ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้การผ่าตัด “ฝังประสาทหูเทียม” เพื่อรักษาความพิการทางการได้ยิน จะทำให้คนจำนวนไม่น้อยสามารถกลับมาได้ยินใกล้เคียงเหมือนกับคนทั่วไปได้ แต่อย่างไรก็ดี ไม่ใช่คนหูหนวกทุกคน ที่ได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมแล้วจะมีผลการรักษาเป็นที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่มีส่วนกำหนดผลการรักษา เช่น ระดับทางการได้ยิน สาเหตุและพยาธิสภาพของหูชั้นใน ระยะเวลาตั้งแต่สูญเสียทางการได้ยิน พัฒนาการและการใช้ภาษาพูด ประสบการณ์ของแพทย์ผู้ผ่าตัด ทีมนักแก้ไขการได้ยินและการพูด ความร่วมมือของผู้ป่วยและญาติ รวมถึงคุณลักษณะทางเทคนิคของอวัยวะเทียม ซึ่งเคยมีการร้องเรียนจากผู้ที่ใช้อุปกรณ์ประสาทหูเทียมบางยี่ห้อว่าไม่มีประสิทธิภาพตามที่ระบุ

ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้จัดทำเกณฑ์มาตรฐานการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม และสนับสนุนให้เกิดการวิจัยเพื่อรวบรวมข้อมูลการลงทะเบียนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจากทั่วประเทศ ตลอดจนติดตามผลในระยะยาวจากการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่มากพอต่อการประเมินประสิทธิผล ความปลอดภัย รวมถึงปัจจัยที่มีผลต่อความสําเร็จของการผ่าตัด ที่สามารถใช้สำหรับการวางนโยบายทางสุขภาพระดับประเทศได้

ทั้งนี้ มีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาระบบทะเบียนฯ ดังกล่าว ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “โครงการทะเบียนประสาทหูเทียมในประเทศไทย” เพื่อพัฒนาระบบทะเบียนการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพของประเทศไทย และพัฒนาระบบทะเบียนให้สามารถตรวจสอบข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ตามสิทธิ์การรักษา ก่อนการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม รวมถึงเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของความสามารถทางการได้ยิน การพัฒนาภาษา และการสื่อสาร ก่อนและหลังการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ตลอดจนติดตามภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมแต่ละชนิด ไปจนถึงคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการผ่าตัดประสาทหูเทียม

รศ.ดร.นพ.ภาธร ภิรมย์ไชย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวได้กำหนดกลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการทุกคน รวมแล้วราว 40 คนต่อปี โดยในระยะแรกเป็นการจัดตั้งระบบฐานข้อมูล และระบบการลงข้อมูลเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน ระยะที่สองเป็นการเริ่มเก็บข้อมูลผลการวิเคราะห์ ซึ่งพบว่าการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในประเทศไทยทำให้ผู้ป่วยกลับมาสื่อสารได้ ส่วนในระยะสุดท้ายมีการเก็บข้อมูลได้เพิ่มมากขึ้น จนสามารถวิเคราะห์ในเรื่องของคุณภาพชีวิตของผู้ป่ว

จากการดำเนินการทั้งสามระยะ พบว่า สถานะของทะเบียนประสาทหูเทียมในประเทศไทย จากการดำเนินโครงการระยะที่ 1-3 นับตั้งแต่ 16 พ.ค. 2559 - 29 มิ.ย. 2565 มีข้อมูลผู้ป่วยในระบบทั้งหมด 580 คน แบ่งเป็นเพศชาย 289 คน เพศหญิง 268 และไม่ระบุเพศ 23 คน ในผู้ใหญ่มีอายุเฉลี่ย 24-27 ปี สำหรับในเด็ก ส่วนใหญ่จะอายุ 2-4 ปีที่ได้รับการประเมินเพื่อผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม

สำหรับสาเหตุของความพิการทางการได้ยินส่วนใหญ่ 45.61% มักเกิดขึ้นหลังคลอด ที่เหลือเป็นเด็กแรกเกิด 45.36% ซึ่งเด็กที่เป็นตั้งแต่แรกเกิดนั้นราว 38% ไม่ทราบสาเหตุ ในส่วนที่พบสาเหตุ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด โดยคิดเป็น 18.56% คือ การติดเชื้อในเยื้อหุ้มสมอง (meningitis) ส่วนระดับการได้ยินของผู้ป่วยเฉลี่ยเท่ากับ 95.53 เดซิเบล ซึ่งเป็นระดับความพิการชนิดหูหนวก (มากกว่า 90 เดซิเบล) และระดับความสามารถในการสื่อสาร (CAP Score) ของผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ไม่สามารถรับรู้หรือตอบสนองต่อเสียงในสิ่งแวดล้อมได้เลย

รศ.ดร.นพ.ภาธร กล่าวอีกว่า จากผลการวิเคราะห์การใส่ประสาทหูเทียม ยังพบด้วยว่าหลังการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม ระดับการได้ยินที่ 500 - 4,000 Hz ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือนแรกหลังรับการผ่าตัด อีกทั้งยังดีขึ้นถึงระดับประสาทหูเสื่อมเล็กน้อยในเดือนที่ 3 นอกจากนี้ ระดับการได้ยินเสียงพูดก็ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน โดยอยู่ในระดับประสาทหูเสื่อมเล็กน้อยตั้งแต่เดือนแรกหลังรับการผ่าตัด อีกทั้งการจำแนกคำต่างๆ ก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ และคงที่อยู่ในระดับสามารถสื่อสารได้ตั้งแต่เดือนที่ 6 หลังรับการผ่าตัด

ด้านภาวะแทรกซ้อนพบอยู่ที่ 7.51% ซึ่งปัญหาที่พบบ่อย คือ หน้าเบี้ยว วิงเวียน หรือประสาทหูเทียมหลุด ซึ่งข้อมูลที่ได้เหล่านี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะสามารถนำไปพัฒนาระบบการให้บริการแก่ผู้ที่มีปัญหาการได้ยิน โดยในระยะที่สองที่เริ่มมีการทดลองนำระบบตรวจสอบเกณฑ์การผ่าตัด (pre-authorization) มาใช้ เพื่อเป็นการควบคุมมาตรฐานการผ่าตัดของสถาบันต่างๆ ที่เข้าร่วมวิจัย ซึ่งปัจจุบันมีการนำระบบดังกล่าวไปใช้ในการตรวจสอบเกณฑ์การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมของกองทุนสุขภาพต่างๆ (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น สวรส. และ สำนักสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) เป็นเจ้าของร่วมกัน

ขณะที่การศึกษาในระยะที่สาม เมื่อได้มีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องจนมั่นใจแล้วว่า การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมมีประโยชน์ต่อผู้ป่วย ทั้งในด้านการได้ยินและคุณภาพชีวิต สวรส. และทีมวิจัยจึงได้นำเสนอผลวิจัยต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนบอร์ด สปสช. มีมติให้การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อปี 2565

"ปัจจุบันทีมวิจัยและกลุ่มสถาบันต่างๆ ที่ร่วมวิจัย ได้พยายามนำฐานข้อมูลนี้มาเก็บข้อมูลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และในปี 2566 ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยต่อเนื่องจาก สวรส. เพื่อเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเพิ่มเติม โดยขณะนี้ทีมวิจัยอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลด้านการรักษาและคุณภาพชีวิตในเด็กที่เริ่มเข้าเรียนเพิ่มเติม ซึ่งหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยขยายสิทธิประโยชน์การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในเด็กที่อายุมากกว่า 5 ขวบในอนาคต" รศ.ดร.นพ.ภาธร กล่าว

ด้าน ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า การจัดทำทะเบียนประสาทหูเทียมในประเทศไทย เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ สวรส. มีสมมติฐานสำคัญว่าการจัดทำทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาการได้ยินและจำเป็นต้องมีการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรับบริการตามความจำเป็นในระบบบริการสุขภาพ และสามารถติดตามคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดได้หรือไม่

นอกจากนั้น สวรส. กำลังดำเนินการประเมินผลตอบแทนเชิงสังคม (Social Return of Investment: SROI) ของโครงการวิจัยดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่จะสามารถนำไปพัฒนาระบบการให้บริการสำหรับกลุ่มที่มีปัญหาทางการได้ยินของประเทศต่อไป