ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์รามาฯ วิเคราะห์ตัวเลขชุดตรวจ ATK ของรัฐ พบค่าความไว-ความจำเพาะที่ลดลงเล็กน้อย อาจให้ผลลบลวง-บวกลวงสูงถึง 42,500 และ 76,500 คน หากตรวจ 8.5 ล้านคน จี้ทำวิจัยคุณภาพผลิตภัณฑ์


ผศ.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจด้วยตนเอง หรือ Antigen test kit (ATK) เป็นเครื่องมือที่ถ้าใช้ได้ดีจะนำสังคมไทยรอดจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในวงกว้างได้ เพราะสามารถแยกคนป่วยออกจากคนปกติได้อย่างรวดเร็ว ลดอัตราการแพร่เชื้อไปสู่ผู้คนรอบข้างได้

อย่างไรก็ตาม ATK กลับเป็นประเด็นร้อนเนื่องจากการประมูลซื้อ ATK ของรัฐถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่รัฐเลือก ตนจึงอยากที่จะนำความรู้พื้นฐานในการวิเคราะห์ความสามารถของชุดตรวจต่างๆ ผ่านตารางความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) ที่มีการสอนในโรงเรียนแพทย์มาปรับใช้ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจวิธีคิดของการประเมินคุณภาพของชุดตรวจ ATK นี้

ผศ.นพ.วิชช์ กล่าวว่า หากสมมติว่าค่าความไวของ ATK ที่รัฐจะซื้อ มีค่า 90% และความจำเพาะ 98% ส่วน ATK ที่มีการใช้แพร่หลายอื่น มีค่าความไว 95% และความจำเพาะ 99% พบว่า ATK ของรัฐจะมีผลลบลวงเพิ่มขึ้น 50 คน ต่อทุกการตรวจ 10,000 คน ขณะที่ผลบวกลวงก็อาจเพิ่มขึ้นถึง 90 คน ต่อการตรวจ 10,000 ครั้ง

"ถ้าใช้ ATK ที่มีค่าความไวต่ำลงเล็กน้อยประมาณ 5% ไปกับประชาชน 8.5 ล้านคน จะมีผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 42,500 คนที่ถูกบอกว่าไม่ได้เป็นโรค และถ้าผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ได้กักตัวให้ดี แต่ไปใช้ชีวิตตามปกติ ก็จะแพร่โควิด-19 ในชุมชนต่อไปได้อีก 3-7 วัน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่โรคไปยังประชาชนจำนวนมากได้ถึงหลักหมื่นคน เมื่อใช้ ATK ที่ค่าความไว้ที่ต่ำลง" ผศ.นพ.วิชช์ ระบุ

ผศ.นพ.วิชช์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันหากใช้ชุดตรวจที่มีค่าความจำเพาะลดลงเพียง 1% ไปกับประชาชน 8.5 ล้านคน ก็จะส่งผลให้มีผู้ได้ผลบวกลวงมากถึง 76,500 ราย ซึ่งอาจจะมีผลกระทบทำให้เกิดความกังวลใจต่อคนที่ได้รับบอกกล่าวว่าน่าจะติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่ไม่ได้ติดโรคจริง ก่อนที่จะได้รับการตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันผล ซึ่งเป็นใครคงไม่อยากได้รับผลตรวจ ATK แบบนี้

"ทางกลุ่มนักวิชาการทั้งในมหาวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุข จึงอยากเรียกร้องให้ ศบค. หรือหน่วยสนับสนุนงานวิจัยภาครัฐได้รีบลงทุนเพื่อทำวิจัย เก็บข้อมูลจากสถานการณ์จริงในการใช้ชุดตรวจ ATK ที่ประชาชนอาจต้องดำเนินการตรวจด้วยตนเองหลายล้านครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสทองในการเปรียบเทียบชุดตรวจ ATK ที่รัฐจะซื้อและชุดตรวจ ATK อื่นที่ใช้กับแพร่หลาย" ผศ.นพ.วิชช์ ระบุ

ผศ.นพ.วิชช์ ยังกล่าวด้วยว่า ผลของการวิจัยนี้จะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ที่จะช่วยในการตัดสินใจในการจัดซื้อ ATK ของรัฐที่คงจะต้องมีขึ้นอีกในอนาคต และจะทำให้รัฐบาลได้แสดงให้สังคมรับทราบโดยทั่วกันว่ารัฐบาลใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ชี้นำนโยบายสาธารณะที่สำคัญต่อชีวิตประชาชน ให้เกิดเป็นมาตรฐานว่ารัฐบาลได้สร้างกระบวนการติดตามประเมินผลการดำเนินนโยบายโดยใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์และวิชาการอ้างอิง