ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘สวรส. – IHPP – IOM’ เปิดเวทีระดมความเห็นเครือข่ายนานาชาติ เร่งผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพ บนฐานงานวิชาการ เพื่อการเข้าถึงและเป็นธรรมทางสุขภาพของประชากรข้ามชาติ


สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) จัดประชุมวิชาการย่อย (side meeting) หัวข้อ “Strategies to Address Health Inequity and Promote Inclusive Health Systems for Migrants: Lessons from Malaysia, Singapore, and Thailand, with Potential Applications to Other Countries” ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับกลยุทธ์การจัดการกับความไม่เสมอภาคด้านสุขภาพและการส่งเสริมระบบสุขภาพแบบครอบคลุมสำหรับผู้ย้ายถิ่น: บทเรียนจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับประเทศอื่นๆ

ภายใต้การประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี 2567 หรือ Prince Mahidol Award Conference: PMAC 2024 ภายใต้หัวข้อหลัก “ภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคงของมนุษย์ และความเสมอภาคทางสุขภาพ ในยุคแห่งวิกฤตการณ์หลากมิติ: Geopolitics, human security and health equity in an era of polycrises ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 ม.ค. 2567

ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวได้มีการนำเสนองานวิชาการและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานของประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเรื่องประชากรข้ามชาติ/ผู้อพยพย้ายถิ่นทั้งไทยและต่างประเทศ จากหน่วยงานด้านสุขภาพ และหน่วยงานด้านอื่นๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) IOM องค์การอนามัยโลก (WHO) UNHCR กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สภากาชาดไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

2

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ จำนวนกว่า 50 คน เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 ณ ห้องบอลลูม B โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวช่วงเปิดการประชุมว่า ช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ประชากรข้ามชาติ/ผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงบริการสุขภาพ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีแนวปฏิบัติที่จะสามารถพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ครอบคลุมทุกลุ่มประชากรบนแผ่นดินไทยมากขึ้น

มากไปกว่านั้น ควรมีการยื่นข้อเสนอเรื่องการปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสุขภาพของประชากรข้ามชาติ/ผู้ย้ายถิ่น และให้สามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพได้อย่างสะดวกมากขึ้น อีกทั้งความยั่งยืนของการจัดหาเงินทุนด้านการรักษาพยาบาลและการสนับสนุนทางการเงินจากแหล่งต่างๆ ควรเป็นส่วนหนึ่งของแผนระยะยาวเพื่อตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น

2

สำหรับในเรื่องของการประเมินสุขภาพเบื้องต้นและการเข้าถึงด้านสาธารณสุขในระดับท้องถิ่น ควรมีการปรับให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ ทั้งจากตัวแทนชุมชนที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ/ผู้ย้ายถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เป็นต้น โดยเน้นย้ำในเรื่องของการสื่อสารความเสี่ยงของสุขอนามัยและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่อ้างอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์

“การทำงานด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ/ผู้ย้ายถิ่น เปรียบเหมือนการเดินทางที่ยาวนาน แต่ที่ผ่านมาก็เห็นถึงความพยายามในการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนับเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติ/ผู้ย้ายถิ่น โดยการระดมความคิดเห็นจากการประชุมฯ จะเป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละเครือข่ายหยิบยกประเด็นร่วมที่มีความสำคัญ เพื่อการพัฒนาไปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ด้าน น.ส.บุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ผู้จัดการงานวิจัย และผู้จัดการแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ สวรส. กล่าวว่า การดำเนินงานในระยะแรกของแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ สวรส. มุ่งเน้นไปที่การศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติ อย่างเช่นงานวิจัยของ สวรส. ที่นำเสนอในการประชุมฯ เรื่องการประเมินระบบบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติ: บทเรียนประเทศไทยและการปรับใช้กับประเทศในอาเซียน เป็นงานวิจัยที่สะท้อนให้เห็นสถานการณ์และขีดความสามารถ

4

รวมถึงจุดแข็งและโอกาสหรือความท้าทายในการจัดระบบบริการสุขภาพให้กับประชากรข้ามชาติของประเทศไทย ซึ่งความท้าทายที่ยังเป็นโจทย์สำคัญ เช่น ปัญหาด้านภาษาและวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพ, ปัญหาเชิงโครงสร้างและการจัดการของภาครัฐ, การบูรณาการฐานข้อมูลประชากรข้ามชาติให้เป็นหนึ่งดียว ฯลฯ

ส่วนการดำเนินงานในระยะถัดไป สวรส. มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติ/ผู้ย้ายถิ่น โดยเฉพาะการพัฒนาให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมและเป็นธรรม ตามหลักมนุษยธรรมและเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ

น.ส.บุณยวีร์ กล่าวอีกว่า สวรส. คาดว่าจะจัดการประชุมเครือข่ายการทำงานด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติ ทั้งไทยและต่างประเทศในลักษณะนี้เป็นประจำทุกปี เพื่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการระดมความคิดเห็นที่สามารถนำไปพัฒนาเชิงระบบของแต่ละประเทศได้ ไม่เพียงเท่านั้นความคิดเห็นจากการประชุมดังกล่าว สวรส. จะรวบรวมและจัดทำเป็นข้อเสนอร่วมกันในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติในกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป

5