ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 27 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย จัดโครงการรณรงค์ Thailand HPV Cervical Cancer Free #เอชพีวี ไม่รู้ไม่ได้แล้ว เพื่อกระตุ้นให้สตรีไทยเข้าใจ รู้สิทธิ หมั่นตรวจเช็คและป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากโรคมะเร็งชนิดนี้ในอนาคต

ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ รองอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด กล่าวว่า ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงมุ่งหวังช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้พ้นจากทุกข์ภัยของโรคมะเร็ง ตลอดจนการยกระดับการศึกษา ค้นคว้าวิจัย เพื่อยกระดับศักยภาพการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล พระองค์ต้องการให้คนไทยมีโอกาสในการเข้าถึงการรักษาและสำคัญมากกว่านั้นคือสร้างกระบวนการรับรู้และป้องกันตัวเอง ซึ่งในเดือน ม.ค. ของทุกเป็น เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกสากล ซึ่งโรคนี้เป็นมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้ เพราะฉะนั้นขอให้ผู้หญิงไทยทุกคนรู้จักรักตัวเอง ไม่อายที่จะเข้ารับการตรวจและเข้าสู่กระบวนการป้องกัน

น.ส.เรวดี รัศมิทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งอันดับที่ 2 ของผู้หญิงไทยรองจากมะเร็งเต้านม มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 8,000 คน/ปี ในจำนวนนี้มีอัตราการเสียชีวิตถึง 40-50% และต้องใช้งบประมาณในการรักษาถึง 350 ล้านบาท/ปี

น.ส.เรวดี กล่าวว่า การให้ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกัน ดีกว่าปล่อยให้เป็นแล้วค่อยรักษา แต่ปัญหาที่พบคือผู้หญิงส่วนใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มรากหญ้ามักอับอายที่จะต้องเข้ารับการตรวจภายใน จึงไม่กล้าไปตรวจ ซึ่งในส่วนของ สธ.เองนั้นมีการฉีดวัคซีนแก่เด็กตั้งแต่ชั้น ป.5 เพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก และมีการตรวจคัดกรองในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งกว่า 80% เป็นผู้หญิง คอยให้ความรู้และชักชวนกลุ่มเป้าหมายให้มารับการตรวจภายใน ซึ่งจะทำให้มีการเข้าถึงบริการคัดกรองได้มากขึ้น

ด้าน พล.อ.ท.นพ.การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อ ธ.ค. 2560 ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยได้เซ็น MOU กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยมุ่งหมายจะกำจัดขุดรากถอนโคนมะเร็งปากมดลูกให้หมดจากประเทศไทย ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายอย่างมาก แน่นอนว่าทุกคนทราบว่าสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อไรรัส HPV ซึ่งปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนปีละ 400,000 คน ซึ่งเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด

พล.อ.ท.นพ.การุณ กล่าวอีกว่า นอกจากการป้องกันแล้ว ในส่วนของการค้นหามะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้นในปัจจุบันมี HPV DNA testing ซึ่งเป็นเทคนิคการตรวจภายใน โดยจะป้ายเซลจากมดลูกไปตรวจรหัสพันธุกรรมเพื่อดูว่ามีเชื้อ HPV ที่มีความเสี่ยงสูงอยู่หรือไม่ วิธีนี้มีความแม่นยำสูง ทำให้การค้นพบมะเร็งในระยะเริ่มแรกดีขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจพบแล้ว การรักษาต่อให้ครบวงจรจำเป็นต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยขอให้ความมั่นใจว่าปัจจุบันมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา 3,300 คน ที่พร้อมปฏิบัติงาน เพียงแต่ขอให้สุภาพสตรีทั้งหลายอย่ากลัวการตรวจภายในเพื่อประโยชน์ของท่านเอง

ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แต่เดิมนั้นการตรวจคัดกรองใช้เทคนิคที่เรียกว่าแปปสเมียร์ แต่ปี 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ สปสช.เป็นชอบให้เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่สตรีอายุ 30-60 ปี สามารถตรวจคัดกรอง HPV DNA testing ได้ โดยจะเริ่มนำร่องในปี 2563 ใน 24 จังหวัดก่อนเนื่องจากต้องมีการเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับบุคลากรสาธารณสุขด้วย

ขณะที่ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การดำเนินการตรวจคัดกรองจะมีการเก็บสิ่งส่งตรวจซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ รพ.สต. และโรงพยาบาลชุมชน กรมการแพทย์มีบทบาทในการทำให้บุคลากรเหล่านี้มีความรู้และทักษะ เพราะ HPV DNA testing เป็นเทคโนโลยีใหม่ บุคลากรต้องได้รับการอบรมเตรียมความพร้อมตั้งแต่ความเข้าใจในการเก็บสิ่งส่งตรวจและกระบวนการต่อเนื่องหากผลตรวจเป็นบวกว่าจะเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี เทคนิคการตรวจแบบแปปสเมียร์ก็ยังคงใช้อยู่ ส่วนระบบใหม่นั้นจะมีการประกาศพื้นที่นำร่อง 24 จังหวัดโดยจะประกาศให้ทราบต่อไป นอกจากนี้ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยทุกแห่ง โรงพยาบาลมะเร็งต่างๆ ก็สามารถตรวจได้เช่นกัน

ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และ หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การติดเชื้อไวรัส HPV ในไทยไม่ได้สูงมาก พบอุบัติการณ์ประมาณ 6% เท่านั้น แต่กลับพบว่าเจอผู้ป่วยมะเร็งเยอะ หมายความว่าหากติดเชื้อ HPV แล้วไม่ได้รับการรักษาก็มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เคยจัดโครงการบำเพ็ญพระกุศลในปี 2554 ซึ่งตอนนั้นการตรวจ HPV DNA testing ยังใหม่มากสำหรับประเทศไทย  และในปีต่อๆมาได้ขยายพื้นที่ตรวจคัดกรองใน ต.บางขะแยง อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี โดยตั้งเป้าว่าจะกำจัดมะเร็งปากมดลูกในตำบลนี้ให้ได้ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 1,600 ราย ผลปรากฎว่าพบการติดเชื้อประมาณ 6%  มีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก 4 ราย แต่ 5 ปีหลังจากนั้นไม่มีมะเร็งปากมดลูกรายใหม่เลย ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งว่าแนวทางนี้เห็นผลจริงๆ และยิ่งในปีนี้ประเทศไทยจะก้าวไปอีกก้าวในการกำจัดมะเร็งปากมดลูก จึงขอแสดงความยินดี และพร้อมเข้าร่วมเป็นศูนย์ตรวจในพื้นที่ กทม.แก่โครงการนี้ด้วย

น.อ.นพ.ภานนท์ เกษมศาสนติ์ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเรารู้จักโรคนี้ดีมากว่า 99% เกิดจากเชื้อไวรัส HPV ซึ่งก็เหมือนกับการติดเชื้อไวรัสทั่วๆไปคือถ้ามีสุขภาพแข็งแรงก็มีโอกาสหายดีได้ แต่สิ่งที่ต้องเน้นคือการให้ความรู้ประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของโรค และการดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อไวรัส ตลอดจนการนำพาตัวเองเข้าสู่ขบวนการป้องกันอย่างมีระบบ ซึ่งภาพรวมในขณะนี้ถือว่ามีแนวโน้มดีมากๆ และในส่วนของสมาคมเองยังทำโครงการร่วมกับกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากเห็นว่ามีเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการตามมาตรฐาน เช่น การฉีดวัคซีน ทางสมาคมจึงรณรงค์หาทุนซื้อวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกไปฉีดให้เยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจทั่วประเทศ 13 แห่ง โดยปีนี้ดำเนินการมาแล้วเป็นปีที่ 4