ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ใช้สูตรวัคซีนไขว้ "ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า" เป็นสูตรหลักฉีดให้ทั้งประชาชนทั่วไป ระบุสร้างภูมิคุ้มกันสูงภายใน 5 สัปดาห์-ต้านเชื้อเดลต้าได้ มีความปลอดภัย ส่วนสายพันธุ์ย่อยเดลต้ายังไม่น่ากังวล


นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สธ.ได้ปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สูตรไขว้ "ซิโนแวค" ตามด้วย "แอสตร้าเซนเนก้า" ห่างกัน 3 สัปดาห์ มาเป็นสูตรทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในเวลาอันรวดเร็ว โดยจากการฉีดที่ผ่านมาพบอาการไม่พึงประสงค์ไม่แตกต่างจากการฉีดวัคซีนตัวอื่น  

ทั้งนี้ เนื่องจากการศึกษาภูมิคุ้มกันต่อการยับยั้งเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า พบว่าการฉีดวัคซีนสูตรดังกล่าว มีระดับภูมิคุ้มกันสูง 78.65 ซึ่งสูงในระดับเดียวกันกับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ที่ได้ระดับภูมิคุ้มกัน 76.52 ส่วนการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 3 ในบุคลากรทางการแพทย์บางส่วน พบว่าภูมิคุ้มกันสูงถึง 271.17

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า แอสตร้าเซนเนก้าจะเร่งส่งมอบวัคซีนให้ครบ 61 ล้านโดส ภายในปีนี้ ประเทศไทยจึงนำเข้าวัคซีนซิโนแวคอีก 12 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดเป็นสูตรไขว้ โดยมีระยะห่างระหว่างเข็ม 3 สัปดาห์ และใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ ก็จะมีภูมิคุ้มกันระดับสูงที่ต้านเชื้อเดลต้าได้ 

"ไทยมีจำนวนผู้ป่วยโควิดรักษาหายมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องหลายวัน หากเทียบกับเวียดนามที่เริ่มระบาดในเวลาใกล้เคียงกัน มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ หยุดกิจกรรมทางสังคมเหมือนกัน พบว่าเวียดนามมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่า เนื่องจากไทยมีการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมมากกว่า โดยฉีดวัคซีนสะสมคิดเป็น 28% ของประชากร ส่วนเวียดนามฉีดได้ประมาณ 15% ของประชากร" นพ.เฉวตสรร ระบุ

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ในส่วนของการตรวจพบสายพันธุ์ย่อยเดลต้าในไทย ยังไม่ถือว่าเป็นสายพันธุ์ไทย เพราะมีรายงานตรวจพบในหลายประเทศอยู่ก่อนแล้ว ทั้งอังกฤษ เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา และยังไม่มีการจัดระดับความรุนแรงหรือความน่ากังวลของสายพันธุ์ย่อยนี้ โดยในไทยพบเพียง 7 ราย ซึ่งต้องติดตามเฝ้าระวังเพื่อเตรียมการรับมือต่อไป