ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"กุฏิชีวาบาล วัดท่าประชุม" จ.ขอนแก่น รับดูแล "พระสงฆ์อาพาธระยะท้าย" ให้การดูแลแบบประคับประคอง ภายใต้ "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์" พร้อมเตรียมขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ร่วมเป็น "หน่วยชีวาภิบาล" ในระบบบัตรทอง


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ดร.ภก.ณรงค์ อาสายุทธ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานกุฏิชีวาบาล ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ณ วัดท่าประชุม บ้านดอนดู่ ต.หนองบัว อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567 ที่ได้ดูแลพระสงฆ์อาพาธแบบบประคับประคอง โดยมี นพ.จักรกริช ไชยทองศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านฝาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลการดำเนินการ

พระภูวัต ภูริวฑฺฒโน วัดท่าประชุม บ้านดอนดู่ เปิดเผยว่า กุฏิชีวาบาลกำเนิดจากการที่พระครูคัมภีร์สโมธาน เจ้าคณะตำบลหนองบัวและเจ้าอาวาสวัดท่าประชุม ได้ร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนบทเรียนกับพระคิลานุปัฏฐากทั่วประเทศจึงมีแนวคิดให้วัดท่าประชุมมีกุฏิสำหรับดูแลพระสงฆ์อาพาธ เนื่องด้วยมีความจำเป็น เพราะที่ผ่านมาเวลาพระสงฆ์อาพาธ การไปยังโรงพยาบาลเกิดความไม่สะดวกจากหลายปัจจัย ขณะเดียวกันอาการบางอย่างสามารถดูแลที่วัดได้ เพิ่มความสะดวกและตรงตามหลักพระธรรมวินัย แนวคิดนี้ได้รับการพัฒนาเป็นวัดท่าประชุมโมเดลในรูปแบบเครือข่ายกุฏิชีวาบาลทั่วไทยมาเป็นกุฏิชีวาบาลวัดท่าประชุม พร้อมทั้งร่วมมือกับศูนย์การุณรักษ์ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) และโรงพยาบาลสงฆ์ (กรมการแพทย์) ออกแบบและจัดอบรมหลักสูตรดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายแบบประคับประคองสำหรับพระคิลานุปัฏฐาก และเตรียมการเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพแบบไร้รอยต่อและบ่มเพาะระบบพี่เลี้ยงที่ช่วยแก้ปัญหายามวิกฤติ

ทั้งนี้ กุฏิชีวาบาล วัดท่าประชุม เปิดบริการตั้งแต่ ธ.ค. 2566 เริ่มต้นมีพระเถระระดับปกครองเข้าพักฟื้นจากการผ่าตัดต้อกระจกเพื่อทดสอบระบบ ที่ผ่านมามีพระสงฆ์อาพาธเข้ารับการดูแลแบบประคับประคอง 4 รูป และฆราวาส 1 คน มีพระสงฆ์อาพาธมรณภาพ 1 รูป ฉะนั้นเพื่อมิให้พระสงฆ์รูปใดมีความรู้สึกถูกทอดทิ้ง กุฏิชีวาบาลพร้อมที่จะน้อมรับพระบัญญัติสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระสงฆ์ดูแลซึ่งกันและกัน เยียวยาภิกษุชราภาพหรืออาพาธแบบประคับประคอง รักษาให้มีคุณภาพชีวิตดีที่สุด และจัดการอาการไม่พึงประสงค์ จนถึงระยะท้ายก่อนจะจากไปอย่างสงบสุขสบาย

อีกส่วนหนึ่งการเปิดกุฏิชีวาบาล มีจุดเริ่มต้นจาก “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560” และหลักการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งด้านกาย ใจ สังคม และปัญญา ที่ขับเคลื่อนให้พระสงฆ์ดูแลตนเอง พระสงฆ์ดูแลกันและกัน ชุมชนดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ และเกิดสังฆะเพื่อสังคม โดยมีเป้าหมาย “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ด้วยการสร้างหลักประกันให้สมณะสงฆ์ทุกรูปสามารถฝากชีวิตไว้กับวัดได้ในทุกวาระของชีวิต

ทั้งนี้ความหมายกุฏีชีวาบาล (Palliative Care Kuti) คือ กุฏิที่รักษาเยียวยาคุณภาพชีวิตตามหลักการดูแลแบบประคับประคอง โดยหลักการสำคัญนอกเหนือจากมาตรฐานทางการแพทย์ที่ใช้ดูแลแล้ว ยังมีหลักสำคัญที่เป็นพื้นฐานของกุฏิชีวาบาล ได้แก่ “ชุมชนกรุณา” หมายถึงสังคมที่สมาชิกทุกคนมีจิตอาสาโอบอ้อมอารีต้องการจะช่วยเหลือผู้ที่ยากไร้หรือเดือดร้อน

“สิ่งที่อาตมาพูดมาในเรื่องของมาตรฐานทั้งหมดนี้ ถ้าไม่มีชุมชนกรุณาก็อาจจะไม่มีความยั่งยืน เช่นเดียวกับการเคารพในความหลากหลาย เช่น การทำงานร่วมกับท้องถิ่น ถ้าเขาต้องการดูแลประชาชนอีกแบบหนึ่ง เราก็ต้องให้ความเคารพ และให้โอกาสเขา สนับสนุนให้เขาทำให้ได้ ตราบใดที่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์คือคนไข้ต้องปลอดภัย ดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบายต้องเริ่มด้วยการศึกษาความต้องการและบริบทของพื้นที่ จนเข้าใจและเข้าถึง (เคารพ) แล้วจึงพัฒนา” พระภูวัต กล่าว

นพ.จักรกริช ไชยทองศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านฝาง กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายจัดตั้งศูนย์ชีวาภิบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะยาว และผู้ป่วยประคับประคอง หรือระยะท้าย โดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบ้านฝาง จะเข้ามาดูแลพระสงฆ์อาพาธ ณ กุฏิชีวาบาล วัดท่าประชุม ตั้งแต่การประเมินอาการ ประเมินการดูแล การดูเรื่องอาหาร กิจกรรมภายในกุฏิชีวาบาล ควบคุมการติดเชื้อ สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนพระคิลานุปัฏฐากที่ดูแลพระสงฆ์อาพาธ พร้อมกับวางระบบการให้คำปรึกษา

“การทำกุฏิชีวาบาลมีประโยชน์ต่อชุมชนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือประชาชนทั่วไป โดยวัดท่าประชุมก็รับเข้ามาดูแลทั้งพระสงฆ์ และประชาชนทั่วไปในเขตอำเภอบ้านฝาง แต่จะเน้นไปที่พระสงฆ์เป็นหลัก ซึ่งอาการอาพาธของพระสงฆ์ที่กุฏิชีวาบาลวัดท่าประชุม ส่วนมากเป็นอาการจากมะเร็ง โรคไต โรคเรื้อรังทั่วไป แต่ในตอนนี้ยังมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากเพิ่งให้บริการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา” ผอ.โรงพยาบาลบ้างฝาง กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า การลงพื้นที่วันนี้เพื่อต้องการดูรูปแบบการดำเนินงานของกุฏิชีวาบาลภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มากไปกว่านั้นที่วัดท่าประชุมมีพระภูวัตที่เป็นอดีตแพทย์ที่ประยุกต์ความรู้ทางการแพทย์ เข้ามาสร้างมาตรฐานการดูแลรักษาพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย ทำให้เห็นผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเห็นการประยุกต์หลักการเข้ากับการปฏิบัติจริงอีกด้วย สำหรับการดำเนินงานนี้ต้องใช้ความรู้จากวัด หรือการทำแผนการดูแลผู้ป่วย (Care Plan) ที่มีความเฉพาะเจาะจง

ในส่วนบทบาท สปสช. ก็จะเข้ามาสนับสนุน ให้หน่วยบริการสามารถดูแลประชาชน ให้เข้าถึงสิทธิการรักษาที่จำเป็น โดยไม่มีอุปสรรคด้านการเงิน ขณะเดียวกันพระสงฆ์เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่อดีต สปสช. มีความพยายามในการหารูปแบบการดูแลอย่างเหมาะสม ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย

การดูแลแบบประคับประคองตามสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. กำหนด จะเป็นการดูแลในชุมชนหรือที่บ้านก็ได้ ซึ่ง สปสช. จะสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนที่ให้บริการบางส่วน ผ่านกลไกการดูแลโดยผู้จัดการระบบดูแล (Care Manager) และผู้ดูแล (Care Giver) เพื่อให้หน่วยบริการดำเนินงานดูแลผู้ป่วยได้

“เราได้เห็นรูปแบบการดูแลของวัดท่าประชุม วันนี้เรามาเรียนรู้และยังใช้เป็นบทเรียนกับวัดอื่นๆ ได้ เราในฐานะ สปสช. ที่ดูแลหน่วยบริการในระบบก็อาจจะประยุกต์บทเรียนนี้ใช้กับหน่วยบริการอื่นๆ ที่อาจมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในระบบหรือไม่ได้อยู่ในระบบก็เชื่อว่าเป็นประโยชน์ทั้งนั้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว