ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ประกาศสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในเรื่องของการให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA เมื่อเดือน พ.ค. 2566ที่ผ่านมา โดยสนับสนุนการใช้ชุดเก็บตัวอย่างส่งตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นชุดตรวจคล้ายชุดตรวจคัดกรองโควิดที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เพื่อตอบสนองต่อการใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ ลดความเขินอาย และเพิ่มทางเลือกในการเข้ารับบริการของหญิงไทยกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 30-59 ปี ทุกคนและทุกสิทธิ์

รวมถึงหญิงไทยที่มีอายุ 15-29 ปี ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย มีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงติดเชื้อและไม่ได้ป้องกัน เป็นต้น ควบคู่กับการเพิ่มช่องทางการขอรับบริการการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีดังกล่าวที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ร้านยา คลินิกพยาบาล ฯลฯ โดยสามารถขอรับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA โดยชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง และหากผลเป็นปกติ สามารถทำการตรวจซ้ำได้ทุก ๆ 5 ปี2

1

ข้อมูลงานวิจัยที่ผ่านมาของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์และความเป็นไปได้ของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA โดยชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองในประเทศไทย เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ครอบคลุมถึงประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบด้านงบประมาณ และความเป็นไปได้ของการมีนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA โดยชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง พบว่า จากการทบทวนข้อมูลทางวิชาการ มีเพียง 1ใน 3 ของผู้หญิงไทยที่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่ห่างไกลจากเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ที่คาดหวังให้ทั่วโลกสามารถกำจัดโรคมะเร็งปากมดลูกให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยต้องดำเนินการร่วมกันกับการฉีดวัคซีนป้องกัน และการรักษาที่เหมาะสมในหญิงที่ตรวจพบความผิดปกติของปากมดลูก3

สำหรับประเทศไทย ถ้าจะให้โรคมะเร็งปากมดลูกหมดไป ควรมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ได้ถึง 80% ของหญิงไทยทั้งประเทศ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 20 ล้านคน แต่ปัจจุบันยังดำเนินการได้แค่เพียง 33% ของหญิงไทย ทั้งนี้การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA โดยชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง เป็นอีกทางเลือกที่จะมาช่วยปิดช่องว่างให้กับหญิงที่มีความเขินอายไม่ยอมไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายใน ตลอดจนเพิ่มการเข้าถึงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้กับหญิงไทย ซึ่งหากคัดกรองแล้วพบรอยโรคตั้งแต่ระยะต้นๆ ก็จะสามารถวางแผนการรักษาได้ทันท่วงที ส่งผลป้องกันการเกิดมะเร็งและลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกได้

ทั้งนี้ วิธีดังกล่าวจากงานวิจัยพบว่า เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ โดยมีความไวอยู่ที่ประมาณ 74-83% และความจำเพาะอยู่ที่ประมาณ 86-90% ซึ่งมีความแม่นยำสูง ใกล้เคียงกับการตรวจด้วยแพทย์ สะดวกรวดเร็ว สามารถส่งผลทางไปรษณีย์ได้ และเป็นทางเลือกที่เพิ่มอัตราการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ผู้หญิงส่วนใหญ่ยอมรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเองโดยวิธี HPV DNA เนื่องจากเป็นวิธีที่ช่วยลดความเขินอาย สามารถเก็บสิ่งส่งตรวจได้ในเวลาที่สะดวก และช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกใจที่จะไปพบแพทย์

 

2

รศ.ดร.พญ.พจมาน พิศาลประภา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ผลลัพธ์ของการวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ (cost-utility analysis)4 ในมุมมองทางสังคม ภายใต้กรอบระยะเวลาตลอดชีวิต พบว่า การมีนโยบายตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA โดยชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง ร่วมกับการตรวจคัดกรองโดยบุคลากรทางการแพทย์ในหญิงอายุ 25-65 ปี ให้ปีสุขภาวะ (quality-adjusted life-years, QALYs) หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าเป็นคุณภาพชีวิตในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ ที่สูงกว่านโยบายการตรวจคัดกรองโดยบุคลากรทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว และเป็นนโยบายที่ทำให้ประหยัดต้นทุนโดยรวมได้ (cost-saving) เนื่องจากทำให้ตรวจพบรอยโรคตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็งหรือมะเร็งระยะเริ่มแรกได้

“อีกทั้งการวิเคราะห์ผลกระทบด้านงบประมาณในมุมมองของผู้จ่ายเงิน ภายใต้กรอบระยะเวลาของการวิเคราะห์ที่ 5 และ 10 ปี ยังพบว่า การมีนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเองโดยวิธี HPV DNA ที่เพิ่มเติมจากนโยบายการตรวจคัดกรองโดยแพทย์เพียงอย่างเดียว อาจทำให้รัฐบาลต้องรับภาระในแง่ของผลกระทบด้านงบประมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 680 ล้านบาทต่อปี เมื่อคิดราคาชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกที่ชุดละ 280 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รวมค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ PCR แล้ว แต่การมีนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเองเพิ่มเติมจากการตรวจคัดกรองโดยบุคลากรทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว จะทำให้อัตราการตรวจคัดกรองในหญิงไทย เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 44% หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 8-10 ล้านคน ซึ่งถ้าหญิงไทยได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกถึง 80% ก็จะสามารถทำให้มะเร็งปากมดลูกหมดไปจากประเทศไทย ตามเป้าหมายของ WHO” รศ.ดร.พญ.พจมาน ระบุ

 

1

ด้าน ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า การลดอัตราการเสียชีวิตในโรคต่างๆ ของคนไทย จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในหลากหลายมิติ เพื่อให้สามารถเดินไปสู่เป้าหมายในการเพิ่มคุณภาพชีวิต ลดโรค และลดอัตราการเสียชีวิตให้ได้ ซึ่งงานวิจัยในลักษณะของการวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์และความเป็นไปได้ของการตรวจคัดกรองโรคดังกล่าว เป็นงานวิจัยอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อการวางแผนและพัฒนานโยบาย ทั้งในแง่ของความคุ้มค่า งบประมาณ ระบบหรือการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในระยะต่อไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งเรื่องการประชาสัมพันธ์เชิงรุกกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองของหญิงไทยทั้งประเทศ ตลอดจนการจัดทำแนวทางการดูแลกลุ่มที่มีผลการตรวจผิดปกติให้เป็นระบบและมีแนวทางเดียวกัน  

ข้อมูลจาก: งานวิจัย “การวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์และความเป็นไปได้ของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA โดยชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองในประเทศไทย, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

1https://www.nhso.go.th/storage/downloads/main/233/22_%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8_PP_FS_2566_.pdf

2https://www.nhso.go.th/news/4187

3https://www.who.int/publications/i/item/9789240014107

4https://bmcpublichealth.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12889-023-17358-0