ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศไทยมีผู้หญิงที่เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมเป็นอันดับ 1 และมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 30-60 ปี

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มาจากการที่ผู้ป่วยหลายคนเข้ารับการรักษาเมื่ออยู่ในระยะท้ายแล้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมีจำนวนมาก และมีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นทุกปี

อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าเราสามารถพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

ดังนั้น การให้ความรู้ด้านสุขภาพและการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประชาชน แต่ก็มีไม่น้อยเลยสำหรับผู้หญิงในเขตชนบทที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และความสำคัญของการรีบเข้ารับการรักษานี้

นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยหิน (อบต.ห้วยหิน) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยหิน (รพ.สต.ห้วยหิน) อ.ชัยบาดล จ.ลพบุรี ได้ทำการรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่มาเข้าร่วมการตรวจมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี แต่ปีที่ผ่านมาต้องมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้รับการตรวจน้อยลงมาก

“The Coverage” ได้พูดคุยกับ นายสมคิด พ่วงโพธิ์ นายก อบต.ห้วยหิน อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ถึงโครงการ “สตรีร่วมใจ สู้ภัยมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม” ที่จัดขึ้นเพื่อให้สตรีในวัย 30-60 ปี ได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูก และอบรมเกี่ยวกับวิธีตรวจมะเร็งเต้านมเบื้องต้นด้วยตัวเอง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเฝ้าระวังและการป้องกันการเกิดโรค เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา

นายสมคิด อธิบายว่า หนึ่งในปัญหาที่ทำให้สตรีใน ต.ห้วยหิน ไม่ค่อยมาตรวจกัน ก็เพราะไม่กล้า และมีความเขินอายเมื่อต้องมาตรวจ จึงต้องการทำให้ประชาชนมีความเข้าใจและมองว่าการตรวจเป็นเรื่องปกติ ต้องตรวจเป็นประจำ เมื่อได้รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งกลุ่มนี้ตั้งแต่ระยะเริ่มก็จะช่วยให้การรักษาง่ายขึ้น และหายขาดได้ จึงอยากสร้างความคุ้นเคยและคุ้นชิน เพื่อให้พวกเขาให้ความร่วมมือกับทางโรงพยาบาลมากขึ้น

“ผมเป็นนายก อบต.ห้วยหินมา 23 ปี ทำเรื่องโครงสร้างของท้องถิ่นทั่วไปชาวบ้านก็ได้รับประโยชน์มาได้พอสมควรแล้ว เราก็จะหันเบนความคิดสู่เรื่องของสุขภาพชีวติตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนไปถึงผู้สูงอายุที่ติดเตียง เลยต้องการให้ประชาชนใรคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น ให้มีการอยู่ดีกินดี มีความสุข” นายสมคิด ระบุ

สำหรับการจัดทำโครงการครั้งนี้ได้หลายหน่วยงานเข้ามาร่วมกัน ทั้ง อบต.ห้วยหิน รพ.สต.ห้วยหิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี (สสจ.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชุมชนในหมู่บ้าน กลุ่มสตรี โดยใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับท้องถิ่น (กปท.)

นายสมคิด อธิบายถึงการจัดทำโครงการครั้งนี้ว่า ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการของกองทุนภาคตำบล และเสนอโครงการ เมื่อข้อมูลเป็นไปตามกฎเกณฑ์และเป้าหมายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผ่านพิจารณา นำไปสู่การนำงบฯ จากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) มาจัดสรรไปตามหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในรายละเอียดตอนทำโครงการไว้ จนเป็นโครงการ “สตรีร่วมใจ สู้ภัยมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม” ได้อย่างสมบูรณ์

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการทำงานเชิงรุกในลักษณะสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยมี อสม. ร่วมลงพื้นที่ช่วยคัดกรองตามชุมชน ตลอดจนการเปิดพื้นที่กลางเพื่อให้ผู้หญิงในพื้นที่เข้าถึงการคัดกรองมะเร็งได้อย่างถ้วนหน้า

“ตามนโยบายที่เข้ามาปีนี้ต่อสภาว่าเราจะส่งเสริมด้านนี้เป็นจำนวน 100% ตามระเบียบของราชการ ซึ่งการที่เราจะทำให้มันได้งบประมาณมา 100% เลย ก็ต้องดูจากงบประมาณที่มีความจำเป็น” นายกฯ สมคิด ระบุ

นายสมคิด ขยายความว่า ตั้งแต่ สปสช. ได้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในฐานะที่เป็นนายก อบต. ที่มีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด จึงต้องนำกองทุน กปท. มาช่วยส่งเสริมให้คุณภาพชีวิต

“มองกลับมาสู่เรื่องของคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในชุมชนของเราได้พบกับความสุขมากที่สุด ตามความเหมาะสมของฐานะของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่แข็งแรง ดังนั้นโครงการต่างๆ ที่ได้ทำร่วมกับ กปท. จะเป็นประโยชน์กับพี่น้อง จึงอยากเชิญชวนให้พี่น้องผู้บริหารในทุกๆ พื้นที่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย นายสมคิด กล่าว