ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“รพ.มะเร็งลำปาง” ร่วมจัดบริการ “ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV” ป้องกันมะเร็งปากมดลูกตามนโยบาย “Quick Win 100 วัน” รุกกลุ่มเป้าหมาย อายุ 11-20 ปี ให้บริการแล้วกว่า 1.2 หมื่นราย พร้อมจัดบริการ “คัดกรองมะเร็งปากมดลูก” ในกลุ่มผู้ต้องขังหญิง ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 


เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย น.ส.จินตนา สันถวเมตต์ ผู้อำนวยการกลุ่มจังหวัด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. เขต 1 เชียงใหม่) ลงพื้นที่เยี่ยมชม “โครงการให้บริการวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก” ตามนโยบายมะเร็งครบวงจร ขับเคลื่อน “Quick WIN 100 วัน HPV VACCINE” และการจัดบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก HPV DNA Test ณ โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง โดยมี นพ.วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง นพ.นพรัตน์ วัชรขจรกุล นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง (สสจ.ลำปาง) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ 

1

4

นพ.วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง เปิดเผยว่า โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็ง ให้บริการตั้งแต่การให้ความรู้ประชาชน การคัดกรองโรคมะเร็งสำคัญ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง ฯลฯ การฉีดวัคซีนป้องกัน เช่น วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก รวมถึงการรักษา เช่น การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง ตลอดจนการให้ยาพุ่งเป้า และยาภูมิคุ้มกัดบำบัด เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลมะเร็งลำปางมีการดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก ด้วยการตรวจแบบ HPV DNA Test ในกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางสุขภาพ เช่น กลุ่มผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำทั้ง 8 จังหวัดในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เรือนจำจังหวัดน่าน เรือนจำจังหวัดแพร่ เรือนจำจังหวัดลำปาง เรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เรือนจำจังหวัดพะเยา เรือนจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเรือนจำกลางอำเภอฝาง ซึ่งในปี 2566 ดำเนินการตรวจไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 948 รายจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำนวน 966 ราย

4

1

“เป็นความร่วมมือตั้งแต่ สธ. และ สปสช. ในการกำหนดและสนับสนุนนโยบาย ตลอดจนการขับเคลื่อน ที่สำคัญเมื่อถึงในพื้นที่ก็ได้ สสจ. ลำปาง รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเข้ามาขับเคลื่อนนโยบายเพื่อให้ประชาชนในจังหวัดมีสุขภาพที่ดี” นพ.วีรวัต กล่าว 

นพ.นพรัตน์ วัชรขจรกุล นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน รองนายแพทย์ สสจ.ลำปาง กล่าวว่า มะเร็งครบวงจรเป็นยุทธศาสตร์ชาติ และจังหวัดที่เริ่มตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันซึ่งรับเป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการรักษา ฉะนั้นจังหวัดลำปางจึงร่วมดำเนินงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่ตั้งเป้าฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายอายุ 11-20 ปี จำนวน 13,000 คน

4

4

 อย่างไรก็ดี จากการดำเนินการตามนโยบาย “Quick Win 100 วัน HPV VACCINE” จังหวัดลำปางได้ให้บริการวัคซีน HPV ไปแล้ว จำนวน 12,954 ราย และจะดำเนินให้ครบเป้าหมายให้แล้วเสร็จทั้งโครงการภายในวันที่ 15 ม.ค. 2567 ซึ่งจากการดำเนินงานทำให้ สสจ.ลำปางได้รับโล่เกียรติคุณฉีดวัดซีน HPV ระดับยอดเยี่ยมจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุกเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการฉีดวัคซีน HPV ซึ่ง สปสช. ก็ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการคัดกรองด้วย HPV DNA Test โดย สสจ.ลำปางก็ได้มีการชี้แจงเป็นนโยบายให้แก่ทุกหน่วยบริการเพื่อดำเนินการตามเป้าหมายคัดกรองภายใน 5 ปี จำนวน 120,000 รายที่จะสิ้นสุดในปี 2567 

1

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า บริการการฉีดวัคซีน HPV นั้น เป็นสิทธิประโยชน์ที่อยู่ในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ครอบคลุมทุกสิทธิที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายคือหญิงไทยอายุ 11-20 ปี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ รมว.สธ. ซึ่ง สปสช. ร่วมมือกับ สธ. สนับสนุนวัคซีนเพื่อกระจายไปยังเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต รวมถึงยังสนับสนุนค่าฉีดวัคซีนให้แก่หน่วยบริการที่เข้ามาร่วมฉีดอีกด้วย 

สำหรับบริการฉีดวัคซีน HPV เดิมทีเป็นสิทธิประโยชน์ที่ฉีดให้ในกลุ่มนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ต่อมาได้มีการผลักช่วงอายุตามนโยบายเป็น 11-20 ปี ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นช่วงที่ได้รับประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันสำหรับหญิงไทยที่อายุ 30-60 ปีก็สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับหญิงไทยได้เช่นกัน

4

“เดี๋ยวนี้การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก HPV DNA Test สามารถทำได้ด้วยตัวเองแบบ Self-Test โดยสามารถขอรับชุดตรวจได้ตามสถานพยาบาลในระบบบัตรทอง ร้านขายยา หรือคลินิกพยาบาลที่เข้าร่วมได้” ทพ.อรรถพร ระบุ 

ภายในวันเดียวกันนั้น คณะฯ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการการฉีดวัคซีน HPV ในกลุ่มนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จำนวน 50 ราย โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลลำปาง และศูนย์บริการสาธารณสุข จากเทศบาลเมืองเขลางค์นครในการให้บริการ 

สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีน HPV ของพื้นที่อำเภอในจังหวัดลำปาง มีดังนี้ 1. เมืองลำปาง จำนวน 5,723 ราย 2. แม่เมาะ จำนวน 569 ราย 3. เกาะคา จำนวน 416 ราย 4. เสริมงาม จำนวน 556 ราย 5. งาว จำนวน 730 ราย 6. แจ้ห่ม จำนวน 529 ราย 7. วังเหนือ จำนวน 945 ราย 8. เถิน จำนวน 764 ราย  9. แม่พริก จำนวน 295 ราย 10. แม่ทะ จำนวน 601 ราย 11. สบปราบ จำนวน 475 ราย 12. ห้างฉัตร จำนวน 825 ราย และ 13. เมืองปาน จำนวน 526 ราย