ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเต็มไปด้วยหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพ ดังนั้นสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงต้องมีการทบทวนปัจจัย พร้อมลำดับความสำคัญของปัญหาต่างๆ เพื่อการปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปได้มากที่สุด

สวรส. จึงจัดการประชุมทบทวนยุทธศาสตร์ บทบาท และภารกิจของ สวรส. : HSRI Board Retreat โดยมี ศ.ดร.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์ ภายใต้คณะกรรมการ สวรส. เป็นประธานการประชุมฯ และมีคณะกรรมการ สวรส. ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารจากหน่วยงานเครือข่ายวิจัยระบบสุขภาพ อาทิ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ศ.บรรเจิด สิงคะเนติ ศ.ดร.มรรยาท รุจิวิชชญ์ นางดวงตา ตันโช นายพัลลภ ศักดิ์โสภณกุล

1

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผศ.ดร.ธงศักดิ์ชัย สายพระราษฎร์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข

รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ฯลฯ กว่า 50 คน ร่วมประชุมระดมความคิดเห็น เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2567

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. ได้ฉายภาพภารกิจและยุทธศาสตร์ของ สวรส. ตลอดจนบริบทที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โลก และประเด็นสำคัญจากนโยบายรัฐบาล รวมถึงช่องว่างการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ และประเด็น Quick win ปี 2567 ของ สวรส. ซึ่งจากการวิเคราะห์และทบทวนสถานการณ์พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จากสัดส่วนผู้สูงอายุที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ขณะที่คนเกิดน้อยลง และสภาพปัญหาของการขยายตัวของสังคมเมือง รวมถึงมีการย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าเทคโนโลยี เศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ส่วนในด้านสถานะสุขภาพคนไทย จะพบอัตราป่วยและตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพิ่มขึ้น และอาจต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่

2

ทว่า อีกด้าน ระบบบริการสุขภาพมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมากที่มาช่วยสนับสนุนการบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจ 13 หมุดหมายของนโยบายรัฐบาลด้านสาธารณสุข การเปิดรับแรงงานต่างด้าว เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การผลักดันให้เกิดการวิจัย Frontier Research การยกระดับนโยบายบัตรทอง 30 บาท

“ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา การดำเนินงานของ สวรส. เน้นไปที่งานวิจัยมุ่งเป้าด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดได้ ส่วนในทศวรรษที่ 4 ระยะถัดไป สวรส. จะเน้นการสร้างงานวิจัยเพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพมากขึ้น โดยต่อยอดองค์ความรู้การวิจัยมุ่งเป้าด้านสุขภาพที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศ ภายใต้การทำงานบนความร่วมมือและการบูรณาการของเครือข่ายวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“รวมทั้งจะผลักดันงานวิจัยเชิงระบบและนวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีที่นำไปสู่ความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ลดภาระโรคสำคัญ และรองรับภาวะวิกฤตของประเทศ ควบคู่กับการสร้างงานวิจัยที่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์และสังคม ตลอดจนสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้เกิดผลกระทบในระบบสุขภาพได้อย่างชัดเจน” นพ.ศุภกิจ ระบุ

ทั้งนี้ สวรส. มีทิศทางการวิจัยที่เป็นประเด็น Quick Win ปี 2567 ได้แก่ การพัฒนาระบบยาของประเทศ โดยขยายมาตรการสนับสนุนการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในโรงพยาบาล การพัฒนาเครือข่ายร้านยาในระบบบริการสุขภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอตาด้วยปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาเทคโนโลยีการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม

4

การพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ โดยการพัฒนาระบบทะเบียนมาตรฐานของโรคสำคัญต่างๆ การพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ โดยพัฒนาข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายในการกระจายแพทย์ไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยการประเมินผลนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการสุขภาพ เช่น Telemedicine, PD First การจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพของประเทศ ผลกระทบของการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี

การอภิบาลระบบสุขภาพ โดยการประเมินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว การออกแบบและสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ การพัฒนาด้านการเงินการคลังระบบสุขภาพ โดยการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการป้องกันและควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี

กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยศึกษาสถานการณ์และข้อจำกัดเชิงระบบในการดูแลคนไร้ที่พึ่งที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช ติดตามและตรวจสอบมลพิษทางอากาศ กรณีฝุ่น PM 2.5 เพื่อพัฒนาระบบการเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อสุขภาพ จีโนมิกส์/การแพทย์แม่นยำ โดยผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมของคนไทย 50,000 ราย ศึกษาปัจจัยบ่งชี้ทางพันธุกรรมของผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะลุกลาม, ปัจจัยบ่งชี้ภาวะโรคหัวใจตีบ การทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดโรค กรณีภาวะไขมันและคอเลสเตอรอลสูง ภาวะอ้วน ความดันเลือดสูง เบาหวานชนิดที่ 2

5

อนึ่ง ในการประชุมฯ มีการอภิปรายและเสนอความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง อาทิ การกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดในแต่ละยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อการกำหนดงบประมาณและการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนผลผลิตให้ได้ตามเป้าหมาย การจัดการงานวิจัยที่สามารถตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ได้อย่างทันท่วงที การทบทวนข้อจำกัดด้านระเบียบหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานวิจัย เพื่อความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การพัฒนางานวิจัยเพื่อการประเมินผลนโยบายและผลกระทบเชิงระบบในระยะยาว ทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์และสภาพแวดล้อมของประเด็นต่างๆ ความมั่นคงด้านสุขภาพและความเชื่อมั่นในระบบบริการสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งหลังจากการประชุม สวรส.จะนำข้อมูลและความคิดเห็นที่ได้ไปทบทวนเพื่อปรับแผนยุทธศาสตร์ สวรส. พ.ศ. 2566-2570 และจะมีการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ฯ ภายในมีนาคม 2567 นี้ต่อไป

5