ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อ 4 ปีก่อน นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เดินทางถึงสหราชอาณาจักร เพื่อดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน  

นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นของหน้าที่การงานในสถานที่แห่งใหม่แล้ว ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ระบบ National Health Service หรือ NHS ซึ่งเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่บริหารโดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร ต้นแบบของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย

NHS ก่อตั้งในปี 1948 ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพให้กับผู้อยู่อาศัยในสหราชอาณาจักร ทั้งคนที่มีสัญชาติอังกฤษและคนต่างชาติ บทบาทของ NHS มีความสำคัญอย่างมากในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ทั้งในด้านการรักษาโรคและ “การออกแบบโครงการฉีดวัคซีน” ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

รัฐบาลอังกฤษเริ่มให้วัคซีนโควิดแก่ประชาชนในวันที่ 8 ธ.ค. 2563 จนกระทั่งตั้งเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนมากกว่า 20.9 ล้านคน หรือเฉลี่ย 7 ล้านคนต่อเดือน ถือได้ว่าเป็นการฉีดวัคซีนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง

แน่นอน ความสำเร็จของอังกฤษมีที่ไปที่มา ทุกๆ อย่างอยู่ภายใต้การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบ และเพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง “The Coverage” ได้รับเกียรติจาก “ท่านทูตพิษณุ” บอกเล่าถึง “ระบบการจัดการวัคซีน” ของสหราชอาณาจักร

ส่ง SMS นัดฉีดวัคซีน เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ

ท่านทูตพิษณุให้ความเห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบศักยภาพของอังกฤษที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เฉลี่ยเดือนละ 7 ล้านคน กับประเทศไทยที่ฉีดได้ประมาณเดือนละ 3 ล้านคน พบว่าความสามารถต่างกันประมาณ 1 เท่าตัว การที่อังกฤษมีศักยภาพในการฉีดวัคซีนสูง เพราะใช้กระบวนการและวิธีการที่เหมาะสม 

“ในขณะที่บางประเทศพูดถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการวัคซีน อังกฤษกลับไม่พูดถึงเทคโนโลยีขั้นสูง เขาใช้เทคโนโลยีที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพที่สุด นั่นก็คือการส่ง SMS”

ระบบของ NHS จะทำการส่งวัน เวลา และสถานที่นัดฉีดวัคซีนทาง SMS ให้กับประชาชน ซึ่งมีข้อมูลช่องทางการติดต่ออยู่ในระบบของ NHS อยู่แล้ว 

หากสามารถไปรับวัคซีนตามนัดได้ ก็ไม่ต้องตอบข้อความกลับ แต่หากไปไม่ได้ ให้พิมพ์ตอบกลับว่า "No" แล้วเจ้าหน้าที่จะส่ง SMS นัดวันเวลาฉีดวัคซีนใหม่อีกครั้ง

เมื่อได้รับนัดสำหรับการฉีดวัคซีนเข็มแรกและตอบรับยืนยันแล้ว NHS ก็จะกำหนดนัดหมายฉีดเข็มที่สองทางระบบ SMS ในอีก 10 สัปดาห์ต่อไปให้โดยอัตโนมัติ

หากผู้รับวัคซีนไปตามนัดได้หรือไม่ได้อย่างไร ก็ใช้ระบบ SMS ในการทำและยืนยันนัดหมายกับ NHS ในลักษณะเดียวกัน  

สำหรับการฉีดวัคซีน หากไปตรงตามวันและเวลานัดก็ไม่ต้องรอคิว การฉีดวัคซีนใช้เวลาเพียง 15 วินาที และนั่งรอต่ออีก 15 นาที เพื่อดูว่ามีผลข้างเคียงหรืออาการแพ้หรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ประจำสถานพยาบาลจะติดสติ๊กเกอร์ระบุเวลาฉีดวัคซีนไว้บนตัวผู้รับวัคซีน

เมื่อครบเวลา 15 นาที แล้วไม่มีอาการข้างเคียง ก็สามารถกลับบ้านได้   

ในส่วนของสถานที่ฉีดวัคซีนนั้น จะอยู่ในคลินิกชุมชนหรือสถานพยาบาลที่ไม่ไกลเกินกว่า 10 ไมล์จากที่อยู่ของผู้รับวัคซีน รัฐบาลอังกฤษจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน 7 ศูนย์หลัก ทำหน้าที่กระจายวัคซีนไปคลินิกและสถานพยาบาลทั่วประเทศอีกกว่าหนึ่งพันแห่ง แทนที่จะให้ผู้รับวัคซีนไปกระจุกตัวเพื่อรับวัคซีนในโรงพยาบาลใหญ่  

ฐานข้อมูลนำระบบสุขภาพ

การที่ระบบ NHS สามารถนัดฉีดวัคซีนทาง SMS เป็นผลลัพธ์ของระบบพัฒนาและจัดทำฐานข้อมูลผู้มีสิทธิ ซึ่งนอกจากจะมีข้อมูลด้านที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของผู้อยู่ใต้ระบบทุกคนแล้ว ยังมีข้อมูลด้านสถานะทางสุขภาพอีกด้วย 

เขารู้ว่าผมเป็นโรคอะไรบ้าง และมีความเสี่ยงหรือไม่ ข้อมูลพวกนี้ทำให้เขาสามารถบริหารจัดการการฉีดวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว อังกฤษเขาพัฒนาระบบข้อมูลมานาน เวลาผมไปเจาะเลือดตรวจ แล้วติดขัดไปรับผลเลือดไม่ได้ เขาจะไล่ตามจิกว่าต้องมา เพราะเขามีฐานข้อมูลที่ดี แม้ว่าผมเพิ่งมาอยู่ที่นี่ แล้วก็เป็นคนต่างถิ่น

“การมีฐานข้อมูลที่ดีทำให้การควบคุมปัญหา โดยเฉพาะโรคระบาดโควิดสามารถทำได้ดีมาก แม้ในอังกฤษมีคนป่วยคนตายเยอะ ติดอันดับ 5 ของโลก แต่ระบบการควบคุมดูแลรักษาคนป่วยคนที่จะต้องมีชีวิตต่อไปเนี่ย ผมคิดว่าเขาก็ทำได้ดีมาก" 

ระบบฐานข้อมูลยังเชื่อมต่อระหว่าง NHS สถานพยาบาล และร้านขายยา ซึ่งเป็นเครือข่ายบริการทางการแพทย์ที่กว้างขวางเสมือน ใยแมงมุม

ในแต่ละชุมชนจะมีคลีนิกชุมชน หรือ Community Clinic ให้บริการกับประชาชนประมาณ 1,000-2,000 คน โดยมีแพทย์ประจำคลินิก (General Practitioner) ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชนและออกใบสั่งยา ทั้งยังสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพผ่านทางโทรศัพท์

นอกจากนี้ ระบบ NHS สร้างเครือข่ายกับร้านยาเอกชน เช่น Boots ซึ่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยได้ใบสั่งยาจากแพทย์ประจำคลินิก คลินิกจะส่งใบยาทางระบบออนไลน์ไปให้ที่ร้านขายยา หรือให้ผู้ป่วยถือใบสั่งยาไปที่ร้านขายยาที่สะดวก ซึ่งทาง NHS มีข้อมูลทั้งหมด รวมถึงร้านขายยาในสังกัดที่อยู่ใกล้ที่พักผู้ป่วยมากที่สุดด้วย

ผู้ป่วยจึงได้รับความสะดวกเพราะสามารถเดินไปรับยาที่ร้าน Boots ใกล้บ้านได้ นอกจากนั้น ในสาขาร้านเภสัชกรใหญ่ๆ ยังมีบริการให้วัคซีนขั้นพื้นฐานให้ด้วย หรือหากมียาที่ต้องรับประทานต่อเนื่อง โดยไม่ต้องขอแพทย์ใบสั่งยา ก็สามารถเดินไปที่ร้านขายยา แจ้งชื่อและวันเกิด เภสัชกรจะตรวจสอบข้อมูลการใช้ยาบนระบบฐานข้อมูล และจ่ายยาให้ผู้ป่วยในราคาที่ไม่แพง เพราะค่ายาบางส่วนจ่ายโดยงบประมาณของรัฐบาล 

เครือข่ายของเภสัชกรตามร้านขายยา จะเป็นตัวช่วยที่แบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลได้มาก เอกอัครราชทูตรายนี้ ระบุ

การดึงภาคเอกชนมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสุขภาพ วางอยู่บนแนวคิด “การแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน” ร้านยาเองก็ได้ประโยชน์จากการขายยา ผู้ป่วยก็ได้ประโยชน์จากการเข้าถึงยา คลินิกและแพทย์ก็ไม่มีภาระเรื่องยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนการบริหารจัดการเรื่องการเก็บของเหล่านี้ซึ่งล้วนแต่เป็น “ต้นทุน” ทั้งสิ้น   

สร้างความเชื่อมั่น ด้วยประสิทธิภาพการสื่อสาร

"คนอังกฤษตามธรรมชาติจะบอกว่า NHS ไม่ดี แม้ผมจะบอกว่าดี แต่ตอนไปฉีดวัคซีนโควิด เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่ผมได้คุยกับคนอังกฤษที่ชมว่าระบบ NHS มีประสิทธิภาพ เขาพอใจกับการบริการของรัฐในเรื่องนี้มาก" 

คนอังกฤษไม่มีปัญหาว่าตัวเองจะได้รับวัคซีนยี่ห้อไหน เพราะรัฐบาลอังกฤษสื่อสารและสร้างความมั่นใจให้คนในสังคม สำหรับท่านทูตพิษณุได้รับวัคซีนของ Pfizer ส่วนภรรยาของท่านได้รับวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca 

ผมคิดว่าการสื่อสารการเมืองของประเทศไทยคงจะต้องพัฒนา ประชาชนควรได้รับข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง หาปล่อยให้ประชาชนรับแต่ข้อมูลข่าวสารด้านปัญหาและความอ่อนด้อยของวัคซีน การเสริมสร้างความมั่นใจในการรับความเสี่ยงของวัคซีนก็จะมีข้อบกพร่อง เมื่อสังคมขาดความเข้าใจก็จะไม่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในเรื่องการรับวัคซีน ทูตพิษณุ ระบุ

การสื่อสารที่ดียังกระตุ้นให้คนอังกฤษไปฉีดวัคซีน ซึ่งท่านทูตพิษณุมองว่า มีเรื่องของการเมืองอยู่ในนั้น โดยเฉพาะเมื่ออังกฤษได้ออกจากสหภาพยุโรป ทั้งยังจะดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม G7 และ United Nations Security Council ในปีนี้ จึงต้องการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนและนานาประเทศต่อรัฐบาล 

อังกฤษยังต้องการเปิดประเทศให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะเมื่อจะเป็นเจ้าภาพประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ในเดือน พ.ย. นี้ 

"พอมีวัตถุประสงค์หลัก เขาก็จะรู้ทันทีว่ามีโรดแมปอะไรบ้างที่จะนำไปสู่เป้าหมายหลักที่ยิ่งใหญ่ได้ คือ การเปิดประเทศให้ได้สำเร็จด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเรื่องสำคัญประการหนึ่งคือแผนการฉีดวัคซีน"

"มีแนวโน้มที่ Vaccine Passport จะได้รับการนำมาใช้ในสหราชอาณาจักร แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ใช่สิ่งที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ ด้วยอาจเป็นเพราะมุมมองที่เห็นว่า ประชาคมระหว่างประเทศอาจมีขีดความสามารถไม่เท่าเทียมกันในเรื่องการได้มาและการให้บริการแก่ประชาชนด้านวัคซีน แต่คำถามสำคัญควรขึ้นอยู่กับ “ธง” ของแต่ละประเทศมากกว่า หากเป้าหมายคือการเปิดประเทศให้ได้อย่างมั่นคง มั่นใจ และรวดเร็ว แนวคิดเรื่อง Vaccine Passport ก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงว่าจะทำได้หรือไม่ได้ และหากทำได้จะทำด้วยวิธีการใดที่เหมาะสม"

นอกจากนี้ ทูตพิษณุให้ความเห็นว่า หลักการสำคัญที่ทำให้ระบบ NHS สามารถรับมือโรคระบาดได้ คือ การให้ความสำคัญกับคุณค่าของชีวิตมนุษย์อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นชาวอังกฤษหรือคนต่างชาติที่อาศัยในสหราชอาณาจักร

ทุกคนต่างได้รับการรักษาและวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน และคนในสังคมก็พร้อมให้ความร่วมมือในการควบคุมโรค