมอบและจัดส่งครบ 8.5 ล้านชุด ถึงหน่วยบริการกว่า 1,000 แห่ง ตามที่ อภ. และ สปสช.กำหนด จัดเก็บและกระจายโดยบริษัทขนส่งที่ชำนาญในด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะ มีการควบคุมความเย็น เพื่อให้ ATK นี้มีคุณภาพเต็มที่จนถึงมือประชาชน

"บริษัทมีความมั่นใจในคุณภาพ ATK ของ Lepu ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ด้วยหลักฐานที่ชัดเจนสามารถพิสูจน์ได้ หากยังมีการด้อยค่าผลิตภัณฑ์แบบไม่เป็นธรรมกับบริษัททำให้มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ ทางบริษัทฯ จะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการขั้นต่อไปอย่างเด็ดขาด อีกทั้งทางบริษัทยังได้แจ้งไปยังโรงงานของ Lepu ผู้ผลิตที่ประเทศจีน ถ้าหากผู้ผลิตจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างไรต่อผู้กล่าวหาผลิตภัณฑ์ด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง สร้างความเสื่อมเสียเรื่องชื่อเสียงต่อผลิตภัณฑ์ ทางบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ฯ ยินดีจะช่วยเหลือและส่งเอกสารข้อมูลให้ผู้ผลิตทั้งหมด เพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไป" นางศิริญากล่าว