ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จัดประชุมระดมสมอง “พี่เลี้ยง กปท.” พร้อมแจงทิศทางบริการจัดการกองทุน ปี 63 เร่งรุก 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ทั้งกองทุนสุขภาพตำบล กองทุนดูแลระยะยาวผู้สูงอายุอยู่ในภาวะพึ่งพิง และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นระดับจังหวัด พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สู่การดำเนินการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่

ที่อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี - เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจพี่เลี้ยงกองทุนในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ปีงบประมาณ 2563 พร้อมบรรยายพิเศษ “อนาคตกองทุนหลักประกันสุขภาพท้อนถิ่น” จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2562 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 250 คน ซึ่งทำหน้าที่แกนนำพี่เลี้ยงกองทุน อาทิ ผู้แทนภาคท้องถิ่น ผู้แทนสาธารณสุข และผู้แทนภาคประชาชน เป็นต้น

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ตามมาตรา 47 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มุ่งเน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยให้ประชาชนและองค์กรภาคีต่าง ๆ ในพื้นที่เข้ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระบบสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างความเป็นเจ้าของของทุกภาพส่วนที่เกี่ยวข้องในชุมชน และจากการดำเนินงาน กปท. ที่ผ่านมา ได้มีข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปในปี 2561 ส่งผลให้มีการแก้ไขประกาศและพัฒนาศักยภาพกลไกการขับเคลื่อนงาน กปท. และเพื่อให้การสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561 และเรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด พ.ศ. 2562 และแผนพัฒนาศักยภาพและเสริมเสร้างความเข้มแข็งกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งได้กำหนดบทบาทพี่เลี้ยงกองทุนเป็นทีมสนับสนุนและกำกับติดตาม โดยเป็นกลไกลหลักระดับเขต

ทั้งนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจพัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยงให้เกิดการรับรู้และสร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างเครื่องมือพัฒนาระบบการกำกับติดตามประเมินผลการดำเนินงาน กปท. ประกอบด้วย 1.กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ หรือ “กองทุนสุขภาพตำบล” ปัจจุบันมีจำนวน 7,738 แห่ง 2. กองทุนระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง มีจำนวน 6,003 แห่ง และ 3.กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นระดับจังหวัด มีจำนวน 46 แห่ง เพื่อการสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกฎเกณฑ์ ระเบียบการบริหารจัดการตลอดจนสามารถวิเคราะห์สภาพปัญหาเฉพาะในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพโดยให้ประชาชนในพื้นที่ จึงนำมาสู่การจัดประชุมในครั้งนี้

“การประชุมในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง กปท.จะบรรลุเป้าหมายตามเจตนารณ์การจัดตั้งกองทุนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทุกคนที่ทำหน้าที่พี่เลี้ยงกองทุนเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของ อปท.และประชาชนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแลประชาชนผู้มีสิทธิได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ขณะเดียวกันยังเกิดความยั่งยืนจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ด้าน นายวีระชัย ก้อนมณี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน สปสช. กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เริ่มในปี 2549 โดยมี อปท.ร่วมนำร่อง 888 แห่ง และจากนั้นได้มี อปท.เข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน อปท.เกือบทั่วประเทศได้เข้าร่วมจัดตั้งกองทุนนี้ ขณะที่กองทุนระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเริ่มในปี 2559 รัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม ที่ผ่านมามี อปท.จำนวนไม่น้อยที่เข้าร่วมจัดระบบเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ตนเอง เช่นเดียวกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นระดับจังหวัด ที่ได้เริ่มในปี 2554 โดยดึง อปท.ที่มีความพร้อมเข้ามีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพของหน่วยบริการในจังหวัด ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับผู้ป่วยและผู้พิการที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพเพิ่มขึ้น 

ภาพรวมทั้ง 3 กองทุนถือเป็นเครื่องมือท้องถิ่นในการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ได้ ที่ผ่านมาหลายท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ดี หลายโครงการเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ อาทิ โครงการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นเทศบาลตำบลบางคลาน จ.พิจิตร และ กองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลไม้กลอน จ.อำนาจเจริญ การดำเนินงานระบบดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลนาชะอัง จ.ชุมพร และกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เป็นต้น โดยในการประชุมครั้งนี้ นอกจากเป็นการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางและหลักเกณฑ์การดำเนินงานกองทุนแล้ว ยังเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการดำเนินงานกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละพื้นที่ต่อไป