ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข่าวสารจำนวนมากที่ไหลบ่าอยู่ในทุกช่องทางการสื่อสาร อาจสร้างความสับสนและความเข้าใจผิด โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และการปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เต็มไปด้วยข้อมูลล้นทะลัก แน่นอนว่าย่อมมีผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่น-ความมั่นใจของประชาชน

ปัญหาเหล่านี้จะยิ่งรุนแรงขึ้น หากโฟกัสไปในกลุ่มผู้สูงอายุ-ผู้เฒ่าผู้แก่ ที่อาจไม่ได้เท่าทันเทคโนโลยีทั้งหมด แต่ก็เป็นกลุ่มสำคัญที่รับข่าวสารและร่วมกันวิเคราะห์ข่าวสารในแต่ละวัน

ที่ เทศบาล ต.ห้วยงู อ.หันคา จ.ชัยนาท เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะพื้นที่แห่งนี้ได้ให้ความสำคัญกับความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ โดยได้ใช้เงินจากกองทุนสุขภาพตำบล (กปท.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมทบร่วมกับท้องถิ่น ไปดำเนินโครงการ

เม็ดเงินกว่า 3.1 แสนบาท จากกองทุนสุขภาพตำบลห้วยงูในปี 2564 ถูกอนุมัติใช้ไปกับ 7 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 อีก 2 โครงการ รวมทั้งสิ้น 9 โครงการ

หนึ่งในนั้นคือ โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในตำบลห้วยงู ประจำปี 2564 ที่ใช้เงินจำนวน 8.5 หมื่นบาท มุ่งหมายไปที่การสนับสนุนให้เกิดการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างครอบคลุมประชากรในพื้นที่

เทศบาล ต.ห้วยงู มีประชากรราวๆ 1,200 คน ในจำนวนนี้สมัครใจรับวัคซีนโควิด 750 คน เหลืออีก 450 คน ที่ยังไม่ขอรับวัคซีนเนื่องจากไม่มั่นใจ ซึ่งมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงรวมอยู่ในนี้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ทางเทศบาลฯ จึงได้มีการจัดกิจกรรมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ “แกนนำผู้สูงอายุ 3 ผู้เฒ่า” ได้แก่ ตัวแทนนักเรียนโงเรียนผู้สูงอายุ ตัวแทนกรรมการชมรมผู้สูงอายุ และตัวแทน อสม.-จิตอาสา หมู่บ้านละ 10 คน

เพื่อให้ผู้เฒ่าทั้ง 3 เชิญชวนผู้สูงอายุในหมู่บ้านสมัครใจฉีดวัคซีนโควิด-19

“The Coverage” ได้ลงพื้นที่ ต.ห้วยงู อ.หันคา จ.ชัยนาท เพื่อรับฟังเวทีเสวนา "ชวนผู้เฒ่า ฟังเรื่องเล่าวัคซีนโควิด-19 ผ่านกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ (กปท.) ณ ที่ทำการกำนันตำบลห้วยงู หมู่ที่ 5 บ้านหนองกระเบา

เวทีดังกล่าวบอกเล่าประสบการณ์ของตัวแทนผู้สูงอายุที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่ รวมไปถึงการพูดคุย-ทำความเข้าใจเกี่ยวการเสพข่าวเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของผู้สูงอายุด้วย

น.ส.สมนึก สวัสดิชัย อสม. ในพื้นที่ ต.ห้วยงู และตัวแทนจาก 3 ผู้เฒ่า เปิดเผยว่า ความกังวลใจของผู้สูงอายุในพื้นที่นั้นมาจากการเสพข่าวผ่านสื่อ และเกิดความกังวลว่าเมื่อฉีดแล้วจะเกิดอันตรายตามข่าวที่ได้ดู ซึ่งก็ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจกัน และพยายามชี้ให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นการทำเพื่อสังคม แม้ผู้สูงอายุจะอาศัยอยู่ที่บ้านเพียงลำพังก็ยังจำเป็นต้องฉีด

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวเป็นแกนนำ อสม. และมีโรคประจำตัวหลายโรค จึงได้รับโอกาสเป็นตัวแทนเข้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อน ซึ่งตรงนี้ก็จะสามารถนำมาอธิบายให้เห็นได้ว่า แม้มีโรคประจำตัวก็ยังต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ร่างกายนั้นได้มีภูมิคุ้มกัน

“หลังจากที่เราได้พูดคุยผู้สูงอายุในพื้นที่ก็มีความมั่นใจมากขึ้น เพราะเราเป็นตัวแทนของผู้ที่ฉีดมาแล้ว และมีโรคประจำตัวด้วย เมื่อเขาเห็นว่าเราฉีดแล้วเขาเองก็อยากฉีดบ้าง” น.ส.สมนึก ระบุ

น.ส.อรวรรณ เศรษฐพงษ์ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยงู อธิบายว่า ทางเทศบาล ต.ห้วยงู เล็งเห็นความสำคัญในการเสพข่าวและวิเคราะห์ข่าวของผู้สูงอายุด้วยตัวเอง จึงได้จัดรณรงค์เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีนแล้วและยังไม่ได้ฉีด เพื่อสร้างความมั่นใจมากขึ้น

นอกจากนี้ ทางเทศบาลฯ ยังได้จัดกลุ่ม อสม. เข้าเยี่ยมบ้านผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในทุกๆ 1, 3 และ 7 วัน พร้อมจัดรถพยาบาลฉุกเฉินของเทศบาล ต.ห้วยงู เพื่อรองรับประชาชน-ผู้สูงอายุในกรณีที่เกิดผลกระทบรุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถส่งต่อไปยังสถานบริการทันที ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ ใช้งบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบลเป็นสำคัญ

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในขณะนี้โลกออนไลน์เองมีข่าวออกมาค่อนข้างมาก เมื่อผู้สูงอายุได้ดูก็อาจจะเชื่อว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นมีความอันตราย แต่เรายังมีการใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า “โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน” ในการบอกต่อประสบการณ์ส่วนตัวสำหรับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาแล้ว ว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นไม่อันตราย ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้ได้ทำสำเร็จมาแล้วในตอนนี้มีการรณรงค์เรื่อง HIV

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ที่เทศบาลตำบลห้วยงู อ.หันคา จ.ชัยนาท สามารถดำเนินโครงการดังกล่าวได้เช่นกัน โดยจะมีผู้สูงอายุที่ทางเทศบาลฯ ดูแล และได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มนี้ก็จะช่วยบอกต่อว่าการฉัดวัคซีนโควิด-19 นั้นมีความปลอดภัย โดยวิธีดังกล่าวนี้เป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยทำให้ผู้สูงอายุนั้นมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 2563 มีการใช้งบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบล ในเรื่องของการจัดการโรคโควิด-19 ไปแล้วราว 1,000 ล้านบาท และในปี 2564 แม้จะยังไม่ครบปี แต่ก็มีการใช้งบประมาณไปแล้วราว 600 ล้านบาท

“เราอยากให้ท้องถิ่นทั่วประเทศ นำงบประมาณในส่วนนี้ไปใช้ในการทำกิจกรรม-นวัตกรรมใหม่ๆ ให้ชาวบ้านได้มั่นใจในเรื่องของการป้องกันโควิด-19 และทาง สปสช. เองนั้นมีเมนูโครงการมากมาย ที่สามารถดูและทำได้” ทพ.อรรถพร กล่าว