ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายภาคประชาสังคม ห่วงหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด-19 เสียชีวิตรายวันทั้งแม่-ทารก ขณะที่ได้ฉีดวัคซีนไม่ถึง 10% อัตราตายแซงคนทั่วไป 2.5 เท่า เตรียมยื่นหนังสือ สธ.จี้เร่งแก้ปัญหา


น.ส.อังคณา อินทะสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยในการเสวนาออนไลน์เรื่อง “สิทธิและการรักษาดูแล เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงโควิด-19” ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลคือมีหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ประมาณ 1.4 หมื่นคน หรือไม่ถึง 10% จากอัตราจำนวนหญิงตั้งครรภ์ทั้งประเทศที่มีอยู่กว่า 5 แสนราย

ทั้งนี้ ข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่าระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-18 ส.ค. 2564 มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 2,327 คน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50-60 รายต่อวัน โดยมีมารดาเสียชีวิต 53 ราย และทารกเสียชีวิต 23 ราย ทำคลอดไปแล้ว 1,129 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เกือบ 18% เป็นการผ่าตัดคลอดและคลอดก่อนกำหนด ขณะที่สถานการณ์ปกติการคลอดก่อนกำหนดจะอยู่ที่เพียง 1%

น.ส.อังคณา กล่าวว่า ข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าปัจจัยการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 70% เป็นข้อจำกัดภายในระบบบริการ, 21% เป็นปัญหาการเข้าถึงบริการ และ 9% เป็นปัญหาจากหญิงตั้งครรภ์เอง ทางมูลนิธิและเครือข่ายจึงขอเสนอให้มีสายด่วนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง เพื่อขอคำปรึกษาและได้รับการบริการที่รวดเร็ว

"ขณะนี้ สธ.ได้จัดให้หญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ดังนั้นควรเร่งรณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์ไปฉีดวัคซีนให้มากขึ้น นอกจากนี้โรงพยาบาลที่รับฝากครรภ์ต้องไม่ปฏิเสธการทำคลอดหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด แต่หากเกินศักยภาพขอให้ประสานส่งต่อ ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรม หรือหากกรณีมารดาเสียชีวิตแต่ทารกรอด ทางโรงพยาบาลต้องประสานหรือจัดนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาดูแลต่อไป" น.ส.อังคณา กล่าว

น.ส.อังคณา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังขอให้สำนักงานประกันสังคม ดูแลเรื่องการเยียวยา 5 พันบาทต่อเดือน นาน 6 เดือน และขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ช่วยเหลือด้านอื่นๆ หลังการคลอดด้วย เช่น ผ้าอ้อม นมผง เป็นต้น โดยในวันที่ 27 ส.ค. 2564 ทางมูลนิธิและเครือข่ายจะมีการเดินทางไปยื่นข้อเสนอต่อ สธ. เรื่องการดูแลหญิงตั้งครรภ์ และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ขอวัคซีนให้คนท้อง-อย่าเทอย่าทิ้งเรา”

ด้าน พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลพิจิตร กล่าวว่า ขณะนี้อัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด อยู่ที่ประมาณ 2.5% ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคนปกติที่อัตราการเสียชีวิตจากโควิดไม่ถึง 1% เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ถึงแม้ผู้ติดเชื้ออยู่ในภาวะขาดออกซิเจน แต่บางคนอาการที่แสดงออกเหมือนว่าไม่เป็นอะไรมาก (Happy hypoxemia) เช้าเหนื่อยไม่มากแต่ตอนเย็นอาจเสียชีวิตได้

พญ.ชัญวลี กล่าวว่า การเสียชีวิตในคนท้องเป็นโศกนาฏกรรมที่อาจเสียชีวิตได้ถึง 2 คน โดยกรณีคุณแม่นั้นพบว่าส่วนหนึ่งเสียชีวิตหลังคลอดตั้งแต่ 1 วันถึง 4 สัปดาห์ ส่วนอัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ที่แม่ติดโควิดอยู่ที่ 40% โดยเฉพาะหากติดเชื้อตอนอายุครรภ์น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งหากติดเชื้อเมื่ออายุครรภ์มากกว่านี้ เด็กจะมีโอกาสรอดชีวิตจากวิทยาการทางการแพทย์ที่สามารถช่วยเหลือเด็กได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ขึ้นไป

"ทุกหน่วยงานต้องให้การซับพอร์ตหญิงตั้งครรภ์ไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ยกการ์ดให้สูงได้โดยการให้อยู่บ้านมากที่สุด เป็นการเว้นระยะห่าง และเลี่ยงปัญหาการหายใจลำบากจากการที่ต้องสวมหน้ากากอนามัย เพราะลำพังไม่สวมหน้ากากอนามัยหญิงตั้งครรภ์ก็หายใจลำบากอยู่แล้ว นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์เข้าถึงการฉีดวัคซีนโดยเร็ว เพื่อป้องกันการติดเชื้ออาการหนัก และการเข้าถึงชุดตรวจ ATK ที่มีคุณภาพ" พญ.ชัญวลี กล่าว

พญ.ชัญวลี กล่าวอีกว่า ในส่วนเรื่องการรักษาหญิงตั้งครรภ์นั้น ต้องยอมรับว่าแม้จะรักษาตามมาตรฐานแล้วแต่ก็จะไม่ได้ผลดีเท่าคนปกติ เช่นเดียวกับกรณีที่หญิงตั้งครรภ์หาโรงพยาบาลทำคลอดลำบาก ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากหากโรงพยาบาลไม่พร้อมจริงๆ การรับคลอดจะทำให้บุคลากรถูกกักตัว และปิดห้องฉุกเฉิน กระทบกับผู้ป่วยคนอื่นอีก จึงขึ้นอยู่กับการวางระบบการดูแลและส่งต่อด้วย

"ดังนั้นในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ การป้องกันหญิงตั้งครรภ์ไม่ให้ติดเชื้อจึงสำคัญ ซึ่งหากต้องทำงาน ลักษณะงานต้องไม่หนัก ไม่แบกหาม ควรได้นอนพักกลางวัน 1 ชั่วโมง ถึงไม่หลับลึกก็ไม่เป็นไร ส่วนกลางคืนนอนเพียงพอ 8-10 ชั่วโมง รับประทานอาหารเพียงพอ ไม่เครียดทั้งกายใจ" พญ.ชัญวลี กล่าว